เทคโนโลยี (Technology)  |   วันที่ : 10 เมษายน 2561

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

โมเดลไทยแลนด์ 4.0 ที่ภาครัฐพยายามผลักดันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับธุรกิจในประเทศไทยให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจระดับโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมทางการแพทย์นั้นเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve ที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และธุรกิจการรักษาพยาบาลที่แข็งแกร่ง การต่อยอดและก้าวเข้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์อย่างครบวงจร (Medical Hub) โดยการเพิ่มมูลค่าธุรกิจด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยการนำนวัตกรรมและประยุกต์ให้เข้ากับหุ่นยนต์อัจฉริยะ จึงเป็นการคาดการณ์ที่แม่นยำและถูกต้องของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ผ่านการประกวด สุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อสุขภาพ i-MEDBOT Innovation Contest ครั้งที่ 1 และ 2 ในปี 2557-2559 ที่ผ่านมา และครั้งที่ 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2561 นี้

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ เปิดเผยถึงรายละเอียดการจัดประกวดในปีนี้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ในระดับสากล ได้รุดหน้าไปถึงระดับการทดลองและ นำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัย และช่วยผ่าตัดอย่างแพร่หลาย โดยหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่รู้จักกันดี อาทิ หุ่นยนต์ผ่าตัด (Surgical Robot) เพื่อช่วยแพทย์ในการทำผ่าตัดที่ซับซ้อนหรือต้องการความละเอียดสูง หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดทางไกล ,หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ (Disinfection Robot) ที่ใช้รังสี UV ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในโรงพยาบาล สามารถฆ่าเชื้อได้ถึงร้อยละ 99 ,หุ่นยนต์กายภาพบำบัด (Renhabilitation Robot) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ในประเทศไทย กลับอยู่ในอัตราเพียง 5 – 10% ต่อปี

ดังนั้น เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้นักศึกษาตลอดจนประชาชน เห็นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ทางการแพทย์ และการแสวงหานวัตกรรมการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ได้ดำเนินโครงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง จึงจัด “การประกวดสุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อสุขภาพ i-MEDBOT Innovation Contest 2018” ขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 หลังจากประสบความสำเร็จ จากการจัด การประกวดสุดยอดไอเดียหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2557 และครั้งที่ 2 ในปี 2559 ที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมประกวดอย่างคับคั่ง ทั้งบุคคลธรรมดา และนิสิตนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากสถาบันชั้นนำที่ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดฯ ซึ่งหลายๆ ผลงาน TCELS ได้ดูแลโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการทำโมเดลธุรกิจ หรือสนับสนุนให้มีการพัฒนาผลงานเพื่อตอบโจทย์ในเชิงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจ มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย อาทิ SensibleTAB หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขน หรือหุ่นยนต์เสริมพัฒนาการทางการพูด เป็นต้น

“การประกวดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ในปีนี้ ความพิเศษคือเราต้องการแสวงหานวัตกรรมการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้งาน บนฐานของเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งเราไม่ได้จำกัดสัญชาติ อายุ และเพศของผู้สมัคร อีกทั้งยังสามารถสมัครได้ทั้งรายบุคคลและทีมโดยไม่จำกัดจำนวนสมาชิกในทีมอีกด้วย นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างยิ่ง ซึ่งผลงานที่นำเสนอต้องเป็นไอเดียของผู้สมัครโดยไม่ลอกเลียนแบบผู้อื่นหรือนำผลงานมาแอบอ้าง”

สำหรับผลงานที่เข้าประกวด แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย การรักษา การผ่าตัด , การฟื้นฟูทางการแพทย์ สุขภาพ สุขภาวะ และ การบริการทางการแพทย์หรือสุขภาพและการติดตามเฝ้าระวัง ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาผลงานนั้น นอกจากจะตอบโจทย์เบื้องต้นแล้ว ยังต้องมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาบนพื้นฐานของเทคโนโลยีในปัจจุบัน และยังต้องมีศักยภาพในการนำผลงานพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงได้อีกด้วย โดยผู้ชนะเลิศ จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล 150,000 บาท รองชนะเลิศ จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล 100,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล 50,000 บาท ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งสามอันดับ จะได้รับการสนับสนุนจาก TCELS และหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

“การประกวดทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา TCELS ได้ดูแลผลงานที่ชนะเลิศอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้สิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรม หรือการอบรมพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ พร้อมช่วยจัดทำแผนธุรกิจ และหาพาร์ทเนอร์เพื่อพัฒนาผลงานให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงในโรงพยาบาล ซึ่งเรามีปัจจัยสนับสนุนมากมาย ทั้งจากทางภาครัฐ การวิจัย มหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ประกอบการ ผมอยากให้เวที i-MEDBOT Innovation Contest เป็นก้าวแรกที่มั่นคงของการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการแพทย์ของไทยให้ก้าวหน้า เราคาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ หุ่นยนต์ทางการแพทย์จะเข้ามามีบทบาทและเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพราะนอกจากจะส่งผลด้านเศรษฐกิจ ที่จะทำให้โรงพยาบาลสามารถลดต้นทุนได้แล้ว ในภาพรวมของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอาจต้องนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีการอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% ทุกปี ซึ่งถ้าหากคนไทยสามารผลิตได้เองเพื่อทดแทนการนำเข้า ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศได้มาก”

“ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในโรงพยาบาล นอกจากจะสามารถลดระยะเวลาและอำนวยความสะดวกให้ผู้มาเข้ารับบริการแล้ว อีกมุมหนึ่งยังเป็นการลดภาระงานให้บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้น ได้ใช้เวลาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและให้บริการผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่”

“การเตรียมความพร้อมในด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้วยสมาร์ทโรโบติกส์ ไม่เพียงจะสร้างสมาร์ทไลฟ์ให้คนไทยเท่านั้น แต่จะเป็นโอกาสที่ดีทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เราสามารถก้าวไปยังการเป็นผู้นำด้านการแพทย์และสาธารณสุขของโลก ไปพร้อมๆ กับการก้าวครั้งสำคัญที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยในอนาคต” ดร.นเรศกล่าว

สามารถดูรายละเอียด การประกวดสุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อสุขภาพ i-MEDBOT Innovation Contest 2018 เพิ่มเติมได้ที่ www.tcels.or.th/robot หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร 02 644 – 5499 ต่อ 115 , 128

 

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่