หมวดอื่นๆ (Other)  |   วันที่ : 8 มีนาคม 2559

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

โดยทีมงาน Siamphone.com ก็ขอยกย่องสตรีทุกคนว่าเป็นส่วนสำคัญต่อโลกใบนี้ เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล (International Womens Day) ณ วันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2559 เพราะว่าทุกความสำเร็จและชีวิตล้วนเกิดจากสตรี ผู้ที่มีความรัก ความห่วงใย ความเสียสละ ความเอื้ออาทร รวมถึงความน่ารักที่ก็สามารถจะสร้างรอยยิ้มให้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงขอพาไปทราบประวัติความเป็นมากันหน่อยว่าในวันนี้มีความสำคัญอย่างไร....?

ประวัติความเป็นมาของวันสตรีสากลโลก...?

วันสตรีสากล (International Women’s Day) จะตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี โดยเป็นวันที่แสดงให้เห็นว่าเหล่าสตรีจากทั่วโลกนั้นไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ, ศาสนา, ขนมธรรมเนียม หรืออาชีพใด ก็ล้วนมีสิทธิรวมถึงความเท่าเทียมกันในสังคม

โดยที่มาของวันสตรีสากล นั้นมาจากเหตุการณ์ที่กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้ารัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วง เพื่อให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง รวมถึงเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่แล้วในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) ดันเกิดเหตุการณ์ที่บานปลายขึ้น จนทำให้มีผู้หญิงที่ร่วมประท้วงเสียชีวิตถึง 119 คน เนื่องจากว่ามีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงาน ที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เลยทีเดียว




ต่อมาในปี ค.ศ.1907 (พ.ศ. 2450) เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกครั้ง กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการปฏิบัติของนายจ้างทั้งเอารัด, เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ เยี่ยงทาส ทั้งก็ยังต้องทำงานหนักวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ค่าแรงก็น้อยนิดรวมถึงไม่มีประกันใดๆ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยล้มตายไปในที่สุด และก็หากตั้งครรภ์ยังถูกไล่ออกอีกด้วย

และเมื่อเกิดความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ขึ้น "คลาร่า เซทคิน" นักการเมืองสตรีชาวเยอรมัน ก็ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง และปรับปรุงสวัสดิการทั้งหมด รวมถึงให้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

แต่แล้วการเรียกร้องครั้งนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากว่ามีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม ทว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สตรีทั่วโลกเกิดแรงผลักดัน และสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลก เริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

 
คลาร่า เซทคิน

จากนั้นอีกหนึ่งปีถัดมาคือวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) ได้มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก พร้อมข้อเรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็กตามแนวคิดที่ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" หรือ bread and roses เพื่อเป็นความหมายเปรียบเปรยว่าเรา (สตรี) ต้องมีอาหารที่ดีมีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการ ส่วนดอกกุหลาบสื่อความหมายถึงคุณภาพชีวิตต้องสวยงามเหมือนดอกกุหลาบที่น่ามอง เมื่อเปล่งประกายเต็มที่

จนกระทั่งวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของ คลาร่า เซทคิน และกรรมกรสตรีที่ร่วมเดินขวบนประท้วงก็ประสบผลสำเร็จ เพราะมีการจัดประชุมตัวแทนสตรี 17 ประเทศ เข้าร่วมหารือเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรีในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้พัฒนาศักยภาพตัวเอง 8 ชั่วโมง และก็ 8 ชั่วโมงสุดท้ายเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมปรับค่าแรงงานหญิงให้เท่าเทียมแรงงานชาย และต้องมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็ก

ทั้งนี้ทางที่ประชุมก็ยังได้มีมติรับรองข้อเสนอของ "คลารา เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีนั้นเป็น "วันสตรีสากล" หรือ (International Women’s Day)

ขณะเดียวกันถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จแล้ว แต่ดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้ยังไม่ถูกขจัดออกไปหมดสิ้นในทั่วโลก เพราะ ณ ปัจจุบันเองก็ยังมีข่าวออกมารายงาน ให้เห็นกันอยู่เป็นประจำเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมของสตรีและเด็ก แต่เมื่อวันเวลาผ่านก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ของสิทธิเสรีภาพและเรื่องราวต่างๆ ที่นานาประเทศต่างหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น

เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ภาครัฐและภาคเอกชนต่างเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อสิทธิของสตรีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กฏหมาย, นโยบาย, สิทธิด้านการรักษาพยาบาล เป็นต้น และเพื่อเป็นการร่วมแสดงความยินดี สามารถแท็กคำว่า #OneDayIWill ในโลกโซเชียลได้นะครับ

สุดท้ายขอทิ้งท้ายว่าหากใครที่มีความฝันใดๆ อย่าพยายามคิดว่าเราเป็นแค่ผู้หญิงไม่สามารถทำอะไรได้หรอกมันไม่ถูกต้องนะครับ เพราะไม่ว่าเพศใด สถานะใด เราก็สามารถทำอะไรได้ทุกอย่างด้วยสองมือของเรา ดังวาทะของท่านเหมา เจ๋อตง กับประโยคที่ว่า "ผู้หญิงนั้นแบกฟ้าไว้ครึ่งหนึ่ง"


เพราะฉะนั้นฝันอะไรไว้ อย่าให้มันเป็นเพียงฝันต่อไปนะครับ ต้องเป็นจริงเท่านั้น

หมายเหตุ : ขอขอบคุณคลิปวิดีโอเนื้อหาบทความประกอบจาก Google

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่