www.siamphone.com
เทคโนโลยี (Technology) | วันที่ : 27 มิถุนายน 2563
ลองคิดดูสิว่า หากเราสามารถสร้าง “ดวงอาทิตย์จำลอง” ขึ้นบนโลกได้จะเป็นอย่างไร? นี่อาจจะฟังดูเหมือนเรื่องเพ้อฝัน แต่ความจริงโครงการนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแล้ว โดยอาศัยพลังงาน ฟิวชัน (Fusion Power) ซึ่งเป็นรูปแบบพลังงานที่หลายคนเชื่อว่าเป็นคำตอบของทั้งปัญหาด้านพลังงานและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ปัจจุบัน โครงการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ทดลอง อย่างโครงการ ITER (มีความหมายว่า "เส้นทาง หรือ การเดินทาง" ในภาษาละติน) และโครงการ JT-60SA (Super Advanced) กำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้าง ด้วยความร่วมมือระดับนานาชาติ ซึ่งมีหลายประเทศมหาอำนาจ รวมถึงประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย
ฟิวชัน ถือว่าเป็น “พลังงานในฝัน” เพราะมันเป็นขุมทรัพย์พลังงานขนาดใหญ่ที่ไม่เพียงปลอดภัย แต่ยังปราศจากการปล่อยคาร์บอน ในบทความนี้ เราจะพาไปรู้จักกับพลังงานฟิวชัน และเรียนรู้ถึงความน่าสนใจของโครงการแห่งอนาคตนี้
แหล่งพลังงานประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่มีวันหมด : พลังงานฟิวชันทำงานอย่างไร?
สรุปคือ การสร้างปฏิกิริยาฟิวชันที่เกิดขึ้นภายในดาวฤกษ์และดวงอาทิตย์ขึ้นมาใหม่บนโลก โดยเราได้สัมภาษณ์ นายทาคุมะ วาคาสึกิ นักวิจัยด้านฟิวชัน แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมและรังสีแห่งชาติ (QST) และขอให้เขาช่วยอธิบายคอนเซ็ปต์นี้ในแบบที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้
“ทุกสิ่งในจักรวาลนี้ล้วนประกอบขึ้นด้วยอะตอม และอะตอมก็ประกอบขึ้นด้วยนิวเคลียสและอิเล็กตรอน เมื่อนิวเคลียสเหล่านี้ปะทะกันด้วยความเร็วสูง มันจะรวมตัวกันเป็นอะตอมที่หนักขึ้น ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า ฟิวชัน นายทาคุมะ วาคาสึกิ อธิบาย คุณอาจจะไม่คุ้นเคยกับกระบวนการที่ว่านี้ แต่เราทุกคนล้วนได้รับประโยชน์จากแหล่งพลังงานที่สร้างขึ้นจากกระบวนการฟิวชัน เป็นแหล่งพลังงานที่มอบแสงสว่างให้เราในทุก ๆ วัน ซึ่งก็คือ ดวงอาทิตย์ นั่นเอง ปฏิกิริยาฟิวชันที่เกิดขึ้นระหว่างนิวเคลียสไฮโดรเจนของดวงอาทิตย์คือต้นกำเนิดของความร้อน และแสงสว่างที่มนุษย์เราได้รับในทุก ๆ วัน
อย่างที่เราเห็นได้จากดวงอาทิตย์ว่า ฟิวชันสามารถผลิตพลังงานความร้อนได้มหาศาลเพียงใด จนสามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าและพลังงาน โดยแหล่งเชื้อเพลิงของฟิวชันคือ ดิวเทอเรียม และทริเทียม ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจน ด้วยปริมาณเชื้อเพลิงเพียง 1 กรัม ฟิวชันสามารถผลิตพลังงานได้เทียบเท่ากับการเผาไหม้ปิโตรเลียมถึง 8 ตัน แม้ว่าปัจจุบันเราจะมีวิธีการมากมายในการผลิตพลังงาน แต่มีเพียงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิมและฟิวชันเท่านั้นที่สามารถผลิตพลังงานในปริมาณมหาศาลได้จากเชื้อเพลิงปริมาณเล็กน้อย” นายวาคาสึกิ กล่าว
ความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด ตั้งแต่การเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล แต่ในทางตรงกันข้าม พลังงานฟิวชันมีความปลอดภัยสูงมาก
“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิมจะใช้พลังงานความร้อนซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาฟิชชัน (Fission) โดยการนำเชื้อเพลิงปริมาณมหาศาล (มูลค่าเทียบเท่าปริมาณการใช้เชื้อเพลิงหลายปี) มาจัดเก็บในเครื่องปฏิกรณ์และใช้แท่งควบคุมมาควบคุมอัตราการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ ดังนั้น พลังงานจึงจะถูกผลิตขึ้นจากการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงทีละเล็กละน้อยไปเรื่อย ๆ
ในขณะที่เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันต้องการเชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการรักษาปฏิกิริยาฟิวชัน หากการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหยุดลงปฏิกิริยาฟิวชันก็จะหยุดลงเช่นกัน และแม้ว่าเราจะนำเชื้อเพลิงจำนวนมากมากักเก็บในเครื่องปฏิกรณ์ แต่เชื้อเพลิงเองก็จะทำให้ พลาสมา* เย็นลง ซึ่งจะไปหยุดการเกิดปฏิกิริยาฟิวชันโดยอัตโนมัติ ด้วยรูปแบบการทำงานของฟิวชันนี้เอง จึงทำให้ไม่มีทางที่จะเกิดปฏิกิริยาที่อยู่นอกเหนือการควบคุม” นายวาคาสึกิ กล่าว
พลาสมา คือสถานะทางกายภาพที่ 4 ของสสาร นอกเหนือจากสถานะของแข็ง ของเหลว และก๊าซ โดยทั่วไป สสารจะสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นพลาสมาได้ที่อุณหภูมิหลายพันองศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น (เนื่องจาก ต้องมีพลังงานที่มากพอที่จะสามารถแยกอิเล็กตรอนออกจากอะตอมได้) เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันจึงต้องมีความสามารถที่จะสร้างพลาสมาที่อุณหภูมิสูงกว่า 100 ล้านองศาเซลเซียส และสามารถบรรจุ (รักษา) พลาสมาไว้โดยไม่สัมผัสกับของแข็ง เช่น ตัวถังเครื่องปฏิกรณ์ ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ฟิวชันไม่ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีระดับสูงใด ๆ (ขณะที่ ฟิชชันก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีระดับสูง) จึงถือเป็นกระบวนการที่ “สะอาด” ทั้งยังไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อีกด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ ดิวเทอเรียม หนึ่งในแหล่งเชื้อเพลิงของฟิวชัน สามารถสร้างขึ้นได้จากการแยกธาตุประกอบของน้ำด้วยไฟฟ้า นั่นหมายความว่ามันแทบจะไม่มีวันหมด และแม้ว่า ทริเทียม ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอีกตัวของฟิวชันจะต้องสกัดขึ้นจากธรรมชาติ นักวิจัยต่างเชื่อว่ามันเป็นไปได้ที่จะประดิษฐ์ทริเทียมขึ้นในเครื่องปฏิกรณ์ ดังนั้น ในทางทฤษฎี เราจึงไม่ต้องกังวลอะไรในส่วนของอุปทาน
เหล่าอเวนเจอร์สแห่งโลกพลังงาน 7 ประเทศสมาชิกในโครงการ ITER
แหล่งพลังงานประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่มีวันหมด มันราวกับฝันที่เป็นจริง แล้วเหตุใดความฝันนี้จึงยังนำมาใช้งานจริงไม่ได้สักที?
เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชัน เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ซับซ้อนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดที่เคยถูกสร้างขึ้นโดยมวลมนุษยชาติ การพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ – ซึ่งกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ – จึงต้องอาศัยการผสานรวมของสุดยอดเทคโนโลยีล้ำสมัยแห่งยุค ตัวอย่างเช่น ในการผลิตฟิวชัน เริ่มแรก เราจะต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้เป็นพลาสมา โดยแยกอิเล็กตรอนออกจากนิวเคลียส ซึ่งพลาสมานี้จะต้องถูกสร้างขึ้นในสภาวะสุญญากาศด้วยความร้อนสูงกว่า 100 ล้านองศาเซลเซียส จากนั้น พลาสมาจะต้องถูกกักเก็บและควบคุมอยู่ภายในเครื่องปฏิกรณ์โดยใช้สนามแม่เหล็กที่ทรงประสิทธิภาพ และการสร้างสนามแม่เหล็กที่ทรงประสิทธิภาพนี้ เราจำเป็นต้องใช้ขดลวดตัวนำยิ่งยวด (Superconducting Coils)
องค์ประกอบที่ใช้ในเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันนั้นมีปริมาณมหาศาลมาก แต่ทุกองค์ประกอบล้วนต้องมีมิติความคลาดเคลื่อนต่ำมากเพียงไม่กี่มิลลิเมตร อีกนัยหนึ่งจึงกล่าวได้ว่า เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันคือการรวมตัวของบรรดาสุดยอดเทคโนโลยีล้ำสมัยแห่งยุค
โดยในปัจจุบัน มีโครงการระดับโลกที่กำลังสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันขึ้นมาจริง ในชื่อ ITER (มีความหมายว่า "เส้นทาง หรือ การเดินทาง" ในภาษาละติน) ประกอบด้วย 7 ประเทศสมาชิก (ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป รัสเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลี จีน และอินเดีย) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเหล่า อเวนเจอร์สแห่งโลกพลังงาน ที่กำลังทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ทดลองที่เมือง แซ็งต์-ปอลเลซ-ดูร็องส์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส
ประเทศญี่ปุ่นรับผิดชอบในส่วนของการพัฒนาและประกอบขดลวดตัวนำยิ่งยวด เพื่อนำมาใช้สร้างสนามแม่เหล็กที่ทรงประสิทธิภาพในการกักเก็บพลาสมา ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการผลิตฟิวชัน เราได้พูดคุยกับ นายคาจิทานิ จากสถาบัน QST และ นายอิชิอิ จากบริษัท โตชิบา เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเต็มส์ แอนด์ โซลูชัน คอร์ปอเรชั่น เกี่ยวกับโครงการระดับโลกนี้
“ในโครงการ ITER สมาชิกแต่ละประเทศมีบทบาทของตัวเองในการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นในการสร้างเครื่อง ITER โดยในขณะนี้ เรากำลังพัฒนาและดำเนินการผลิตองค์ประกอบเพื่อเตรียมพร้อมในการเริ่มดำเนินการสร้างพลาสมาครั้งแรกภายในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกับโตชิบาในการผลิตขดลวดตัวนำยิ่งยวด โดยเฉพาะขดลวด Toroidal Field (ขดลวด TF) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชัน ขดลวด TF ที่ว่านี้มีโครงสร้างขนาดใหญ่ สูง 16.5 เมตร กว้าง 9 เมตร และมีน้ำหนักกว่า 300 ตัน อีกทั้งยังต้องมีมิติความคลาดเคลื่อนต่ำมากเพียงไม่กี่มิลลิเมตร ขั้นตอนการผลิตจึงเป็นกระบวนการที่มีหลายแง่มุมที่ต้องคำนึงถึง และในแต่ละขั้นตอนก็มีความซับซ้อนสูงมาก อย่างตัวนำไนโอเบียมดีบุกที่ใช้ในขดลวด ที่ต้องใช้เวลากว่าร้อยชั่วโมงในการทำความร้อนที่ 650 องศาเซลเซียสเพื่อให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน” นายคาจิทานิ กล่าว
“โตชิบามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 โดยเราเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ขั้นตอนร่างแบบ และยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการออกแบบและประดิษฐ์เทคโนโลยีต่าง ๆ เราได้จับมือกับสถาบัน QST ในการสร้างอุปกรณ์ฟิวชัน JT-60 (เครื่องทดสอบ Breakeven Plasma) รวมถึงอุปกรณ์รุ่นต่อมา คือ JT-60SA (Super Advanced) และในตอนนี้ เราก็กำลังปรับปรุงเทคโนโลยีตัวนำยิ่งยวดที่เราได้พัฒนาขึ้น พร้อมกันนั้น เรายังทำการปรับแต่งการรักษาความร้อนแม่นยำสูงสำหรับตัวนำในขดลวด TF เพื่อใช้สำหรับโครงการ ITER ปรับจูนความแม่นยำในขั้นตอนการวัดสำหรับโครงสร้างขนาดใหญ่ และพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรของเราไปด้วย” นายอิชิอิ กล่าว
นี่เป็นสาขาการพัฒนาใหม่ที่รวมศาสตร์ทางฟิสิกส์และวิศวกรรมเข้ากับการผลิต การประกอบขดลวด TF เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แม้ว่าขดลวดตัวนำยิ่งยวดจะถูกนำมาใช้งานในอุปกรณ์หลากหลายชนิดแล้ว อย่างเช่น ตัวเร่ง แต่มันยังไม่เคยถูกนำมาใช้งานกับอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่และต้องการความแม่นยำในระดับนี้
“ในการผลิตขดลวด TF เราจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความรู้เกี่ยวกับตัวนำยิ่งยวด วิศวกรรมไฟฟ้า และแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับขดลวด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงมากพอตามที่ ITER ต้องการ ความรู้พลศาสตร์ของไหลและอุณหพลศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะของเหลวของสารหล่อเย็นภายในขดลวด ส่วนในด้านการผลิต ก็จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมวัสดุประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระบวนการประกอบนั้นต้องใช้เทคโนโลยีเครื่องจักร และการเชื่อมขั้นสูง ผมคิดว่าขดลวด TF จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก ๆ ของโลก ที่ถูกสร้างขึ้นโดยการผสานเทคโนโลยีขั้นสูงในหลายสาขาขนาดนี้” นายคาจิทานิ บอก
เทคโนโลยีที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสร้างฝันพลังงานฟิวชันให้เป็นจริง
ความรับผิดชอบหนึ่งของ JT-60SA ภายใต้การพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป คือการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาโครงการ ITER โดย JT-60SA เป็นอุปกรณ์ฟิวชันทดลองรุ่นทายาทของ JT-60 ที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 และ JT-60U ในช่วงทศวรรษ 1980
พลังงานฟิวชัน จำเป็นจะต้องให้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนอยู่ในรูปของพลาสมา ซึ่งเป็นสถานะของสสารที่แตกตัวเป็นไอออน มีลักษณะคล้ายก๊าซ แต่การจะทำให้เกิดฟิวชันได้ พลาสมาจะต้องได้รับความร้อนสูงกว่า 100 ล้านองศาเซลเซียส อุปกรณ์ JT-60SA จะทำการควบคุมพลาสมาโดยใช้สนามแม่เหล็กซึ่งสร้างขึ้นจากตัวนำยิ่งยวด ภายใต้ความร้อนและแรงดันที่สูงมาก เพื่อจะสร้างสภาพแวดล้อมพลาสมาที่เหมาะสมสำหรับการวิจัยฟิวชัน
“มีตัวแปรสำคัญ 3 ส่วน ในการสกัดพลังงานจากฟิวชัน ได้แก่ อุณหภูมิ ความหนาแน่น และเวลาในการกักเก็บพลาสมา ณ ขณะนี้ เรากำลังพยายามหาวิธีเพิ่มความหนาแน่นของอนุภาคพลาสมา โดยในขณะเดียวกันก็ต้องเก็บรักษาพลาสมาไว้ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้น สำหรับโครงการ ITER ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของเราคือการสร้างการเผาไหม้ของพลาสมาโดยใช้ดิวเทอเรียมและทริเทียม การออกแบบ ITER จึงมาจากวิธีการทำงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความน่าเชื่อถือสูงในแง่ของตัวแปรที่สำคัญทั้งสามส่วน อย่างไรก็ตาม JT-60SA ได้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้เราสามารถดำเนินการทดลองที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการผลิตพลาสมาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย เราสามารถเพิ่มความดันของพลาสมาได้โดยอาศัยสนามแม่เหล็ก และยังสามารถทำการทดลองที่มีความหมายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ในอนาคต” นายวาคาสึกิ อธิบาย
การทดลองอุปกรณ์ JT-60SA จะเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2020 และหากการทดลองนี้ประสบความสำเร็จในการรักษาเสถียรภาพและการกักเก็บพลาสมา มันจะเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ ฟิวชันที่สามารถนำมาผลิตพลังงานได้ และแน่นอนว่า มันก็มีความคาดหวังที่สูงมาก ไม่เฉพาะต่อโครงการนานาชาติอย่าง ITER เท่านั้น แต่รวมถึงงานวิจัยที่ล้ำสมัยเช่นกัน
แน่นอนว่า งานวิจัยขั้นสูงสำหรับ JT-60SA นั้นจะช่วยผลักดันให้การสร้าง ITER ที่ได้กำหนดไว้ว่าจะเริ่มดำเนินการในปี ค.ศ. 2025 ให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ ยังมีแผนงาน Roadmap หลังจากนั้นต่อไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ต้นแบบ “DEMO” ที่สามารถผลิตพลังงานด้วยฟิวชัน และเครื่องปฏิกรณ์เชิงพาณิชย์ที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่าน Power Grid ได้ โดยผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสามท่าน ซึ่งทำงานอยู่ในแนวหน้าของโครงการการพัฒนานี้ ล้วนเน้นย้ำถึงความสำคัญในระยะยาวว่า เทคโนโลยีฟิวชันจะถูกส่งต่อสู่คนรุ่นต่อไปได้อย่างไร
“ในเวลานี้ ฟิวชันไม่ใช่แค่เรื่องฝันเฟื่องอีกต่อไป แต่เป็นเทคโนโลยีที่เรามองเห็นแล้วว่าสามารถใช้งานได้ในโลกจริง ๆ แต่ ณ ตอนนี้ กว่ามันจะถูกนำมาใช้สร้างกระแสไฟฟ้าได้จริงก็น่าจะเป็นช่วงกลางศตวรรษที่ 21 หรือราว ๆ ปี ค.ศ. 2050 ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ที่จะทำให้การวิจัยนี้เป็นจริงได้เร็วยิ่งขึ้น ก็คือ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มันจึงเป็นความหวังในใจของผมว่าเราจะมีคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความกระตือรือร้น มาช่วยเราผลักดันโครงการที่จะเปลี่ยนโลกนี้ให้ก้าวต่อไป” นายวาคาสึกิ กล่าว
“ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาทำงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างแหล่งพลังงานในอนาคต และผู้ที่ต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อนำไปต่อยอดในการทำงานด้านอื่น ๆ ต่อ ที่โตชิบา เรามีนักวิจัยและวิศวกรจำนวนมากที่ได้อุทิศชีวิตให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน เราจึงหวังว่าจะสามารถสานต่อมรดกจากความทุ่มเทของพวกเขาผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยทำให้ฟิวชันเป็นโครงการที่ยืนยาวและหยั่งรากลึกในองค์กรของเรา” นายอิชิอิ กล่าว
“ขณะนี้ เรากำลังร่วมมือกับโรงงานผู้ผลิตในการสร้างขดลวด TF และกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งมอบขดลวด TF ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2021 แต่แน่นอนว่า ขั้นตอนที่มีความหมายจริง ๆ คือหลังจากนั้น โตชิบามีพนักงานรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีโอกาสได้ลงพื้นที่ทำงาน และมีความมุ่งมั่นที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสายการผลิต เพื่อสืบทอดและสานต่อสุดยอดเทคโนโลยีล้ำสมัยแห่งยุคทั้งหลาย โครงการ ITER ถือว่าเป็นโครงการระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ คุณจะไม่มีทางหาประสบการณ์แบบนี้ที่ไหนได้อีก มันเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก ผมจึงอยากขอให้พนักงานรุ่นใหม่ของเรานำประสบการณ์ที่มีค่าที่ได้รับจากโครงการ ITER ไปใช้ประโยชน์ในอนาคต ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันของพวกเรา ทั้งที่ QST และที่โตชิบา รวมถึงความรู้ทั้งหลายที่ได้รับจากความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนาในอนาคต หลังการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ทดลอง “DEMO” สำเร็จ” นายคาจิทานิ กล่าว
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บรรดางานวิจัยและการทดลองทั้งหลายภายใต้โครงการ ITER และ JT-60SA จะส่งผลให้เกิดความสำเร็จ ความหวังใหม่ และความฝันใหม่ขึ้นอีกมากมาย และที่ปลายทาง ณ เส้นขอบฟ้า จากความมุ่งมั่นและทุ่มเทของเหล่านักวิจัยและวิศวกรจำนวนมาก คือ แหล่งพลังงานใหม่ ที่อาจเป็นตัวกำหนดโชคชะตาของมวลมนุษยชาติต่อไปในอนาคต
วันที่ : 27 มิถุนายน 2563
iQOO 13 5G ขุมพลัง Snapdragon 8 Elite แบต 6150mAh รองรับ 120W FlashCharge พร้อม Bypass Charging27 นาทีที่แล้ว
รีวิว HONOR 200 Smart 5G คุ้มค่าเกินราคา สุดยอดสมาร์ทโฟนสำหรับคนชอบลุย5 ชั่วโมงที่แล้ว
Sonos จัดเต็มส่งท้ายปีกับโปรโมชั่น 12.12 ให้คุณช้อปฟินด้วยส่วนลดสูงสุดกว่า 30%11 ธ.ค. 67 07:00
Infinix ปล่อยเซอร์ไพรส์ HOT 50 Pro+ Series สีสันพิเศษ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุข10 ธ.ค. 67 21:41
เตรียมเปิดตัว HUAWEI MatePad 12 X แท็บเล็ตฟังก์ชันเรือธง ผสานการทำงานกับอุปกรณ์เสริมอย่างไร้รอยต่อ10 ธ.ค. 67 19:29
Samsung Galaxy S25 Series สรุปข่าวลือล่าสุดก่อนเปิดตัวต้นปี 2025
Samsung Galaxy S25 Slim สุดยอดกล้องระดับไฮเอนด์ในตัวเครื่องที่บางเฉียบ
Samsung Galaxy A16 จอ FHD+ Super AMOLED ใหญ่ชัดเสมือนจริง กล้อง Triple camera แบตยาวนานขึ้น
MacBook Air จอ OLED เลื่อนเปิดตัวอีกแล้ว! ทำไมถึงเป็นแบบนี้?
Samsung ปล่อยอัปเดตความปลอดภัยฉุกเฉิน ปิดช่องโหว่กว่า 50 รายการใน Galaxy S23 และ S24 ซีรีส์
ทำความรู้จัก TECNO SPARK 30C หน้าจอ 120Hz ทนน้ำทนฝุ่น IP54 ลำโพงสเตอริโอ มีชาร์จเร็ว
iQOO 13 5G ขุมพลัง Snapdragon 8 Elite แบต 6150mAh รองรับ 120W FlashCharge พร้อม Bypass Charging
OPPO Find X8 Series สมาร์ทโฟนแฟลกชิปพลัง AI ซูมไกล 120 เท่า ด้วย AI Telescope Zoom
OPPO Enco Air4 และ OPPO Pad 3 Pro คู่หูอุปกรณ์ IoT สุดล้ำที่พร้อมตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์
Motorola ก้าวสู่ยุคใหม่แห่ง AI ด้วย Moto AI และ Smart Connect