www.siamphone.com

ข่าว

ศิลปะ กระจกเงาบานใหญ่สะท้อนสังคม นิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค

องค์กร (Corporate)   |   วันที่ : 21 สิงหาคม 2562

ศิลปะ เป็นเสมือนกระจกบานใหญ่ที่ช่วยสะท้อนสังคมของมนุษย์ไม่ว่าจะยุคสมัยใด เช่นเดียวกับผลงานศิลปะจากนิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ครั้งที่ 21 ซึ่งผ่านการคัดเลือกมาจัดแสดง 49 ผลงาน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ทุกผลงานเปรียบเสมือนกระจกหลายๆ บาน ที่แสดงถึงความเคลื่อนไหวของสังคม ความคิด และจิตใจของมนุษย์ในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี 

นายอานนท์ เลิศพูลผล ศิลปินหนุ่มอายุ 26 ปี เจ้าของผลงาน “แถลงข่าว 2” ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 เล่าว่า “ภาพใช้เทคนิคการวาดเส้นรวมกับสีน้ำมันมาสะท้อนแนวความคิดและเจตนารมณ์ด้านความเข้าใจในเรื่องความดีความชั่วของมนุษย์ จากการที่ได้รับการสั่งสอนและปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเติบโตขึ้นกลับแตกต่างไปจากที่ได้รู้ได้เห็น การที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เมื่อไปเจอเหตุการณ์บางอย่างที่น่าฉุกคิด อาทิ เรื่องกฎหมายและเรื่องศีลธรรม จึงเริ่มคิดว่าทำไมตอนเป็นเด็ก เรื่องความดี คุณธรรม เป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายไม่มีความซับซ้อน แต่พอโตขึ้นกลับไม่ใช่เช่นนั้น บางเรื่องกลับไม่สามารถตัดสินด้วยมาตรฐานเฉกเช่นเดียวกับสมัยยังเป็นเด็กไม่ได้ 

อีกทั้งภาพที่นำเสนอมานั้นยังสื่อให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบของคุณธรรม โดยเอามาเปรียบเทียบกับความไม่สมบูรณ์แบบของจิตรกรรม เพราะว่าทั้งสองสิ่งต่างเคลื่อนที่ไปตามสังคมและยุคสมัย มีมาตรฐานที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ดังเช่นที่เหตุการณ์บางอย่างเรารู้ได้ด้วยจิตสำนึกหรือสัญชาตญาณว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้องและไม่ดี แต่เหตุผลของสังคมสามารถทำให้กลับกลายเป็นเรื่องดีขึ้นมาได้ ดังนั้น ความถูกต้องบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลหรือบริบทแวดล้อม ซึ่งเหตุผลดังกล่าวนั้นอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไปเช่นกัน”

ด้าน นายชัยชนะ ลือตระกูล เจ้าของผลงาน “Decommissioned No.4” สามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2 เล่าว่า “ผลงานชิ้นนี้เป็นจิตรกรรมการสร้างสรรค์แนวใหม่บนพื้นที่ไม่มีอยู่จริง มีความก้ำกึ่งระหว่างงานเหมือนจริงกับเหนือจริง ผสมผสานเทคนิคการวาดเส้นระหว่างภาพทิวทัศน์ (Landscape) และหุ่นนิ่ง (Still Life) ไว้ด้วยกัน ถ่ายถอดถึงแนวความคิดที่ทำนายถึงอนาคตอันไม่ไกลนัก ในวันที่เหล่าเศษซากสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกส่งออกไปปฏิบัติการนอกโลกจำนวนมหาศาล และถูกปลดระหว่างกระจัดกระจายปกคลุมชั้นบรรยากาศจนทึบแน่น โลกตัดตัดขาดการเชื่อมต่อและการแลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่นในจักรวาล สะท้อนถึงสภาพสังคมของมนุษย์ในปัจจุบัน ที่แสดงถึงเรื่องระบบความล้มเหลว ความเสื่อมสภาพ จากสิ่งของที่เคยเป็นนวัตกรรม มีพลัง มีคุณค่า มีประโยชน์ กลับกลายเป็นเศษซาก ภาระ จึงเกิดการตั้งคำถามว่าใครจะรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้ การที่มนุษย์สร้างนวัตกรรมผลผลิต จนเกิดเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นความเจริญ เปรียบเหมือนอนุสาวรีย์บอกถึงความสำเร็จ แต่วันหนึ่งความสำเร็จเหล่านี้กลายสภาพไปเป็นเศษซากขยะเต็มไปหมด กลายเป็นของไม่มีคุณค่า ในขณะเดียวกันก็เกิดเป็นคำถามปลายเปิดที่ว่า ใครจะเป็นคนที่รับผิดชอบ? มนุษย์หรือไม่? เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น แล้วจะช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างไร?”

และอีกหนึ่งผลงานของนางสาวณัฐกานต์ เจริญเชาว์ กับผลงาน “ความงามในความผูกพัน” ซึ่งคว้ารางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2  เล่าว่า “ภาพวาดใช้เทคนิคสีอะครีลิคบนเฟรมผ้าใบ เป็นการสร้างสรรค์แนวรูปแบบจิตรกรรมกึ่งนามธรรม โดยผสมผสานภาพลักษณ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงที่เป็นแมวกับสุนัข โดยเน้นใช้ใบหน้าสื่ออารมณ์ออกมาในเชิงบวก เพื่อสะท้อนถึงสุนทรียภาพแห่งความสุข ความรัก และความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงทั้ง 2 ชนิดในสังคมไทย ที่มีสายใยเชื่อมระหว่างกันมายาวนาน จากเมื่อก่อนเราเลี้ยงสัตว์เพื่อไว้ใช้งาน เพื่อความเพลิดเพลิน แต่ปัจจุบันจุดประสงค์การเลี้ยงสัตว์ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและกระแสของสังคม ดังจะเห็นว่ามนุษย์นำแมวและสุนัขมาเลี้ยงเสมือนเป็นลูกคนหนึ่ง ให้ความรัก ดูแลใส่ใจอย่างดี คอยหาข้าวหาน้ำให้กิน ซื้อเสื้อผ้าให้ใส่ ตอนเจ็บป่วยก็พาไปรักษา ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะมนุษย์รู้สึกว่าสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ มีความซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ เป็นเพื่อนที่ดีต่อมนุษย์ และสุนัขกับแมวก็เป็นสัตว์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมมนุษย์ได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย” 

สำหรับคอศิลปะที่อยากไปชมงานศิลป์ดีๆ สามารถเข้าชมงานแสดงนิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 21 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.02 282-8525 เปิดให้ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ที่มา : www.panasonic.com วันที่ : 21 สิงหาคม 2562

2,969
อ่าน

แบ่งปันบทความ

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไฮไลท์ข่าว

หมวดข่าว

None AMP version