หมวดอื่นๆ (Other)  |   วันที่ : 12 มิถุนายน 2561

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

True Digital Park จัดงานเสวนา Time for Thailand : Meet up #5 หัวข้อ "Specialists or Generalists: what do employers really want?" นำเสนอทิศทางตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นประเด็นที่คนทำงานอยากรู้มากที่สุดในยุคนี้ ว่าจะต้องพัฒนาศักยภาพไปทางไหน จึงจะตอบโจทย์ตลาดได้ดีที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาทำให้รูปแบบการทำงานต่างไปจากเดิม บริษัทต่างๆ เริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน แล้วทักษะแรงงานแบบไหนที่จะตอบโจทย์องค์กรในยุค 4.0?

งานเสวนาในครั้งนี้ จึงได้เชิญบุคคลจากแวดวง HR มาร่วมไขคำตอบจากคำถามที่ว่า “รู้ลึก รู้กว้าง คนทำงานยุค 4.0 ควรเป็นแบบไหน” โดยมีผู้เชี่ยวชาญในสายงาน HR อย่าง คุณอานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ Head of People จาก Wongnai สตาร์ทอัพพี่ใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย, คุณพรรษชล จารุวร HR Business Partner จาก WorkVenture บริษัทที่เชี่ยวชาญในตลาดการจ้างงาน จัดหาคนทำงานให้บริษัทมากมายและมีฐานข้อมูลคนหางานกว่า 5 แสนราย และ ดร. อดิภัทร ชัยชนะสกุล รองผู้อำนวยการด้าน Organization Development & HR Innovation จาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจรที่มีพนักงานกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ มาแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองต่อตลาดงานในปัจจุบัน

โดยเมื่อพูดถึงเทรนด์สายงานดาวรุ่งในยุคนี้ คุณพรรษชล ให้ข้อมูลเชิงลึกในฐานะที่ WorkVenture เป็น One Stop Recruitment Solutions ว่า จากผลสำรวจของบริษัท พบว่าผู้ประกอบการมีความต้องการตำแหน่งงานด้านการขายและการตลาด ฝ่ายบุคคล ไอที รวมถึงด้านวิศวกรรม และด้านลูกค้าสัมพันธ์ ในขณะที่ผู้สมัครงาน มองหางานด้านการขาย การตลาด โดยเฉพาะการตลาดดิจิทัลที่กำลังมาแรงมาก ตามด้วยไอที และ HR

ส่วนแนวโน้มตลาดแรงงานจากมุมมองขององค์กรธุรกิจ ดร. อดิภัทร กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรต่างๆ มีการแตกธุรกิจไปหลายประเภท เพราะไม่สามารถพึ่งพาธุรกิจเพียงด้านเดียวได้ ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มทรูได้ขยายครอบคลุมไปหลายด้าน จึงต้องการบุคลากรที่มีทักษะหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน “เมื่อก่อนอาจเน้นที่บุคลากรด้านไอทีและวิศวกรรม แต่ตอนนี้ บริษัทต้องการทั้งคนที่รู้ลึกและรู้กว้าง ซึ่ง “คน” เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่จะช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ผลักดันองค์กรและธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม”

นอกจากตลาดแรงงานจะเปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล ชีวิตการทำงานของคนในยุคนี้ก็ยังปรับเปลี่ยนไปด้วยในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง จากยุค Work-Life Balance สู่ยุค Work-Life Integration โดย คุณพรรษชล ให้ความเห็นในมุมมองของสตาร์ทอัพซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจว่า ต้องการคนที่ทำอะไรได้หลายๆ อย่าง หลังจากนั้นต้องพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้น “ที่สำคัญคือ ยุคนี้มีการหลอมรวมชีวิตส่วนตัวกับการทำงานเข้าด้วยกัน (Work-Life Integration) เมื่อก่อนจะได้ยินคำว่า Work-Life Balance แต่ในปัจจุบันชีวิตการทำงานจะเป็นแบบ Work-Life Integration บริษัทจึงต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่าได้ทำงานที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง จะทำให้พนักงานอยากทำงานกับองค์กรต่อไป”

อีกด้านหนึ่งแนวคิดเกี่ยวกับ Work-Life Integration ดร. อดิภัทร กล่าวว่า กลุ่มทรูได้เรียนรู้และปรับเอาแนวทางของสตาร์ทอัพมาใช้ มีการสร้าง “สตาร์ทอัพ” ขึ้นภายในองค์กร คิดเป็นประมาณ 20% ของบุคลากร 20,000 คน ปรับวัฒนธรรมการทำงานให้คล้ายสตาร์ทอัพ พัฒนาคนให้มีทักษะหลากหลาย (multi-skills) เพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งด้าน บุคลากรจะมีโอกาสทำงานอื่นนอกจากหน้าที่ประจำ เป็นการเสริมสร้างทักษะใหม่ (reskill) เพื่อรองรับอนาคต “การทำงานจะมีสองงาน เหมือนเมเจอร์และไมเนอร์ ซึ่งหลายๆ คนสามารถเลือกไมเนอร์ให้ตรงกับ passion หรือความชอบได้” คุณอานนทวงศ์ กล่าวเสริมเรื่องการ reskill ว่า เมื่อก่อนเราคิดแค่เพียงต้องรู้ลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่สมัยนี้และต่อไปในอนาคต จะต้องรู้หลายๆ เรื่องเปรียบได้เหมือนกับซี่ของหวีที่มีเพิ่มมากขึ้น และอาจมี การปรับเปลี่ยนทุก 3-5 ปี ว่าจะเรียนรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม

พร้อมกันนี้ ดร. อดิภัทร ยกตัวอย่างตนเองที่จบการศึกษาด้านจิตวิทยาตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก รวมทั้งมีทีมงานที่มีพื้นฐานด้านจิตวิทยาเช่นเดียวกัน “ถือได้ว่าผมเป็น specialist ด้านจิตวิทยา ซึ่งเรียนเพื่อจะรู้ว่า คนต้องการอะไร อะไรเป็นส่วนที่สร้างประสบการณ์คน อะไรทำให้เขามีแรงจูงใจ ทีมงานที่แม้จะเรียนมาทางด้านจิตวิทยา แต่เมื่อต้องมาพัฒนาระบบ HR แอปพลิเคชัน ก็ต้องเรียนรู้ UI/UX ให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เหมือนมีซี่หวีเพิ่มขึ้น ทีมงานบางคนอาจไปเรียนเรื่องโค้ดดิ้ง (Coding) เพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน ทีมงานที่ทำด้านโค้ดดิ้งมาตลอด ก็ต้องศึกษาเรื่องคนหรือ HR มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เห็นภาพใหญ่ของคน ขององค์กร เส้นทางในชีวิตคน เปรียบได้กับหวีที่มีซี่มากขึ้นๆ จนกลายเป็นแปรง”

สำหรับประเด็นที่ว่า คนหางานยุค 4.0 ควรมีทักษะเป็นแบบรู้ลึก (Specialist) หรือ เป็นแบบรู้กว้าง (Generalist) คุณอานนทวงศ์ กล่าวว่า Wongnai มีพนักงาน ประมาณ 220 คน แบ่งเป็น specialist เช่น โปรแกรมเมอร์ บัญชี การตลาด ประมาณ 20% อีก 80% เป็น generalist อย่างไรก็ดี “Wongnai” เปิดโอกาสให้คนได้ทำงานในสิ่งที่ชอบหรือสนใจด้วย

มีการสลับหน้าที่กัน เช่น คนที่ทำด้านคอนเทนต์สามารถทำด้าน AE บริหารลูกค้าได้ด้วย หรือบางคนทำด้านการตลาด ก็สามารถทำงานด้านซัพพอร์ตได้ เป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานทำสิ่งที่ชอบจริงๆ “เราพยายามจะดูแล “People” ของเราเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่เป็นที่ทำงาน ที่ได้เงิน แล้วกลับบ้านไปในแต่ละวัน”

นอกจากนี้ ในการเสวนาดังกล่าว ยังมีการพูดคุยถึง ทิศทางขององค์กร และทักษะที่จำเป็นสำหรับคนทำงานยุคใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรต้องมีการปรับเปลี่ยน ยิ่งไปกว่านั้น คนทำงานยังต้องเพิ่มเติมทักษะอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดย ดร. อดิภัทร ได้ย้ำถึงเรื่อง Passion และการเพิ่มความหลากหลายของทักษะต่างๆ ให้กับบุคลากร โดยเฉพาะ growth mindset หรือความพร้อมเรียนรู้ เพื่อพัฒนาไปพร้อมๆ กับองค์กร “ทักษะความสามารถต่างๆ ต้องมีการเรียนรู้เพิ่ม ถ้าเรามี passion ก็จะพร้อมแก้ปัญหาและเติบโตไปกับวิชาชีพได้”

ในประเด็นเดียวกันนี้ คุณอานนทวงศ์ เผยว่า แม้ Wongnai จะรับนักพัฒนาและคนทำคอนเทนต์เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจัยหลักที่มองหามี 4 ประการ คือ ทักษะความสามารถ ศักยภาพที่จะเติบโต ความเข้ากันกับองค์กร และจิตใจที่ดี ที่เติมพลังบวกแก่ทีมและองค์กร “ทุกวันนี้ โลกก้าวไปเร็ว ประเด็นเรื่อง AI จะมาทำงานแทนคนหรือเปล่า ไม่เป็นปัญหาเลย เพราะหากเป็นคนเก่ง คนขยัน คนดี ก็อยู่ที่ไหนก็ได้”

ก่อนจบการเสวนา คุณพรรษชล ได้กล่าวปิดท้ายว่า สิ่งสำคัญที่ผู้สมัครงานควรมีคือ can-do attitude เรียนรู้ไว และเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร การเป็นสตาร์ทอัพทำให้ต้องการคนที่ยืดหยุ่น กล้าเผชิญ และพร้อมจะเติบโตไปกับองค์กร จึงเปิดโอกาสให้คนที่เพิ่งจบการศึกษาและมี can-do attitude อีกทักษะที่สำคัญคือ “ภาษาอังกฤษ” ที่ WorkVenture ใช้ภาษาอังกฤษ 80% ซึ่งทักษะด้านภาษาจะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลและช่วยให้เรียนรู้ได้มากขึ้น และนอกจากทักษะในงาน ยังต้องมีทักษะที่เป็นซอฟต์สกิล เช่น ด้านการสื่อสาร การพรีเซนต์ด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ จะต้องมีความอดทน

ทั้งนี้ งานเสวนา Time for Thailand : Meet up #5 เป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนสตาร์ทอัพ โดย ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางด้านดิจิทัลของไทยที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เดียวที่ตอบโจทย์ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตได้อย่างลงตัว ครบครันด้วยปัจจัยที่เติมเต็มทุกไลฟ์สไตล์ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าสตาร์ทอัพ ด้วยบริการและโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก โดดเด่นด้วยระบบนิเวศสมบูรณ์แบบครบวงจร (Complete Ecosystem) เตรียมพบกับพื้นที่และชุมชนแห่งแรงบันดาลใจ การพัฒนาทักษะ พื้นที่เสวนา การทำเน็ตเวิร์กกิ้ง เวิร์กช็อปต่างๆ และโค-เวิร์กกิ้งสเปซ พร้อมเปิดให้บริการในปลายปีนี้ ติดตามกิจกรรมดีๆ และงานเสวนาพัฒนาเครือข่ายในแวดวงสตาร์ทอัพและองค์กรธุรกิจดิจิทัลได้ที่ www.facebook.com/TrueDigitalPark

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่