เทคโนโลยี (Technology)  |   วันที่ : 6 กุมภาพันธ์ 2557

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

มือกลชีวภาพ bionic hand รุ่นใหม่ล่าสุดสามารถทำงานได้มากกว่าเป็นเครื่องกลที่สามารถหยิบจับอะไรตามที่ผู้สวมใส่คิด แต่ยังสามารถช่วยให้พวกเขา "รู้สึก" ได้ว่ากำลังหยิบจับหรือถืออะไรอยู่ โดยการเชื่อมต่อมือกลชีวภาพเข้ากับเส้นประสาทที่แขนเพื่อให้ส่งความรู้สึกไปยังผู้ใช้ว่าวัตถุที่หยิบจับนั้นมีลักษณะแข็ง อ่อน หรือมีน้ำหนักเพียงใด อีกทั้งยังสามารถแยกแยะความแตกต่างของรูปทรงวัตถุได้อีกด้วย

"เซ็นเซอร์มีปฏิกิริยาตอบกลับที่เหลือเชื่อ !" Dennis Sørensen ผู้ทดลองสวมมือชีวภาพกล่าวในระหว่างการทดลองใช้งาน

การวิจัยสุดเจ๋งในครั้งนี้เป็นผลงานความร่วมมือของ EPFL (Swiss Federal Institute of Technology) สถาบันเทคโนโลยีในสวิสเซอร์แลนด์ และ SSSA (Sant'Anna School of Advanced Studies of Pisa) สถาบันการศึกษาขั้นสูงในอิตาลี ซึ่งถูกบันทึกเป็นหน้าใหม่ของวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยการทำงานดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Lifehand 2 ซึ่งต่อยอดมาจากโครงการ Lifehand หรือการออกแบบมือเทียมเดิมที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบการสั่งการด้วยความคิดที่ซับซ้อนขึ้นและเป็นมากกว่าการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อธรรมดา ซึ่ง Silvestro Micera ศาตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชีวการแพทย์ เคยสร้างไว้เมื่อปีที่ผ่านมา แต่การทดลองในขณะนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์

"มันเป็นอะไรที่น่าทึ่งมากเมื่อนึกถึงความเป็นไปได้ของเรื่องนี้" Micera กล่าว "ความสามารถในการรู้สึกถูกเรียกคืนกลับมาด้วยวิธีการอันทรงประสิทธิภาพ" แม้ว่ากฏระเบียบของสถาบันสุขภาพได้จำกัดช่วงเวลาการทดลองดังกล่าวไม่ให้ยาวนานเกิน 1 เดือนเนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบต่อผู้ทดลอง แต่ในสัปดาห์สุดท้ายของการทดลอง Micera ก็สามารถทำให้มือกลชีวภาพสามารถแยกความแตกต่างระหว่างวัตถุรูปร่างต่างกัน 3 แบบ ได้ถูกต้องร้อยละ 88 และแยกความแข็งของวัตถุต่างกัน 3 แบบ ได้ถูกต้องร้อยละ 78.7

ในการใช้งานมือกลชีวภาพต้องให้ผู้ทดลองสวมเข้าไปโดยมีขั้วไฟฟ้าฝังอยู่ในแขนของเขาซึ่งเป็นแขนจริงบริเวณที่อยู่เหนือส่วนแขนเทียมที่ได้รับการผ่าตัดใน 9 ปีก่อน แม้ว่าจะมีแขนเทียมมาคั่นกลางมือกลชีวภาพก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรค์ใดๆ เพราะว่าสามารถออกแบบให้เชื่อมโยงกับเส้นประสาทบริเวณต้นแขนได้นั่นเอง

ระหว่างการทดสอบ Sørensen ถูกขอให้แยกความแตกต่างของวัตถุ 6 ชิ้น โดยปิดตาขณะทดสอบ สำหรับการทดสอบความแข็งของวัตถุ เขาได้รับการทดลองให้จับชิ้นส่วนของไม้ แก้วพลาสติก และผ้าฝ้าย เพื่อทดสอบวิธีการถ่ายทอดความรู้สึกจากการสัมผัสรูปทรงและขนาดที่แตกต่างกัน โดยเขายังได้สัมผัสกับขวด ลูกเบสบอล และส้มแมนดาริน เพื่อทดสอบการแยกแยะในระดับที่สูงขึ้น Sørensen เรียนรู้วิธีการควบคุมมือกลชีวภาพมากขึ้นขณะหยิบจับวัตถุต่างๆ

Micera ตั้งใจจะทดลองระยะยาวกับผู้ป่วยคนอื่นต่อไปในอนาคต "สิ่งที่เราวางแผนในตอนนี้คือการทดลองกับผู้ป่วยคนที่สอง คนที่สาม ในระยะยาวเพื่อทดสอบทุกสิ่งที่วางแผนไว้" Micera กล่าว

ไม่มีใครตอบได้ว่าต้องทดลองอีกกี่ครั้งเครื่องมือกลชิ้นนี้ถึงจะเสร็จสมบูรณ์แบบ แต่เราเชื่อมั่นว่าความพยายามของมนุษย์จะช่วยให้สิ่งที่คาดหวังบรรลุเป้าหมายในสักวัน และช่วยให้ผู้ทุพพลภาพสามารถกลับมามีมือได้อีกครั้งในวันข้างหน้า..

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่