แก็ดเจ็ต (Gadget)  |   วันที่ : 18 กุมภาพันธ์ 2558

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินหน้าผลักดันการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีในประเทศไทยขานรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการเปิดศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ หรือ Microsoft Innovation Center (MIC) ขึ้น ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ ณ สวทช. แห่งนี้ นับเป็นหนึ่งใน 113 ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ที่ตั้งอยู่ทั่วโลก โดยมุ่งให้บริการทรัพยากรและความช่วยเหลือด้านไอทีระดับโลก สำหรับนักเรียนนักศึกษา ผู้ประกอบการ และ สตาร์ทอัพ ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมทักษะการเขียนแอพพลิเคชั่นให้กับนักศึกษา การจับคู่ธุรกิจ และให้คำปรึกษาในการเป็นผู้ประกอบการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเร่งอัตราการเกิดของบริษัทและการสร้างงานแรงงานไอทีที่มีคุณภาพ อันนำมาซึ่งการขยายตัวของระบบนิเวศไอทีของประเทศไทยในอนาคต ที่คาดว่าจะมีเงินลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 10.5 จากปี 2557 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 3.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2558 ทั้งนี้ ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ ในประเทศไทย ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2551 ด้วยความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์ สวทช. สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และศูนย์ศึกษาสาทรธานี มหาวิทยาลัยรังสิต โดยปัจจุบัน ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์แห่งนี้ ได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ สำนักงานของ สวทช. ณ ซอยโยธี ถนนพระราม 6

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ (Digital Economy Promotion) รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการพัฒนาทักษะไอทีให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและส่งเสริมการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ โดยเฉพาะในหมู่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบกับการร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน นับตั้งแต่ปี 2551 เราได้ทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์ ในการสร้างอนาคตดิจิทัลของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของทั้งสององค์กร ประเทศไทยเองกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่เทคโนโลยีจะสามารถช่วยสร้างรายได้และเพิ่มการขยายตัวให้กับจีดีพีของประเทศไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อเอสเอ็มอีของไทย ได้รับแรงสนับสนุนทางเทคโนโลยีและเครื่องมืออย่างเต็มที่ จะสามารถแข่งขันกับบริษัทที่ใหญ่กว่าได้ในตลาดโลก”

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “สวทช. เล็งเห็นความสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างสองหน่วยงานให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและสร้างระบบนิเวศไอทีของประเทศไทยให้แข็งแกร่งและพร้อมสำหรับการแข่งขันมากขึ้น สวทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีและโครงการระดับโลกต่างๆ ของไมโครซอฟท์ มาช่วยพัฒนาบุคลากรไทยในอุตสาหกรรมไอทีของประเทศไทย โดยบทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งในการร่วมมือกันในครั้งนี้ คือ การฝึกอบรมเทคโนโลยีระดับโลกล่าสุด (Skills Development) ให้กับบุคลากรของ NSTDA Academy มีการนำงานวิจัยของ NECTEC มาต่อยอดพัฒนาออกมาเป็นแอพพลิเคชั่น เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานในวงกว้าง (Application Development) โดยเฉพาะเมื่อเราได้เข้าสู่ยุคในยุคของโมบายและคลาวด์ และการร่วมมือกับ SOFTWARE PARK ในการการพัฒนาระบบนิเวศไอที (Ecosystem Development) บ่มเพาะและสนับสนุนผู้ประกอบรายใหม่ ด้านซอฟต์แวร์และเงินทุน ผ่านการสนับสนุนของโครงการอย่าง ไมโครซอฟท์ บิซสปาร์ค และ ไมโครซอฟท์ เวนเจอร์ เป็นต้น”

นายฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยวิสัยทัศน์ ‘We Make 70 Million Lives Better’ ในวันนี้ ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศไอทีของประเทศไทย ผ่านการพัฒนาทักษะ ส่งเสริมนวัตกรรม และมอบโอกาสการเข้าถึงเครื่องมือและโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ จากความเชี่ยวชาญระดับโลกของเรา ไมโครซอฟท์เชื่อว่าศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมระบบนิเวศไอทีที่จะกลายมาเป็นรากฐานของความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งไมโครซอฟท์มีความยินดีและพร้อมเป็นอย่างยิ่ง ที่จะร่วมมือกับ สวทช. เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล”

ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ร่วมสร้างการเติบโตให้กับระบบนิเวศไอทีไทย โดยตั้งแต่ปี 2551 ที่มีการเปิดศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ ได้มีการฝึกอบรมทักษะการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้กับนักเรียนกว่า 3,000 คน ด้วยหลักสูตรแบบมืออาชีพที่เปิดอบรมทุกปี เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้ฝึกงานจากการทำงานจริงในอุตสาหกรรมไอที โดยที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบวินโดวส์ โฟน และวินโดวส์ 8 ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วมากกว่า 1,000 แอพ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาแอพฯ ให้กับองค์กรที่มีชื่อเสียง อย่าง การบินไทย ปตท.เอสเอฟ ซีเนม่า และไทยรัฐ นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัพกว่า 50 ราย ที่เริ่มต้นจากศูนย์แห่งนี้ ทั้งยังมีนักพัฒนารุ่นใหม่อีกมากมายที่ได้รับการจ้างงานผ่านเครือข่ายของศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ มีบริษัทผู้พัฒนาระบบ (ISV) อีกมากกว่า 400 รายได้รับการสนับสนุน และโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการไมโครซอฟท์ บิซสปาร์ค (Microsoft BizSpark) สตาร์ทอัพวีคเอนด์ และการแข่งขันเทคโนโลยีสำหรับนักศึกษาอย่าง อิมเมจิ้นคัพ (Imagine Cup)

นายอานนท์ บุณยประเวศ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Tech Farm จำกัด สตาร์ทอัพไทยดาวรุ่ง ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของนักศึกษาซึ่งผ่านการฝึกงานที่ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของเราคือความชื่นชอบในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่นำเราเข้าสู่เส้นทางที่ท้าทายและก้าวมาไกลถึงวันนี้ การได้เราได้เริ่มฝึกงานที่ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ นอกจากเราจะได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง และได้เริ่มต้นพัฒนาแอพลิเคชั่น Len-din (เล่นดิน) ขึ้นแล้ว ที่นี่ยังแนะนำให้เราได้รู้จักโครงการอิมเมจิ้นคัพ ซึ่งเราได้ใช้โอกาสนี้เพื่อพัฒนาแอพ Len-din อย่างต่อเนื่อง จากความสำเร็จบนเวทีอิมเมจิ้นคัพ นำมาสู่การก่อตั้ง Tech Farm ซึ่งยังได้รับการสนับสนุนจากโครงการไมโครซอฟท์ บิซสปาร์ค (Microsoft BizSpark) นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ ยังเชื่อมโยงเรากับโครงการไมโครซอฟท์ เวนเจอร์ (Microsoft Ventures) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาผลการสนับสนุนจากโครงการ”

นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่จ้างงานนักศึกษาซึ่งผ่านการฝึกงานกับศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ กล่าวว่า “จากมุมมองของผู้ว่าจ้างงาน แรงงานที่ได้รับการฝึกฝนมีความสำคัญต่อความยั่งยืนและการขยายตัวของธุรกิจ สำหรับในประเทศไทยแล้ว การสรรหาแรงงานรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีซึ่งมีประสบการณ์จริงในการพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นเรื่องที่ท้าทาย ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ได้เข้ามาช่วยจัดการปัญหานี้ด้วยหลักสูตรการฝึกงานที่เข้มข้น ซึ่งรวมเอาการฝึกปฏิบัติงานจริง และการเปิดรับเอาความรู้และทักษะทางเทคนิค การที่ได้ร่วมงานกับน้องๆ รุ่นใหม่จากศูนย์ฯ ทำให้ผมมั่นใจได้ว่าอนาคตของตลาดแรงงานไอทีในประเทศไทยจะต้องแข็งแกร่งขึ้น”

ด้วยสถานที่ตั้งแห่งใหม่ในสำนักงานของสวทช. ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ จะให้การสนับสนุนด้านผู้ฝึกสอนและความรู้แก่สถาบันวิทยาการ สวทช. (NSTDA Academy) พร้อมกับการสนับสนุนเทคโนโลยีการประมวลผลผ่าน Microsoft Azure แก่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรภายใต้ สวทช. ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ของ Microsoft Azure ที่เปิดกว้างและรองรับการใช้ภาษาโปรแกรมมิ่งเกือบทุกภาษา ทั้งยังมีคุณสมบัติการยืดหยุ่นจึงเหมาะสมต่อการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีของ NECTEC ไปใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ ยังทำงานร่วมกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย (Software Park) ของสวทช. นำไมโครซอฟท์ บิซสปาร์ค (Microsoft BizSpark) ซึ่งเป็น โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ไปใช้ เพื่อมอบการเข้าถึงเทคโนโลยีและความช่วยเหลือให้แก่สตาร์ทอัพ พร้อมช่วยให้บริษัทเหล่านั้นเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

ศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ ณ สวทช. มุ่งมั่นที่จะสานต่อพันธกิจของไมโครซอฟท์ในการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยังคงยึดมั่นในจรรยาบรรณที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลในระดับสูงสุดของผู้ใช้ และไม่มีการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ผ่านการสนับสนุนด้านเครื่องมือและทรัพยากรระดับโลก

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่