www.siamphone.com

ข่าว

ทำความรู้จักหน้าจอ OLED เทรนด์มาแรงในปีนี้ ปูเส้นทางสู่สมาร์ทโฟนโค้งงอได้ แล้วมีดีกว่าหน้าจอทั่วไปอย่างไร

สมาร์ทโฟน (Smartphone)   |   วันที่ : 29 มกราคม 2560

เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์น่าจับตามองเลยทีเดียว สำหรับเรื่องราวของหน้าจอประเภท OLED หรือรู้จักกันในชื่อ "Organic Light Emitting Diodes" ที่มีข่าวหนาหูว่าหลากหลายแบรนด์จะนำมาใช้งานในสมาร์ทโฟนมากขึ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมาหน้าจอประเภทดังกล่าวถูกนำไปใช้งานกับโทรทัศน์อย่างกว้างขวาง ดังนั้นเราลองมาดูกันหน่อยว่าจอแสดงผลชนิดนี้มีดีกว่าที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง และปี 2017 แบรนด์ใดคาดว่าจะเปิดตัวดีไวซ์ของตนเองพร้อมหน้าจอแสดงผลชนิดนี้

 

มาทำความเข้าใจว่าหน้าจอ OLED มีดีกว่าหน้าจอปัจจุบันอย่างไร

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหน้าจอประเภท OLED เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหากพูดในเรื่องของหน้าจอประเภทนี้แบรนด์ที่นำมาใช้อย่างจริงจังก็คือ "Samsung" ที่มีการปรับแต่งออกแบบให้มีการแสดงสีสันของภาพดียิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการแก้จุดอ่อนของหน้าจอประเภท AMOLED หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Super AMOLED ซึ่งทางซัมซุมเคลมว่าก็ให้ความสดใสของเฉดสีมากกว่า AMOLED (Active-Matrix Organic Light-Emitting Diode) ทั้งหน้าจอจะมีความบางกว่าและประหยัดพลังงานกว่าด้วย

ในเมื่อรู้เรื่องของซัมซุงเกี่ยวกับ Super AMOLED กันไปแล้ว ดังนั้นมาดูในส่วนของ AMOLED กันต่อ ซึ่งก็เห็นได้ว่าหลายแบรนด์ในจีนเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีหน้าจอนี้มากขึ้น โดยก็ต้องการให้หน้าจอแสดงผลสามารถขับเฉดสีได้สมจริงดียิ่งขึ้น แต่อาจไม่ดีเท่าของซัมซุง ซึ่งเกิดเป็นคำนิยามเลยว่า หากถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟนของซัมซุง ต้องมาเปิดรูปบนหน้าจอธรรมดาแทน เห็นความแตกต่างชัดเจน!

แล้วทำไมถึงมาใช้หน้าจอแบบนี้ละ? < คำตอบคือด้านคอนเทนต์ปัจจุบันคลิปวิดีโอก็มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรม ผู้ผลิตจึงต้องการให้สมาร์ทโฟนของตนเองนั้นตอบโจทย์การใช้งานได้ดี ด้วยการนำเสนอทางเลือก สรุปแล้ว AMOLED คืออะไร ทำไมต้องเพิ่มตัว AM ที่ด้านหน้าคำว่า OLED กัน ?

อย่างที่เกริ่นข้างต้น AMOLED คือ Active-Matrix Organic Light-Emitting Diode มีคำนิยามว่าหน้าจอยุคใหม่ และหลายคนตื่นเต้นไม่น้อยเลยสำหรับวันวานที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันมีการใช้งานกว้างขวาง โดยเจ้าตัว AM ข้างหน้า ถูกเพิ่มเติมตกแต่งเพื่อกลบจุดด้อยของ OLED กล่าวคือ ใช้ Active-Matrix ในการควบคุมจ่ายกระแสไฟฟ้าของแต่ละ Subpixel ให้แม่นยำมากขึ้น เนื่องจากมีการตอบสนองของสัญญาณที่ไว ทำให้การแสดงผลมีความเสถียร ผสมผสานการทำงานร่วมกับแผ่นฟิลม์ TFT (Thin-Film Transistor) ที่มีจุดเด่นในเรื่องของสีสันที่ดีเยี่ยมแต่มีจุดด้อยเรื่องความแม่นยำและความเสถียรในการแสดงผล และก็เป็นเสมือนสวิตช์ในการควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยัง Subpixel ดังนั้นจึงบอกได้ว่าส่วนของ AM เข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายของ OLED ไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เียิ่งขึ้น

 

หลังจากรู้จัก Super AMOLED และ AMOLED ลำดับต่อไปมาดูในส่วน OLED กันบ้าง

สำหรับหน้าจอ OLED ก็มีข้อดีหลายอย่างกว่าหน้าจอธรรมดาทั่วไปที่ไม่สามารถทำได้ โดยอย่างแรกคือมีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ถึงขั้นพับงอได้เลยทีเดียว ดังนั้นจึงเป็นก้าวแรกของความแตกต่างที่ทำให้ผู้พัฒนาเล็งเห็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไร้ข้อจำกัด และที่สำคัญมีความบางเบากว่าหน้าจอทั่วไป

นอกจากนี้หน้าจอ OLED ประหยัดพลังงานได้มากกว่า โดยสามารถเปล่งแสงได้เองเมื่อได้รับกระแสไฟฟ้าไม่ต้องพึ่งพาหลอดไฟ LED และสีดำก็จะแสดงผลชัดเจนสมจริง เช่นเดียวกับสีขาวที่แสดงผลได้สว่างกว่าทั้งยังมีอัตราการตอบสนองของสัญญาณรวดเร็วกว่าเมื่อเทียบกับประเภท LED หรือ LCD

สุดท้ายคือมุมมองการแสดงผลที่กว้างกว่าประมาณ 170 องศา เมื่อเทียบกับหน้าจอประเภท LCD คือการขาดหายไปของแผง Backlight ที่ไม่มาปิดกั้นสเกลการแสดงผล

ขอบคุณภาพประกอบจาก : winstar.com.tw

ข้อเสียของหน้าจอ OLED ละเป็นอย่างไร

ต้องบอกว่าหน้าจอประเภทนี้จะเข้ามาแทนที่ในระยะยาวแน่นอน ซึ่งก็เห็นได้จากหลายแบรนด์หลายผลิตภัณฑ์เริ่มนำมาประยุกต์ใช้กัน แต่ในข้อดีย่อมมีข้อเสีย กล่าวคือ อันดับแรกไม่ควรมองข้ามเลยระยะเวลาการใช้งานเม็ดสี เฉลี่ยสีแดงกับสีเขียวมีอายุการใช้งานระหว่าง 46,000 - 230,000 ชั่วโมง ทว่าสีนํ้าเงินมีระยะเวลาการใช้งานสั่นกว่าประมาณ 14,000 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นด้วยข้อจำกัดนี้จึงส่งผลให้การแสดงของสีจะผิดเพี้ยน กรณีที่ร้ายแรงสุดคือหน้าจอถูกเบิร์นเป็นรอยไหม้ไปเลย นอกจากนี้หน้าจอประเภท OLED ไม่ถูกกับนํ้า โดยจากการทดลองพบว่าสามารถทำอันตรายได้มากเลยทีเดียว 

ปูทางเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟนยืดหยุ่นได้ อีกสองสามปีน่าจะมีการเปิดตัวเกิดขึ้น

แน่นอนว่าหนึ่งในคุณสมบัติของหน้าจอ OLED จะมีความยืดหยุ่นได้ ซึ่งจากหลายๆ ตัวอย่างต้นแบบของแบรนด์ต่างๆ มีการนำมาพับโค้งงอให้เห็นกันเลยทีเดียว ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าเมื่อสามารถสร้างสำเร็จอีกสองสามปีข้างหน้าบางทีเราอาจเห็นสมาร์ทโฟนโค้งงอได้จริงก็เป็นได้ แต่ท้ายที่สุดคือต้องดูว่าคุณสมับติดังกล่าวมีประโยชน์จริงๆ กับผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมใดบ้าง 

ประเด็นสำคัญนอกจากเรื่องหน้าจอแสดงผล เหตุผลหลักที่ทำให้มีข้อจำกัดคือส่วนของฮาร์ดแวร์นั้นไม่สามารถพับงอได้ โดยเฉพาะด้านแบตเตอรี่ที่เป็นแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า แน่นอนว่าต้องยืดหยุ่นพับงอได้

อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่สมาร์ทโฟนเท่านั้น เหล่าอุปกรณ์ อาทิ Smartwatch, SmartGlass, Smart Bands อยู่ในขอบข่ายการพัฒนาเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวที่น่าติดตามเลยทีเดียวครับ

แบรนด์ไหนบ้างที่จะนำหน้าจอ OLED มาใช้ในสมาร์ทโฟนของตนเอง 

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็มีข่าวสารมากมาย โดยเฉพาะแบรนด์ Apple ถึงขั้นที่ผู้บริหาร Sharp ระบุว่าทางแอปเปิ้ลก็มีแผนการใช้หน้าจอชนิดนี้ด้วย เช่นเดียวกับทาง Xiaomi และ LG ในรุ่น Mi6 กับ G6 ทั้งยังมีข่าวเกี่ยวกับแบรนด์ Sony อีกด้วย

สุดท้ายนี้เราคงต้องรอติดตามกันว่าในปีนี้จะมีเทรนด์อะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ โดยหากว่าเหล่าแบรนด์ใหญ่เริ่มหันมาใช้ OLED Display กันมากขึ้น บางทีอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเลยในปีหน้าก็เป็นได้เหมือนทุกเรื่องที่ผ่านมา

วันที่ : 29 มกราคม 2560

49,713
อ่าน

แบ่งปันบทความ

ข่าวล่าสุด

ไฮไลท์ข่าว

หมวดข่าว

None AMP version