ซอฟต์แวร์ (Software)  |   วันที่ : 9 พฤษภาคม 2561

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

ที่งานประชุมนักพัฒนา Google I/O 2018 มีการเผยตัวอย่างแพลตฟอร์ม Android เวอร์ชั่นใหม่ (Android P) ออกมาอย่างเป็นทางการ มีการปรับโฉมการออกแบบพร้อมกับเพิ่มฟีเจอร์ใหม่บางอย่างเข้ามาซึ่งรวมถึงการสั่งงานด้วยท่าทางที่คล้ายกับการสั่งงานบน iPhone X ของ Apple

แม้ว่าชื่ออย่างเป็นทางการของ Android P ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นชื่อขนมอะไร แต่ฟีเจอร์ใหม่ก็ได้รับการเปิดเผยแล้วดังนี้

User Experience: Gestures!

ในแพลตฟอร์ม Android P มีการนำเสนอวิธีควบคุมอุปกรณ์ด้วยท่าทางของนิ้วแบบใหม่ มีการเพิ่มแถบชี้หน้าจอ (home indicator) ขนาดเล็กที่ด้านล่างของหน้าจอบริเวณตำแหน่งของปุ่ม Home โดยผู้ใช้งานสามารถกวาดนิ้วไปทางซ้ายหรือขวาบนแถบชี้หน้าจอเพื่อสลับหน้าแอพพลิเคชั่นอย่างรวดเร็ว (ดูภาพเคลื่อนไหวประกอบ)

Digital Wellbeing

เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้งานใช้สมาร์ทโฟนอย่างชาญฉลาดขึ้น มีหน้าแดชบอร์ดแบบครบวงจรที่แสดงข้อมูลว่าผู้ใช้งานใช้สมาร์ทโฟนบ่อยเท่าไรในแต่ละวัน ได้รับการแจ้งเตือนทั้งหมดกี่ครั้ง ระยะเวลาในการใช้งานแอพต่าง ๆ และข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของแต่ละคน นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าขีดจำกัดในการใช้งานแอพซึ่งจะเตือนผู้ใช้เมื่อถึงขีดจำกัดดังกล่าว

อีกฟีเจอร์ใหม่ที่น่าสนใจได้แก่ "Shush" ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานไม่ถูกการแจ้งเตือนรบกวน เพียงแค่เปิดโทรศัพท์และหันหน้าจอคว่ำลงจะเป็นการเข้าสู่โหมดห้ามรบกวน (Do Not Disturb) อัตโนมัติซึ่งจะปิดการสั่นและเสียงแจ้งเตือนต่าง ๆ แต่ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มรายชื่อผู้ติดต่อที่ได้รับการยกเว้นได้

สำหรับคนที่ชอบเล่นสมาร์ทโฟนก่อนนอนและต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะหลับ ใน Android P จะมีโหมด "Wind Down" เมื่อผู้ใช้งานตั้งเวลาโหมดนี้ เมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้หน้าจอโทรศัพท์จะเปลี่ยนเป็นโหมดกลางคืนและโทนสีขาวดำเพื่อลดการกระตุ้นสมองซึ่ง Google เผยว่าโหมดนี้จะช่วยให้สมองผ่อนคลายก่อนที่จะเข้านอน

Android Intelligence

ด้วยคอนเซปต์การใช้งานแอนดรอยด์อย่างชาญฉลาด มีการแนะนำฟีเจอร์ใหม่จำนวนมากที่ช่วยให้ผู้ใช้งานใช้สมาร์ทโฟนได้เต็มประสิทธิภาพ

Adaptive Battery
ฟีเจอร์ที่นำการเรียนรู้ด้วยตนเองของเครื่องจักรมาใช้งานเพื่อทำความเข้าใจและทำนายว่าผู้ใช้งานจะใช้แอพอะไรในอีก 2-3 ชั่วโมงข้างหน้าและมีแอพใดบ้างที่ไม่น่าจะถูกใช้งานจนกว่าจะถึงวันหรือสัปดาห์ที่น่าจะนำมาใช้ การใช้ข้อมูลเหล่านี้ยังคงความเป็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล เนื่องจากฟีเจอร์นี้สามารถปรับเข้ากับรูปแบบการใช้งานที่ไม่ซ้ำกันของแต่ละบุคคลและมีการทดสอบที่ยืนยันได้ว่าสามารถลดการปลุกชิปประมวลผลขึ้นมาทำงานโดยไม่จำเป็นลงถึง 30% ซึ่งจะช่วยให้ชิปประมวลผลที่มีสเปกไม่สูงนักทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่โดยรวมด้วย

New Auto Brightness
สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาสภาพแวดล้อมเพื่อปรับความสว่างหน้าจอให้เหมาะสมแต่มันก็เป็นวิธีตอบสนองที่ดีสำหรับผู้ใช้งานบางคนเท่านั้น ผู้ใช้งานแต่ละคนชอบความสว่างหน้าจอไม่เท่ากัน ด้วยฟีเจอร์ใหม่ที่ชื่อว่า "Adaptive brightness" จะทำให้ผู้ใช้งานปรับค่าแสงสว่างด้วยตัวเองเพียงแค่ไม่กี่ครั้ง หลังจากนั้นระบบจะเรียนรู้การตั้งค่าดังกล่าวและช่วยปรับความสว่างให้เหมาะสมอัตโนมัติ วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับความสว่างหน้าจอที่ดีและเหมาะกับตัวเองมากขึ้น

App Actions
ปีที่แล้ว Android เปิดตัวฟีเจอร์ predictive apps ซึ่งเป็นการคาดเดาแอพ 5 อันดับแรกที่คาดว่าผู้ใช้จะเรียกใช้งานที่ด้านบนของหน้าจอรวมแอพทั้งหมด (app launcher) แต่ใน Android P ทีมงานของ Google จะเพิ่มฟีเจอร์ที่เรียกว่า "App Actions" ซึ่งเป็นแถบทางลัดเรียกคำสั่งในแอพที่ระบบคาดว่าผู้ใช้งานกำลังจะทำต่อไป ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการเชื่อมต่อกับหูฟังก็จะมีคำแนะนำสำหรับเล่นเพลงอัตโนมัติ หรือถ้าโทรศัพท์ตรวจพบว่าผู้ใช้งานอยู่ในโรงยิม ระบบอาจจะแนะนำเพลงที่เหมาะกับการออกกำลังกาย เป็นต้น

Slices

เป็นส่วนติดต่อที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ช่วยให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงฟีเจอร์ในแอพต่าง ๆ ได้โดยตรงจากระบบปฏิบัติการหรือจากการค้นหา (ใน Android P ฟีเจอร์นี้จะใช้งานได้เฉพาะในการค้นหาเท่านั้น แต่คาดว่าจะมีการขยายรูปแบบเพิ่มเติมในอนาคต) ตัวอย่างเช่นแอพ Lyft นำฟีเจอร์ที่มีในแอพมาใช้งานบนแถบการค้นหา ช่วยให้ผู้ใช้งานประมาณค่าใช้จ่ายค่าแท็กซี่ได้โดยตรงจากแถบค้นหาว่าจะต้องเสียเงินเท่าไรหากเดินทางไปที่บ้านหรือไปทำงาน

MLKit
ชุดเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเครื่องจักร (machine learning kit) เป็นวิธีเรียกใช้โปรแกรมบนอุปกรณ์แบบข้ามแพลตฟอร์มซึ่งสามารถทำงานร่วมกับทั้ง Android และ iOS ช่วยให้สามารถใช้รูปแบบการทำงานเฉพาะอย่าง อย่างเช่น ระบบจดจำใบหน้า สแกนบาร์โค้ด การระบุอัตลักษณ์รูปภาพ การตอบกลับอัตโนมัติ การค้นหาข้อมูลสถานที่และอื่น ๆ

Simplicity
การเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ผู้ใช้งานน่าจะถูกใจมากที่สุดใน Android P ก็คือการเปลี่ยนแปลงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างที่จะทำให้ใช้งานง่ายขึ้นอีก

เริ่มจากแถบปรับระดับเสียง เมื่อกดปุ่มปรับเพิ่ม-ลดระดับเสียง จะสามารถปรับค่าเสียงของสื่อที่กำลังเล่นอยู่โดยแถบเลื่อนจะถูกย้ายจากบริเวณด้านบนมาอยู่ที่ด้านขวาเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น

สองคือการหมุนหน้าจอ ใน Android P เมื่อผู้ใช้งานหมุนหน้าจอ ระบบจะแสดงปุ่มที่คุณสามารถเลือกได้ว่าต้องการปรับหน้าจอแบบให้แสดงในมุมมองแบบไหน (หมุนจออัตโนมัติ / แนวตั้ง / แนวนอน)

ฟีเจอร์เหล่านี้จะมีให้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม Android P โดยผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนโปรแกรมเบต้า (รุ่นทดสอบ) สามารถโหลด Android P beta มาทดลองใช้งาน* ได้แล้วที่เว็บไซต์ https://www.google.com/android/beta

*หมายเหตุ Android P beta รองรับเฉพาะอุปกรณ์ตระกูล Pixel, Sony Xperia XZ2, Xiaomi Mi Mix 2S, Nokia 7 Plus, OPPO R15 PRo, Vivo X21 และ Essential Phone เท่านั้น ส่วน Android P เวอร์ชั่นเต็ม (Final Release) คาดว่าจะถูกปล่อยมาให้ใช้งานกันในช่วงปลายปีนี้

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่