แก็ดเจ็ต (Gadget)  |   วันที่ : 19 มีนาคม 2558

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

บมจ. ล็อกซเล่ย์ ผนึก บีวายดี ออโต้ อินดัสตรี้ ประเทศจีน “เปิดตัวรถโดยสาร และรถยนต์นั่งไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์” ครั้งแรกในประเทศไทย ชูจุดเด่นขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ไร้มลพิษและประหยัดพลังงาน เผยโฉมพร้อมกัน 2 รุ่น คือ รถโดยสารไฟฟ้า รุ่น K9 ที่มีความยาว 12 ม. ด้วยขุมพลัง 250 แรงม้า ชาร์ตไฟ 5 ช.ม. วิ่งได้ 250 ก.ม. และรถยนต์นั่งไฟฟ้า รุ่น E6 ขนาด 5 ที่นั่ง 121 แรงม้า ชาร์ตไฟ 2 ช.ม. วิ่งได้ 300 ก.ม. มั่นใจแบรนด์ BYD มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการยานยนต์ไฟฟ้า เด่นด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่คุณภาพสูง เมื่อครบอายุการใช้งาน ไม่น้อยกว่า 15 ปี สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ตั้งเป้าปีแรกทั้ง 2 รุ่นไว้ 400 คัน เจาะกลุ่มเป้าหมาย องค์กรภาครัฐ และเอกชน อนาคตเล็งตั้งฐานการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแห่งแรกในไทย

ดร.โกศล สุรโกมล ที่ปรึกษา บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ล็อกซเล่ย์” เป็นผู้นำด้านธุรกิจการค้าและเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 76 ปี ด้วยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสภาวะโลกร้อน บริษัทฯ จึงได้ให้ความสำคัญด้านพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานเชื้อเพลิงจากสาหร่าย และพลังงานจากขยะ กับความคิดที่จะต่อยอดทางด้านยานยนตร์พลังงานทางเลือกใหม่ชนิดขับเคลื่อนจากพลังงานไฟฟ้า จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสตรี้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน “เปิดตัวรถโดยสาร และรถยนต์นั่งไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนำเข้ามาประเดิมตลาดก่อน 2 รุ่น ได้แก่ รถโดยสารไฟฟ้า รุ่น K9 และรถยนต์นั่งไฟฟ้า รุ่น E6

“บริษัทฯ ได้ศึกษาเรื่องการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ามาระยะหนึ่งแล้ว จนกระทั่งมั่นใจว่าตลาดในประเทศไทยพร้อมแล้วสำหรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า บริษัทฯจึงเลือกรถโดยสารและรถยนต์นั่งไฟฟ้าของบีวายดี เข้ามาบุกตลาดเป็น 2 รุ่นแรก เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ สมรรถนะและความปลอดภัยสูงของยานยนต์ไฟฟ้าบีวายดี อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ และยังช่วยประหยัดพลังงาน ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ มีค่าซ่อมบำรุงรักษาต่ำกว่ารถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไป ที่สำคัญแบตเตอรี่รถยนต์ หลังจากครบอายุการใช้งาน ไม่น้อยกว่า 15 ปี สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ใช้เป็นแบตเตอรี่สำรองต่างๆ ดังนั้นจึงไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน” ดร.โกศล กล่าว

สำหรับ รถโดยสารไฟฟ้า รุ่น K9 มาพร้อมกับขนาดความยาวถึง 12 เมตร เป็นรถโดยสารไฟฟ้าชานต่ำที่มีตัวถังรถทำจากอลูมิเนียมอัลลอยด์มีน้ำหนักเบา และไม่เป็นสนิม พร้อมระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับขนาด 180 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 250 แรงม้า ช่วงล่างมีระบบกันสะเทือนแบบถุงลม ใช้แบตเตอรี่ชนิด Lithium Fe มีความจุขนาด 324 กิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้เวลาในการประจุไฟฟ้าประมาณ 5 ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ระยะทางมากกว่า 250 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้าเต็ม 1 ครั้ง ทำให้มีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยราว 1.2 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร หรือประมาณ 4 บาทต่อกิโลเมตร และให้ความเร็วสูงสุดที่ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

รถยนต์นั่งไฟฟ้า รุ่น E6 มีขนาด 5 ที่นั่ง ขนาดความยาว/กว้าง/สูง 4.560/1.822/1.645 เมตร มีระยะห่างช่วงล้อ 2.830 เมตร ขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับขนาด 90 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 121 แรงม้า ใช้แบตเตอรี่ชนิด Lithium Fe ที่ความจุ 61.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้เวลาในการประจุไฟฟ้าประมาณ 2 ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ระยะทางมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้าเต็ม 1 ครั้ง ทำให้มีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.13 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร หรือประมาณ 0.5 บาทต่อกิโลเมตร และให้ความเร็วสูงสุดที่ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ดร.โกศล กล่าวต่อไปว่า กลยุทธ์การทำตลาด จะนำเสนอในลักษณะโซลูชั่นที่ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหารถโดยสารและรถยนต์นั่งไฟฟ้า การสนับสนุนด้านการบริหารการเงิน การบริการหลังการขาย การจัดหาอะไหล่สำรองต่างๆทั้งในระยะเวลารับประกันและหลังรับประกัน เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะได้รับการดูแลตลอดอายุการใช้งาน สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ในระยะแรกจะเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยกลุ่มลูกค้ารถโดยสารไฟฟ้าจะเป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น ส่วนกลุ่มลูกค้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าจะเป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทรถเช่า แท็กซี่มิเตอร์ โรงแรม เป็นต้น

ในส่วนของศูนย์บริการ ในระยะแรก บริษัทฯ จะร่วมมือกับพันธมิตรจัดตั้งศูนย์บริการกลาง และศูนย์บริการย่อย รวม 5 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากนั้นจะขยายศูนย์บริการเพิ่มเติมในระยะต่อมา ขณะที่ สถานีประจุไฟฟ้าจะมีการติดตั้งในเขตพื้นที่ของผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการนั้นๆ และมีแผนจะขยายสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับส่วนกลางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน

ดร.โกศล กล่าวต่อไปอีกว่า ในช่วงแรก บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายรถโดยสารไฟฟ้าไว้ประมาณ 200 คัน และรถยนต์นั่งไฟฟ้าอีกประมาณ 200 คัน ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่า จากนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลในขณะนี้ จะช่วยกระตุ้นยอดขายให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยเฉพาะในส่วนของรถโดยสารไฟฟ้าคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำรถรุ่นอื่นๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงในอนาคตบริษัทมีแผนจะลงทุนก่อตั้งโรงงานประกอบรถโดยสารไฟฟ้าขึ้นภายในประเทศเพื่อรองรับการเติบโตของตลาด

ทางด้าน นายหลิว ฉือ เลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายยานยนต์ ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสตรี้ จำกัด เปิดเผยว่า “บีวายดี ออโต้ อินดัสตรี้” เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ปัจจุบันมีการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้วทั่วโลก อาทิเช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บราซิล อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ล่าสุด บริษัท บีวายดีฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสนำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ามาให้คนไทยได้สัมผัส โดยร่วมมือกับ “ล็อกซเล่ย์” ที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจตลาดเมืองไทยเป็นอย่างดี ซึ่งบริษัท บีวายดีฯ พร้อมสนับสนุนทั้งทางด้านเทคโนโลยี เจ้าหน้าที่เทคนิค ตลอดจนการจัดส่งรถยนต์ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่