สมาร์ทโฟน (Smartphone)  |   วันที่ : 21 พฤศจิกายน 2558

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

กลายเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นสำหรับเหล่าสาวกฮัลโหล Moto กันอย่างแน่นอน เมื่อทางบริษัท Lenovo ในบ้านเราได้ทำการยื่นขออนุมัติจากหน่วยงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสทช. เพื่อนำแบรนด์ "Motorola" กลับมาวางจำหน่ายในบ้านเราอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราจึงมาวิเคราะห์กันหน่อยว่าภายใต้การนำของเลอโนโวจะเป็นอย่างไร....?

ก่อนจะไปดูส่วนของการวิเคราะห์ เรามาทำความรู้จักกับแบรนด์ Motorola กันสักหน่อยว่ามีความเป็นมาอย่างไร...?

สำหรับบริษัท Motorola ต้องบอกว่ามีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน โดยเริ่มก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 1928 จากสองพี่น้อง Paul V. และ Joseph E. Galvin ซึ่งก็มีอายุ 87 ปีแล้ว และการทำธุรกิจเริ่มแรกก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือแต่อย่างใด ทว่าเป็นแบตเตอรี่ที่ให้พลังงานในบ้าน และมียอดขายประสบความสำเร็จอย่างมากเลยทีเดียว

แต่รู้หรือไม่ว่าเดิมทีบริษัทไม่ได้ใช้ชื่อ Motorola แต่เป็น Galvin Manufacturing Corporation ซึ่งเหตุผลที่มีการเปลี่ยนมาเป็นชื่อโมโตโรล่านั่นก็เป็นเพราะในปีค.ศ. 1930 ทางบริษัทกำลังจะเริ่มไลน์การผลิตใหม่เกี่ยวกับวิทยุรถยนต์ (Car Radios) จึงได้มองหาชื่อใหม่ที่ทำให้คนจดจำง่ายขึ้น ดังนั้นเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรถยนต์ก็กลายเป็นคำว่า "Motor" ขึ้นมา และขณะนั้นคำที่กำลังนิยมอย่างมากคือคำว่า "ola" สุดท้ายก็ได้ชื่อใหม่

ต่อจากนั้นมา Motorola ก็กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในรถยนต์และอุปกรณ์การติดต่อสื่อสาร (Radios) รวมถึงเครื่องโทรทัศน์ แต่แล้วดูเหมือนโลกของการพูดคุยต้องไม่ใช่แค่เพียงการเขียนจดหมายถึงกัน ดังนั้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1984 เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญขึ้นเมื่อทางบริษัทก็ได้เปิดตัวโทณสัพท์มือถือเครื่องแรกของโลกนามว่า "DynaTAC 8000X" กับราคาสูงถึง $3995 หรือประมาณ 143,200 บาท

หลังจากเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกของโลกไปทาง "Motorola" ก็เริ่มเปิดตัวรุ่นใหม่ ๆ ตามมาอีกหลายรุ่น รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แต่เมื่อยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนผู้บริโภคก็ย่อมต้องการสิ่งที่ไม่เหมือนใครมากขึ้น ซึ่งโมโตโรล่าไม่สามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีนักประกอบกับแบรนด์อื่นให้ฟังก์ชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้ Wow กว่า เช่น ด้านกล้องดิจิตอล, ด้านวิทยุ, ด้านแบตเตอรี่ ส่งผลให้เริ่มสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไป และสถานการณ์ในบริษัทก็เริ่มแย่ลง 

จนเมื่อปีค.ศ. 2011 ในวันที่ 15 สิงหาคม เกิดดีลช็อคโลก เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ Google ตัดสินใจเข้าซื้อบริษัท Motorola ด้วยเม็ดเงินมหาศาลถึง 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการซื้อครั้งนี้หลายฝ่ายต่างก็วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะต้องการสิทธิบัตรจากโมโตโรล่าที่ถือครองอยู่ 17,000 รายการ รวมถึงเพิ่มช่องทางการขยายธุรกิจซอฟต์แวร์ของตนเอง

อย่างไรก็ดีหลังจากเข้าซื้อกิจการไปทุกอย่างดูเหมือนจะราบรื่น แต่กลับไม่เป็นแบบนั้นเมื่อโมโตโรล่าก็ยังคงมีผลประกอบการที่ไม่เข้าเป้า รวมถึงช่องวางด้านวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันทำให้ Google ตัดสินใจขายกิจการ Motorola ให้กับบริษัทสัญชาติจีนอย่าง Lenovo ในที่สุด ด้วยราคาที่ถูกกว่าเดิม เมื่อสิ้นเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 2557

สำหรับการขายในครั้งนี้ "Google" ก็ยังคงเก็บสิทธิบัตรไว้มากกว่า 15,000 รายการ อีกทั้งช่วยคลายสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้วยสาเหตุที่ว่าถ้าหากกูเกิ้ลให้ความสำคัญกับโมโตโรล่ามากเกินไป อาจทำให้พันธมิตรทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เลือกใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ในการขับเคลื่อนสมาร์ทโฟนเกิดความไม่พอใจได้ 

หรืออีกนัยหนึ่งในเมื่อ Google ไม่สามารถสนับสนุน Motorola ในการพัฒนาสมาร์ทโฟนได้อย่างใกล้ชิดและทุ่มเท ก็ไม่เห็นควรอุ้มโมโตโรล่าอีกต่อไป สู้ที่จะขายไปเสียดีกว่านั่นเอง 

 

ในขณะที่ด้าน Motorola เข้าสู่สภาวะเป็นบริษัทลูกอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคืออาจขาดอิสระในการดำเนินงานเหมือนสมัยอยู่กับ Google เพราะว่าต้องคำนึงถึงยอดขาย และเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำสมาร์ทโฟนจากราคาแพง มาสู่ราคาระดับกลางและล่าง 

ส่วนเหตุผลที่ด้าน Lenovo มีท่าทีสนใจจะซื้อกิจการของ Motorola ก่อน Google เป็นเพราะอะไร ?

  • ประเด็นแรกที่เลอโนโวสนใจนั่นคือการมีบริษัท Motorola เป็นใบเบิกทางเข้าสู่ตลาดทวีปยุโรป และทวีปอเมริการเหนือ/ใต้ 
  • ช่องทางจัดจำหน่ายแข็งแกร่ง เพราะโมโตโรล่าอยู่ในวงการสมาร์ทโฟนมายาวนาน จึงทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเหล่าผู้ขาย นั่นหมายความว่าผลิตภัณฑ์ของเลอโนโวก็จะเข้าตลาดสากลได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
  • โรงงาน/เทคโนโลยี/ทรัพยากรมนุษย์/สิทธิบัตร/นวัตกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
  • ความรู้ความเข้าใจ (Know how) คือ การรู้การเข้าใจในธุรกิจสมาร์ทโฟนเป็นอย่างดี
  • แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

หลังจากทราบเหตุผลเบื้องต้นของ Lenovo กันไปแล้ว เรามาดูกันหน่อยว่าหลังจากเข้าซื้อแล้ว ผลประกอบการด้านโทรศัพท์มือถือเป็นอย่างไรบ้าง

โดยหลังจากที่ Lenovo เข้าซื้อกิจการ Motorola ไปเมื่อช่วงสิ้นปีค.ศ. 57 หลังจากนั้นไม่นานผลประกอบการกำไรของทั้งคู่กลับมาอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับตั้งเป้าเดินหน้าสู่ตลาดประเทศจีน หวังแซงรายใหญ่อย่าง Huawei หรือน้องใหม่ Xiaomi

อีกทั้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Lenovo ได้ประกาศผลการดำเนินธุรกิจของตนเอง ซึ่งผลก็คือขาดทุนครั้งแรกในรายไตรมาสรอบ 6 ปี เนื่องมาจากการปรับโครงสร้างของบริษัท หลังจากกว้านซื้อบริษัทต่าง ๆเข้ามา เพื่อเสริมความแข่งแกร่ง และโอกาสการเสาะหาช่องทางดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ

แต่หนึ่งประเด็นน่าสนใจคือธุรกิจสมาร์ทโฟนของ Lenovo ดูเหมือนว่าจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้บริษัทขาดทุน เพราะนอกจากวางจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ ไม่ประสบความสำเร็จแล้ว โดยในบ้านตนเองที่ประเทศจีนก็เช่นกัน ตามรายงานของเว็บไซต์ engadget.com

ทว่าบริษัท Motorola กลับมียอดขายที่กระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากช่องทางการทำตลาดในประเทศจีน และการส่งเสริมอย่างเต็มที่ของเลอโนโวที่มีต่อโมโตโรล่าในการทำธุรกิจสมาร์ทโฟนตามแถลงการณ์ของ CEO Chen Xudong ว่า Lenovo Mobile Group จะถูกยุบรวมเข้ากับ Motorola และมีโครงสร้างองค์กรใหม่ขึ้นทั้งหมด โดยวางภารกิจหลัก : ก็คือการไต่ขึ้นเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับ 3 ของโลกจากนั้นคือการก้าวเดินสู่เบอร์ 1

 

หลังจากเล่าเรื่องราวของบริษัท Motorola ภายใต้ร่มเงาของ Lenovo กันไปแล้ว ลำดับต่อไปมาดูการวิเคราะห์กันบ้าง หากนำมาวางจำหน่ายในบ้านเรา ควรทำเช่นไร....?

การโปรโมทแบรนด์ให้คุ้นหู คุ้นตาต่อผู้บริโภค

แน่นอนว่าเหล่าสาวกโทรศัพท์มือถือรุ่นเก๋าคงคุ้นเคยกับแบรนด์นี้เป็นอย่างดี ด้วยรุ่นยอดฮิตที่มีมาวางจำหน่ายหลากหลายรุ่นในบ้านเรา และเมื่อมีข่าวว่าบริษัทเลอโนโว นำสมาร์ทโฟนของแบรนด์โมโตโรล่าเข้าตรวจสอบความเรียบร้อยต่อหน่วยงานกสทช. ย่อมทำให้เหล่าฮัลโหล Moto ต่างก็รอคอยการจับจองเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ดีก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนตั้งคำถามว่า แบรนด์ Motorola คือใคร ดังนั้นแล้วในยุคที่สมาร์ทโฟนมีการแข่งขันอย่างรุนแรงเช่นนี้ การทำ Marketing จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าสามารถสร้างแรงดึงดูด รวมถึงความประทับใจให้กับผู้บริโภคได้ โมโตโรล่าก็อาจกลายเป็นทางเลือกของสาวกแอนดรอยด์แบรนด์ใหม่ในประเทศไทยที่น่าสนใจ

โจทย์สำคัญคือทำการตลาดให้ตรงใจกับกลุ่มคนรุ่นใหม่

นอกจากการทำตลาดให้ประทับใจแล้ว ก็ต้องหันมามองกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วันทำงาน เพราะพวกเขาอาจเป็นตัวแปรในการบ่งบอกถึงความสำเร็จในประเทศไทย ด้วยสาเหตุที่ว่ามีอยู่จำนวนมาก ทำให้อาจสามารถกำหนดทิศทางของตลาดได้ ซึ่งถ้าหากสามารถเข้าถึงได้ตรงจุดก็อาจส่งผลให้เกิดเป็นกระแสหรือเทรนด์ ก่อเกิดเป็นความนิยมนั่นเอง

และที่สำคัญนอกจากให้ความสำคัญกับกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้ว ด้านกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ได้รู้จักคุ้นเคยกับ Moto มานานก็ไม่ควรมองข้ามพวกเขาไปเช่นกัน เพราะเชื่อว่าการมีข่าวคราวของโมโตโรล่าในครั้งนี้คงสร้างความตื่นเต้นให้ได้ไม่น้อย

บริการหลังการขายครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน

โดยอีกโจทย์หนึ่งที่ Lenovo ต้องให้ความสำคัญ นั่นก็คือด้านศูนย์บริการ เพราะถ้ามีการดูแลที่ดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง และนอกจากด้านบริการแล้ว การมีศูนย์ที่ครอบคลุม ก็อาจเป็นใบเบิกทางให้ผู้ที่สนใจตัดสินใจซื้อได้มากขึ้น

ชูสมาร์ทโฟนรุ่นไฮไลท์ Moto X Force กับคุณสมบัติหน้าจอพันธุ์อึด (ShatterShield)

คงต้องบอกว่าเป็นไฮไลท์อีกหนึ่งอย่างของปีค.ศ. 2015 เลยทีเดียว เมื่อ Motorola ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่นามว่า Moto X Force ซึ่งเป็นรุ่นที่เปลี่ยนชื่อมาจาก Droid Turbo 2 และสเปกก็มีเหมือนกันทุกประการ 

แต่ด้านหน้าจอนอกจากมีความละเอียดระดับ 2K และมีความหนาแน่นต่อพิกเซลมากถึง 540 ppi ยังมาพร้อมเทคโนโลยีหน้าจอกันแตก ด้วยเลเยอร์ป้องกันถึง 5 ชั้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ชั้นที่ 5 : เป็นส่วนที่ถูกออกแบบให้ป้องกันรอยขีดข่วนและรอยขีดข่วน
  • ชั้นที่ 4 : เลเยอร์สำคัญที่ช่วยให้หน้าจอไม่ร้าวและแตก (Won't crack or shatter)
  • ชั้นที่ 3 : มาในลักษณะเลเยอร์คู่ ทำหน้าที่ช่วยป้องกันแรงกระแทก โดยถ้าเลเยอร์แรกมีความเสียหาย อีกหนึ่งเลเยอร์จะทำหน้าที่แทน เสมือนเป็นเกราะป้องกัน 2 ชั้น
  • ชั้นที่ 2 : เป็นหน้าจอแบบ AMOLED ที่ยืดหยุ่นได้ พร้อมทั้งดูดซับแรงกระแทก
  • ชั้นที่ 1 : โครงที่ทำจากวัสดุอะลูมิเนียม ทำหน้าที่ยึดรวมกับเลเยอร์อื่น ๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งยังเพิ่มความทนทานอีกด้วย

 

ด้านหน่วยประมวลผลและระบบปฏิบัติการ

โดย Moto X Force ขับเคลื่อนด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 5.1 (รองรับการอัพเดทเป็น Android 6.0 Marshmallow) พร้อมคุณสมบัติการรองรับคำสั่งเสียงตลอดเวลา always-on voice commands ทำให้เราสามารถสั่งเปิดการใช้งานฟังก์ชั่นต่าง ๆ ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องจับตัวเครื่องแต่อย่างใด

ส่วนการประมวลผลก็ใช้ชิปเซ็ต Snapdragon 810, Ram 3GB, Rom 32/64GB และรองรับ MicroSD Card โดยใช้หน่วยประมวลผลกราฟฟิกรุ่น Adreno 430 ซึ่งก็จะมีแบตเตอรี่ 3,760 mAh (รองรับการชาร์จไร้สาย)

ด้านระบบเชื่อมต่อ

3G, 4G LTE, WiFi 802.11ac with MIMO, GPS, Bluetooth 4.1 LE, NFC, Infrared sensors

ด้านกล้องดิจิตอล

โดยกล้องหลังมีความละเอียด 21 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลชคู่ LED และเซ็นเซอร์ Sony IMX230 ซึ่งมีรูรับแสง F/2.0 รวมถึงระบบออโต้โฟกัสเร็ว (quick auto-focus) สามารถบันทึกวีดีโอความละเอียดรัดับ 4K ในขณะที่ด้านหน้า 5 ล้านพิกเซล มีไฟแฟลช LED รวมถึงรูรับแสง F/2.0

อีกหนึ่งช่องทางสำหรับผู้รักความแตกต่าง และต้องการสร้างไลฟ์สไตล์ของตนเอง "Moto Maker"

แน่นอนว่านอกจากขึ้นเชื่อเรื่องฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์ของ Motorola คงหนีไม่พ้นเรื่องของ Moto Maker ที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องการจะจับจองเป็นเจ้าของ ได้ออกแบบลวดลายสีสันสมาร์ทโฟนในรูปแบบที่ตัวเองต้องการ เพราะฉะนั้นคงต้องรอดูแล้วละครับว่าทาง Lenovo จะมีการนำมาบริการให้กับเหล่าสาวก Moto หรือไม่

สุดท้ายเราก็คงต้องติดตามกันต่อไป สำหรับแบรนด์เก่าแต่เก๋าในวงการอย่าง Motorola ภายใต้การบริหารจาก Lenovo จะนำกลยุทธ์ใดเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา 

โดยต้องบอกว่าทั้ง Lenovo และ Motorola เป็นการรวมธุรกิจกันที่น่าสนใจ เพราะบริษัทหนึ่งก็ได้เป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการคอมพิวเตอร์ ส่วนอีกบริษัทเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่เก่าแก่ และน่าดึงดูด ดังนั้นงานนี้จึงต้องจับตามองว่าทั้งสองจะบรรลุผลเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งในประเทศสากลและบ้านเรา และจะส่งผลให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่อื่น ๆ สั่นคลอนได้มากน้อยแค่ไหนต้องรอดู

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่