แก็ดเจ็ต (Gadget)  |   วันที่ : 1 ตุลาคม 2557

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เราเข้าสู่ยุคคลาวด์แล้วจริงๆ ดังจะเห็นได้จากการที่องค์กรทั่วโลกใช้หรือกำลังจะใช้ระบบคลาวด์ การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในสามปีข้างหน้าเกือบครึ่งของบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหมดจะใช้ระบบไฮบริดคลาวด์


การใช้งานระบบคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคลาวด์โดดเด่นด้วยประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และมีความยืดหยุ่นในการปรับขนาดการทำงาน เช่นเดียวกับการที่องค์กรใหญ่ๆ หันมาใช้คลาวด์ในการทำงานในทุกส่วนขององค์กร อย่างไรก็ตาม การเดินทางสู่คลาวด์ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องก้าวสู่ขั้นตอนที่ทำให้การเคลื่อนย้ายการทำงานต่างๆ ไปยังคลาวด์เป็นไปอย่างราบรื่นและสมบูรณ์แบบ

ข้อมูลจาก 2013 TheInfoPro Cloud Computing Study ซึ่งรวบรวมจากงานวิจัย 451 รายการ พบว่า ร้อยละ 83 ขององค์กรในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปให้ข้อมูลว่า พวกเขาได้เผชิญกับ “อุปสรรคสำคัญ” ในการเคลื่อนย้ายการทำงานไปสู่คลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 9 เปอร์เซ็นต์จากผลวิจัยปีที่ผ่านมา ผลวิจัยอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ จริงๆ แล้วอุปสรรคด้านเทคนิคไอทีต่างๆ ลดลง แต่ในขณะเดียวกันความท้าทายในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับไอทีกลับมากขึ้น เช่น “คน กระบวนการทำงาน การเมืองภายในองค์กรและปัญหาอื่นๆ ภายในองค์กร” ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องมีการทำงานประสานกันทั้งองค์กรเพื่อขจัดความท้าทายเหล่านี้

ในขณะที่เส้นทางสู่การนำระบบคลาวด์มาใช้อาจเป็นสิ่งท้าทายสำหรับบางองค์กร เรดแฮทนำเสนอสี่แนวทางที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ (ซีไอโอ) ควรทราบเพื่อทำให้กระบวนการเดินทางสู่การใช้งานคลาวด์เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

รู้ว่าองค์กรต้องการอะไรจากการนำคลาวด์มาใช้

องค์กรของเราจะต้องเริ่มนำระบบคลาวด์มาใช้งานแล้ว เพราะองค์กรอื่นๆ ก็ทำกัน ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีสำหรับองค์กรในการตัดสินใจใช้คลาวด์

ทุกองค์กรมีความแตกต่างกัน และคลาวด์สามารถสร้างประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญให้กับทุกองค์กรได้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องรู้ให้ได้ว่าความต้องการของธุรกิจหลักขององค์กรของคุณคืออะไร และจะใช้เทคโนโลยีคลาวด์กับส่วนไหนบ้าง ซีไอโอต้องมีความคิดที่ชัดเจนว่าจะใช้คลาวด์ทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ รวมทั้งควรดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาร่วมกระบวนการตัดสินใจในขั้นตอนต่างๆ เพื่อบริหารจัดการความคาดหวังของทุกคน และให้ทุกคนมีข้อมูลตรงกัน รับรู้เหมือนๆ กัน


เลือกแพลตฟอร์มคลาวด์ที่เหมาะสม

คลาวด์มีทางเลือกให้คุณมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไฮบริดคลาวด์ คลาวด์สาธารณะ หรือไพรเวทคลาวด์ เพียงแค่คุณต้องรู้ว่าคุณจะ “เลือกใช้ระบบคลาวด์แบบใด”

คำถามว่า บริษัทฯ เราควร “เลือกใช้คลาวด์แบบใด” ควรเป็นหนึ่งในหลายๆ คำถามที่คุณต้องตอบให้ได้ในขั้นตอนแรก คลาวด์แต่ละประเภทมีข้อดีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเลือกใช้รูปแบบคลาวด์ที่เหมาะกับองค์กรคุณมากที่สุดขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะการดำเนินงานขององค์กรด้วย

สิ่งที่ต้องพิจารณาในส่วนขององค์กร เช่น บริษัทของคุณมีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเป็นปัญหาหรือเปล่า คุณกำลังมองหาความสะดวกและความง่ายในการใช้งานใช่หรือไม่ หรือคุณมีความกังวลมากเกี่ยวกับอำนาจในการควบคุมและกำกับดูแลหรือเปล่า คุณต้องแน่ใจว่าคุณกำลังมองหาอะไรก่อนที่จะลงมือเคลื่อนย้ายไปยังระบบคลาวด์

พิจารณาด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง

การที่ธุรกิจต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความปลอดภัยมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อจะใช้ระบบคลาวด์ แม้คลาวด์มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ก็อาจเกิดปัญหาข้อมูลรั่วไหลได้ อย่างไรก็ตามการมีมาตรการที่เหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงต่างๆ ได้

ผู้ให้บริการคลาวด์ตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัย และได้เสริมบริการต่างๆ ของพวกเขาให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยลง แต่องค์กรก็ยังต้องใช้ความพยายามของตัวเองด้วยเหมือนกัน นโยบายความปลอดภัยด้านไอทีควรครอบคลุมถึงระบบคลาวด์ด้วย และให้ทีมไอทีได้เข้ามาร่วมทำงานเพื่อพิจารณาวิเคราะห์และแก้ไขความเสี่ยงที่องค์กรอาจเผชิญในขณะที่กำลังย้ายไปใช้งานระบบคลาวด์

สรรหาคนให้เหมาะกับงาน

บางทีก็ดูน่าเชื่อว่าองค์กรของคุณมีพนักงานที่มีความสามารถที่จำเป็นต้องใช้ในการสนับสนุนการใช้งานคลาวด์อยู่แล้ว แต่การที่องค์กรตัดสินใจไปใช้คลาวด์เป็นงานที่ซับซ้อน ซึ่งคุณไม่สามารถพึ่งพาพนักงานไอทีทั่วไปให้เป็นผู้นำกระบวนการได้ การเพิ่มขึ้นของคลาวด์คอมพิวติ้งเป็นการชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันมีผู้ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและมีคุณสมบัติที่จะแก้ปัญหาด้านเทคโนโลยีได้ ดังนั้นคุณต้องมั่นใจว่าคุณมีผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ไว้ในทีมงาน ไม่ว่าเขาจะเป็นพนักงานขององค์กรหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกก็ตาม

การมีบุคลากรที่เหมาะสมอยู่ในทีมงาน จะทำให้คุณสามารถวางแผนย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ได้อย่างไร้ข้อกังวล

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

ที่มา : www.redhat.com วันที่ : 1 ตุลาคม 2557

มือถือออกใหม่