กล้องถ่ายภาพ (Action Camera)  |   วันที่ : 10 มีนาคม 2559

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

Google บริษัทผู้เป็นเจ้าของแอนดรอยด์เปิดตัวเวอร์ชั่นพรีวิว (ทดสอบสำหรับนักพัฒนา) รุ่นต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นที่คอนเฟิร์มแล้วว่า Android เวอร์ชั่นต่อไปจะมีตัว N เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ทางกูเกิ้ลยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดออกมาว่าจะใช้ชื่อเรียกเต็มๆ ว่าอะไร ทว่าสิ่งที่เซอร์ไพร์สคือความสามารถของแอนดรอยด์เวอร์ชั่นดังกล่าวมากกว่า เพราะมีลูกเล่นให้ใช้งานเพียบ ว่าแต่จะมีอะไรบ้างมาดูกันเลยครับ...?

 

1. ฟีเจอร์ Multi-window

โดยฟีเจอร์ดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นที่รอคอยมานานสำหรับเหล่าสาวกแอนดรอยด์เลยทีเดียวเพราะก็จะทำให้เราสามารถแบ่งหน้าจอ เพื่อเปิดแอพพลิเคชั่นได้สองตัวพร้อมกัน ทั้งยังกำหนดขนาดของจอแอพฯ ได้อีกด้วยว่าต้องการให้ขั้นตํ่า (ความสูง) เช่นเดียวกับการปรับความกว้างของจอแสดงผล หรือแม้กระทั่งลากข้อมูลจากแอพฯ หนึ่งข้ามไปยังอีกแอพฯ ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้พัฒนาแอพฯ ก็ต้องเขียน Code ให้รองรับการกระทำในลักษณะดังกล่าวด้วย และยืนยันแล้วใช้งานได้ทั้งบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต

 

2. ฟีเจอร์ Direct reply notifications

กล่าวคือผู้ใช้สามารถตอบข้อความได้จาก Notification เลย เป็นลักษณะเดียวกับ API RemoteInput ตัวเดียวกับที่งานใน Android Wear สำหรับฟีเจอร์ดังกล่าวกูเกิ้ลก็มีจุดประสงค์การพัฒนาขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานให้สามารถตอบกลับข้อความหรืออีเมล์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องเข้าใช้งานแอพฯ แต่อย่างใด และถ้าการแจ้งเตือนเป็นของแอพฯ ใดแอพฯ หนึ่ง มากกว่าหนึ่ง ก็จะถูกจัดเก็บไว้รวมกัน ทำให้ผู้ใช้งานไม่สับสนเวลามีการแจ้งเตือนเข้ามาเยอะจากหลายๆ แอพฯ ทั้งยังสามารถขยายเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ (Bundled notifications)

 

3. ฟีเจอร์ Quick Settings ปรับโฉมใหม่

ถูกปรับแต่งให้มีความเป็น Card มากขึ้น และผู้ใช้งานจะสามารถเพิ่มการตั้งค่าต่างๆ เข้าไปให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตนเองได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยจากในรูปก็มีอยู่สองหน้า เราสามารถปัดเลื่อนซ้าย-ขวา เพื่อเปลี่ยนหน้าการใช้งาน แน่นอนว่าการมีลูกเล่นดังกล่าว ช่วยให้การใช้งานแอนดรอยด์เพลินไปได้เลย ไม่ต้องยุ่งยากอีกต่อไป

4. ฟีเจอร์ Number-blocking และ Call screening

เชื่อว่าหลายคนประสบปัญหากับสายที่ไม่พึงประสงค์กันอยู่ทุกวัน ดังนั้น Google จึงได้พัฒนาฟีเจอร์นี้ขึ้นมาช่วยขจัดปัญหาให้หมดไป โดยจะทำการบล็อกทั้งเบอร์โทรศัพท์และข้อความ และในส่วนของฟีเจอร์ Call screening ก็มีมาเหมือนกัน กล่าวคือผู้ใช้สามารถจัดการเลือกรับสายเรียกเข้าได้ทุกเมื่อ ซึ่งฟีเจอร์นี้เมื่อเราเลือกตั้งค่าให้รับ หรือไม่รับสายแล้ว ระบบจะทำงานตามที่ได้ตั้งค่าไว้โดยอัตโนมัติ และไม่มีการบันทึกเบอร์ไว้ในรายการการโทร เช่นเดียวกับการแจ้งเตือนใน Notification

5. ฟีเจอร์ Direct Boot

หากอุปกรณ์ของเราเข้ารหัสข้อมูลในเครื่องไว้ ถ้าเกิดเครื่องรีบูตตัวเองขึ้นมา บางแอพก็จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ก่อนที่ผู้ใช้งานจะ Log-in ดังนั้นจึงทำให้อาจมีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเรา เนื่องจากแอพฯ บางตัวอาจไม่ทำงาน ส่งผลให้ไม่มีการแจ้งเตือน หรืออะไรก็ตามที่เราได้ตั้งค่าไว้และอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นตามมาภายหลัง เช่น เรื่องงาน, การนัดหมาย, การประชุม เป็นต้น

แต่พอมาเป็นแอนดรอยด์ N ระบบจะทำการอนุญาตให้แอพฯ เข้าถึงข้อมูลได้อย่างจำกัด หรือที่จำเป็นเท่านั้นอาทิ การตั้งปลุก, ข้อความ, สายโทรเข้า รวมถึงการเข้าถึงการบริการ (Accessibility Services ) เพราะปัจจัยที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวด้วย ดังนั้นจึงถูกจำกัดให้การใช้งานมีความเหมาะสม

6. ฟีเจอร์ Data Saver

แน่นอนว่าการใช้สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตในการทำกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ แต่ถึงแม้จะควบคุมปริมาณ Data ยังไง ยังมีการรั่วไหลให้เห็นอยู่เสมอ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นเกินโควต้าที่ผู้ใช้ได้สมัครไว้ หรือสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้งาน

ท่วาฟีเจอร์ Data Saver ช่วยให้จัดการจำกัดปริมาณการรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายอินเตอร์เนตไร้สาย ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กล่าวคือผู้ใช้จะสามารถตั้งค่าได้อย่างอิสระ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เช่นปิดกั้นการรับส่งที่เกิดขึ้นจากระบบ Background Apps, กำหนดปริมาณการรับส่งข้อมูล (limiting bit rate) สำหรับการ Streaming, ลดคุณภาพของภาพ (reducing image quality) เป็นต้น

7. ฟีเจอร์ Doze อัพเกรดอีกขึ้น เพื่อประหยัดพลังงานสุดๆ

เรียกได้ว่าฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นส่วนไฮไลท์ของแอนดรอยด์เวอร์ชั่น 6 เลยก็ว่าได้ ทำให้การประหยัดมีประสิทธิภาพสูงสุดขึ้นไปอีก เพราะในปัจจุบันสมาร์ทโฟนนั้นแบตเตอรี่หมดไวเหลือเกิน ดังนั้นฟีเจอร์ Doze ก็เสมือนเป็นการช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานเพิ่มขึ้น

แต่ใน Android N ทาง Google ได้เลือกพัฒนาให้ฟีเจอร์ Doze จากเดิมที่ช่วยประหยัดพลังงานตอนอุปกรณ์วางอยู่นิ่งๆ (ไม่ได้ใช้งานระยะเวลาหนึ่ง) ปรับเปลี่ยนให้มาประหยัดพลังงานตลอดเวลา ด้วยการจำกัดการทำงานเบื้องหลัง เช่น CPU, GPU, Ram, แอพพิลเคชั่น, การเชื่อมต่อต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ระดับ กล่าวคือหากไม่ได้ใช้งานนาน สมาร์ทโฟนของเราจะถูกกำจัดการใช้งานหลายอย่างมากขึ้นไปอีก เรียกว่าอะไรที่ไม่กระทบต่อผู้ใช้ปิดได้ปิดเลย

8. Zoom หน้าจอได้แล้ว ช่วยเพิ่มความสะดวกแก่การใช้งาน ต่อผู้สูงอายุ หรือผู้มีปัญหาทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว เป็นต้น

กล่าวคือฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นการเลือกระดับสเกลให้ไอคอนหรือตัวอักษรเป็นขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ใช่การซูมเข้าซูมออกดังที่ใช้งานบนเว็บไซต์ โดยมีให้เลือกตั้งแต่ Small, Default, Large, Larger และ Largest 

9. ฟีเจอร์ Project Svelte

ถึงแม้จะไม่ใชเรื่องใหม่ แต่พบว่าแม้ว่าจะมาในเวอร์ชั่น 6.0 แล้วระบบแอนดรอยด์ยังมีการทำงานเบื่องหลังอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้มีการใช้ Ram และไม่สามารถดึงกลับคืนมาได้ รวมถึงการใช้พลังงานเช่นกันที่พบว่าสิ้นเปลืองไม่น้อย ดังนั้นจึงเกิดโปรเจคดังกล่าวขึ้นมาเพื่อปรับแต่งระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิมในแบบฉบับ Android N


อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ถูกพบใน Android N

หมายเหตุ : ขอขอบคุณคลิปวิดีโอประกอบเนื้อหาบทความจาก Android Police

อย่างไรก็ตามทั้ง 9 ฟีเจอร์ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายส่วนที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ดังนั้นจึงไม่เหมาะแก่การใช้งานจริง ดังนั้นถ้าหากใครอยากทดสอบสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ developer.android.com ส่วนชื่อเต็มของแอนดรอยด์เวอร์ชั่นใหม่นี้จะเป็นอะไร ลองทายกันเล่นๆ ดูครับ 

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่