เทคโนโลยี (Technology)  |   วันที่ : 12 กรกฎาคม 2561

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

ต่อจากช่วงที่ 1 ที่พูดถึงประวัติความเป็นมาและความสำเร็จของ Huawei ไปแล้ว (คลิ๊กที่นี่) ในตอนนี้เราจะมาเจาะลึกอีกส่วนที่กว่าจะมาเป็นสมาร์ทโฟน Huawei นั้นต้องผ่านขั้นตอนการผลิตอย่างไร และผ่านการทดสอบสุดโหดอะไรบ้างกว่าจะออกสู่ตลาด

สำหรับห้องวิจัยและพัฒนา (R&D Center) ของ Huawei นั้นตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งความใหญ่โตก็กว้างถึง 10,000 ตารางเมตร ที่ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการ 23 แห่งภายใน 1 พื้นที่ เพื่อใช้ในการทดสอบสมาร์ทโฟนรุ่นต่างๆ ซึ่งจะเน้นไปทางด้านประสบการณ์การใช้งานและนวัตกรรม โดยมีถึง 5 ห้องการทดสอบหลักๆ ที่เราจะพูดถึง ดังนี้

1. Automation Test Center

มาเริ่มต้นกันที่ห้องทดสอบอัตโนมัติที่ทำงานเปรียบเสมือนกับพนักงาน 10,000 คน เพื่อให้การทดสอบเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งยังเป็นการการันตีถึงคุณภาพและความเสถียรภาพของสมาร์ทโฟนอีกด้วย โดยห้องวิจัยนี้มีเครื่องทดสอบมากกว่า 800 เครื่องสำหรับทดสอบสมาร์ทโฟนมากกว่า 5,000 เครื่องในเวลาเดียวกัน ซึ่งยังทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืนไม่มีวันหยุดแบบ 7 วัน ครบ 24 ชั่วโมง

สมาร์ทโฟนทุกเครื่องต้องผ่านการทดสอบเป็นล้านๆ ครั้งจากการทดสอบกว่า 1,000 ชั่วโมงก่อนที่จะเปิดตัวออกสู่สาธารณะ ซึ่งสิ่งที่เป็นเป้าของการทำงานในส่วนนี้ คือ การพัฒนาซอร์ฟแวร์ที่ไร้ข้อผิดพลาดให้รวดเร็วมากที่สุด

 

2. Communication Protocol Test Laboratory

อีกหนึ่งสิ่งที่พิเศษของ Huawei คือด้านการสื่อสารที่มีเป้าหมายหลักเป็นการใช้งานได้กับทุกเน็ตเวิร์คบนโลกนี้ ไม่เว้นแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ที่ครอบคลุมเครือข่ายกว่า 1,000 แบบ จากเครือข่ายผู้ให้บริการขนาดใหญ่ได้กว่า 20 ราย ซึ่งสิ่งที่ใช้ทดสอบจะประกอบด้วยการสลับเครือข่ายไปมาระหว่าง 2G, 3G, LTE (4G) และอื่นๆ มากมาย รวมไปถึงฟีเจอร์ใหม่ เช่น การวิดีโอคอลแบบ 4G HD, VoWiFi, VoLTE, Carrier Aggregation (CA) และ MIMO

นอกจากนี้ ห้องวิจัยดังกล่าวยังเป็นห้องวิจัยเดียวที่ระบบ Wi-Fi มีการผสานการทำงานของทั้ง CDMA และ GUTL เข้าด้วยกัน

3. Reliability Laboratory

มาถึงห้องทดสอบที่ใครหลายคนต้องชอบแน่นอน เพราะเป็นการทดสอบการใช้งานสมาร์ทโฟนจากการจำลองในชีวิตประจำวัน (เทียบเป็นเวลาจริงมากกว่า 1 ปี) เพื่อปรับปรุงความทนทานและแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เช่น

  • การเสียบสายหูฟังมากกว่า 10,000 ครั้ง
  • ทดสอบการสั่นสะเทือนต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการนั่งรถยนต์หรือจักรยาน
  • ทดสอบการกดปุ่มรอบตัวเครื่อง, หน้าจอแสดงผล และเซ็นเซอร์ต่างๆ ซึ่งหากเจอจุดผิดพลาดก็จะมีการมาร์กจุดเอาไว้ทันที

  • ทดสอบการกดทับจากการนั่งและการบิดงอ

  • ทดสอบการกระแทก (Drop Test) 3 แบบ ได้แก่ หมุนในวงล้อเพื่อให้ตกอย่างอิสระ, ตกทางตรงในมุมต่างๆ ของตัวเครื่อง และการโยนเครื่อง

  • ทดสอบการกันน้ำ-ฝุ่นในทิศทางต่างๆ เพื่อทดสอบมาตรฐาน IP

  • ทดสอบสมาร์ทโฟนทั้งอุณภูมิร้อนสุดไปจนถึงอุณหภูมิติดลบภายในตู้ทดลอง และมีการเหวี่ยงของอุณหภูมิไปมาอีกด้วย

ทั้งนี้ การทดสอบทั้งหมดจะเป็นไปตามมาตรฐานของทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และประเทศอื่นๆ

4. Antenna Laboratory

สำหรับ Antenna Lab เป็นการทดสอบและปรับปรุงคุณภาพของสัญญาณทางโทรศัพท์ เพื่อไม่ให้เกิดอาการ "Death-Grip" หรือช่วงที่สัญญาณขาดๆ หายๆ รวมไปถึงการเชื่อมต่อข้อมูลและใช้ GPS อย่างรวดเร็วและเสถียร โดยห้องวิจัยนี้ ประกอบไปด้วย ห้องทดสอบที่ไร้การสะท้อนของคลื่นไมโครเวฟ (ETS Microwave Anechoic Chamber), ห้องทดสอบการสะท้อนกลับของคลื่น และห้องทดสอบที่มีความแม่นยำสูงสุด ซึ่งการทดสอบทั้งหมดนี้ถือเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก

5. Audio Laboratory

เดินทางมาถึงห้องทดสอบอย่างสุดท้ายกับการทดสอบระบบเสียง เพื่อพัฒนาความคมชัดของเสียงที่ผู้ใช้งานควรได้รับในสภาวะที่มีการรบกวนจากเสียงแวดล้อม ไม่ว่าจะใช้การโทรหรือฟังเพลงอยู่ก็ตาม โดยห้องวิจัยนี้เป็นห้องวิจัยในประเทศจีนแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ที่ผ่านเกณฑ์การลดเสียงรบกวน 3PASS noise test system

สายการผลิต (Product Line)

และในการไปประเทศจีนครั้งนี้ ทาง Huawei ก็ไม่ลืมที่จะพาเราเข้าไปถึงสายการผลิตสมาร์ทโฟน (Product Line) ตั้งแต่การประกอบเมนบอร์ดจนถึงการส่งเข้ากล่องเพื่อเตรียมวางจำหน่าย แต่ก็น่าเสียดายที่เราไม่สามารถบันทึกภาพหรือนำอุปกรณ์ทุกอย่างเข้าไปได้ขณะรับชม ซึ่งเราก็เน้นการจำล้วนๆ เพื่อบอกต่อข้อมูลมาบอกโดยสรุปกัน (ภาพด้านล่างเป็นภาพเพื่อประกอบบทความเท่านั้น)

ตั้งแต่ที่เราก้าวเข้าไปในโรงงาน ทุกอย่างก็กลายเป็นความลับสุดยอด ตั้งแต่การห้ามนำสิ่งของที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเข้าไปในโรงงาน ไปถึงการเปลี่ยนเป็นชุดยูนิฟอร์มพนักงานหัวเหว่ยที่ต้องสวมใส่ตามกฏระเบียบ เมื่อผ่านจุดตรวจสิ่งของ สิ่งแรกที่เราเห็นก็มีแต่หุ่นยนต์และเครื่องจักรที่ทำงานกันตลอดเวลา ซึ่งมีพนักงานที่เป็นคนจริงๆ น้อยกว่าที่คิดไว้

มาถึงจุดแรกจะเป็นการผลิตเมนบอร์ดและนำชิปเซ็ตต่างๆ ฝังเข้าไปในอุปกรณ์นั้น ซึ่งทั้งหมดจะทำงานด้วยหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งค่าเอาไว้ภายในตู้นิรภัยที่เรียงกันเป็นแนวนอนแถวยาวไปจนสุดทาง (ประมาณ 150 เมตร)

การเรียงกันของตู้นิรภัยเหมือนเป็นการส่งงานต่อไปเรื่อยๆ แบบอัตโนมัติของหุ่นยนต์ เช่น ตัวแรกมีหน้าที่ฝังชิปเซ็ต เมื่อเสร็จแล้วก็จะส่งต่อไปยังหุ่นอีกตัวเพื่อฝัง ROM และ RAM และก็จะทำงานต่อไปเรื่อยๆ จนประกอบเป็นเครื่องที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

ทั้งนี้ ทุกขั้นตอนการทำงานของหุ่นยนต์จะมีพนักงานคอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาว่ามีสิ่งใดผิดพลาดหรือมีอะไรแก้ไขหน้างานหรือไม่ อย่างการทดสอบฟังเสียงลำโพง ก็จะมีตู้เฉพาะให้พนักงานรับฟังเสียงของสมาร์ทโฟนว่าผิดปกติอย่างไร, การใช้งาน UI หน้าตาของระบบปฏิบัติการ ระบบสัมผัสต่างๆ ที่ต้องให้พนักงานคอยดูว่าเหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวันหรือไม่ หรือการ Drop Test ในระยะ 30 เซนติเมตร หากไม่มีอะไรขัดข้องก็จะส่งไม้ต่อให้หุ่นยนต์ทำงานต่อไป

และในจุดสุดท้ายของการผลิตก็จะมีพนักงานคอยบรรจุลงกล่องลังพร้อมวางจำหน่าย โดยมีหุ่นยนต์ขับเคลื่่อนอัตโนมัติคอยรับกล่องดังกล่าวเพื่อส่งไปยังคลังเก็บสินค้า เตรียมส่งออกไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

สรุปการทำงานของสายการผลิต (Product Line)

  • Huawei มีหลายสายการผลิต โดยแต่ละสายสามารถผลิตและประกอบสมาร์ทโฟนได้มากกว่า 2,000 เครื่องต่อวัน ซึ่งรวมแล้วทำให้ผลิตสมาร์ทโฟนได้มากกว่า 1 ล้านเครื่องต่อเดือน
  • ระหว่างการผลิต จะมีการตรวจสอบความถูกต้องทุกขั้นตอนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์
  • สมาร์ทโฟนของ Huawei ทุกเครื่องต้องผ่านด่านการตรวจสอบอย่างละเอียดและการประกอบอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน
  • มีพนักงานประจำในแต่ละจุดเพื่อทดสอบการใช้งานจริง เหมือนกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่