หมวดอื่นๆ (Other)  |   วันที่ : 27 สิงหาคม 2558

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

IBM ประกาศสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่แข็งแกร่งตั้งแต่ภาคการศึกษาต่อเนื่องถึงภาคธุรกิจ เดินหน้าร่วมบ่มเพาะบุคลากรที่พร้อมสำหรับตลาดเพื่อเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมจับมือทรู มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และคอมมิวนิตี้สตาร์ทอัพ ติวเข้มนักศึกษาและนักพัฒนา อัดแน่นความรู้ไอทีและธุรกิจ ส่งตัวแทนสตาร์ทอัพไทยไปแจ้งเกิดเวทีอาเซียนและซิลิคอนวัลเลย์ ภายใต้กิจกรรม “ไทยแลนด์สตาร์ทอัพสมาร์ท

การสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมโยงภาคการศึกษาสู่ภาคธุรกิจ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีอนาไลติกส์ โมบายล์ และคลาวด์ เป็นปัจจัยเอื้อให้การดำเนินธุรกิจและการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีต่างๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยคาดว่าภายในปีนี้จะมีปริมาณการทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่ 1 ใน 4 ของแอพพลิเคชั่นทั่วโลกหรือประมาณ 48 ล้านแอพพลิเคชั่น จะพร้อมให้บริการบนคลาวด์ในปี 2559

การสนับสนุนภาคการศึกษา เชื่อมโยงสู่ภาคธุรกิจในปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย องค์กรธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ และคอมมิวนิตี้สตาร์ทอัพต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในการเสริมความแข็งแกร่งภาคการศึกษาและต่อยอดขีดความสามารถภาคธุรกิจของไทย คลอบคลุมถึง

1. การร่วมมือกับ 9 มหาวิทยาลัยและสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) นำอนาไลติกส์รวมถึงองค์ความรู้และกรณีศึกษาด้านโมบายล์และคลาวด์ เข้าเสริมศักยภาพภาคการศึกษาและธุรกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญไอบีเอ็มเข้าร่วมถ่ายทอดทักษะความชำนาญ ร่วมกับการนำองค์ความรู้จากไอบีเอ็มเข้าพัฒนารายวิชาและการเรียนการสอนรวม 40 รายวิชา เน้นสาขาการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเชิงคาดการณ์ การบริหารจัดการข้อมูล บิสสิเนสอินเทลลิเจนส์ รวมถึงการวิเคราะห์เชิงลึก ในคณะและสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ บริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย เป็นต้น โดยปัจจุบันมีคณาจารย์และนักศึกษากว่า 4,000 คนที่ได้รับประโยชน์

2. การจัดตั้งและผสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาบุคลากรด้านอนาไลติกส์ โมบายล์ และคลาวด์ พร้อมต่อยอดไปสู่งานวิจัย การบ่มเพาะสตาร์ทอัพ และการสนับสนุนองค์กรธุรกิจ อาทิ การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศด้านอนาไลติกส์เพื่อการเกษตรแห่งแรกพร้อมมอบแพลตฟอร์มคลาวด์เพื่อต่อยอดการวิจัยและพัฒนาแก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ การร่วมเป็นพันธมิตรแบ่งปันเทคโนโลยีและองค์ความรู้แก่บิ๊ก ดาต้า เอ็กซ์พีเรียนซ์ เซ็นเตอร์ อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกับกลุ่มบริษัทจีเอเบิล การจัดให้นักศึกษาได้ฝึกงานในสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจจริงของไอบีเอ็ม ตลอดจนการเปิดให้คณาจารย์และนักศึกษาใช้ซอฟต์แวร์และคลาวด์เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น

3. การร่วมกับองค์กรธุรกิจและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่ ผ่านการจัดเวิร์คช็อป เสวนาโต๊ะกลม และแฮคกาธอน เพื่อให้ความรู้เชิงลึกด้านโมบายล์และคลาวด์แก่นักศึกษา นักพัฒนา และสตาร์ทอัพ พร้อมเสริมมุมมองธุรกิจเพื่อปั้นโมบายล์แอพพลิเคชั่นที่สามารถใช้ประโยชน์และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้จริง โดยกิจกรรมต่างๆ ครอบคลุมผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน มีแอพที่ไอบีเอ็มให้การสนับสนุนเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญแล้ว 20 แอพ โดยในปี 2558 ไอบีเอ็มตั้งเป้าหมายบ่มเพาะสตาร์ทอัพรวม 25 ราย

ไทยแลนด์สตาร์ทอัพสมาร์ทแคมป์ ก้าวสำคัญผลักดันสตาร์ทอัพไทยสู่เวทีสากลเพื่อเป็นการรุกผลักดันระบบนิเวศการศึกษา-ธุรกิจต่อเนื่อง ไอบีเอ็มจึงได้ร่วมกับทรู พร้อมผนึกซอฟแวร์ปาร์ค เครือข่ายมหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่ง และกลุ่มสตาร์ทอัพชั้นนำของไทยอย่างเทคซอร์ส (TechSauce) จัดกิจกรรมไทยแลนด์สตาร์ทอัพสมาร์ทแคมป์ ติวเข้มนักศึกษาและนักพัฒนาในรูปแบบกิจกรรมเวิร์คช็อปเข้มข้นด้านเทคโนโลยีการพัฒนาโมบายล์แอพผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์บลูมิกซ์ (Bluemix) เทคโนโลยีค็อกนิทิฟคอมพิวติ้ง และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญจากไอบีเอ็ม ทรู และมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมอัดแน่นความรู้ในมุมธุรกิจและแนวคิดเมืองอัจฉริยะ เพื่อเฟ้นหาตัวแทนสตาร์ทอัพไทยไปร่วมแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

ทั้งนี้ ทีมเว็ตไซด์ (Vetside) เจ้าของไอเดียแอพ “itaam” สำหรับคนรักสัตว์เลี้ยง ตัวช่วยการสืบค้นข้อมูลอาการป่วยของสัตว์ รวมถึงค้นหาและนัดหมายสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นทีมที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนสตาร์ทอัพไทยไปร่วมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมรับการโค้ชแบบตัวต่อตัวอย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศและระดับโลกของไอบีเอ็มที่งานสมาร์ทแคมป์อาเซียน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2-3 กันยายน 2558 ณ เซนโตซ่ารีสอร์ท ประเทศสิงค์โปร์

ทั้งนี้ ตัวแทนสตาร์ทอัพจากไทยและประเทศใกล้เคียงที่มีผลงานโดดเด่นจนสามารถชนะเลิศในงานสมาร์ทแคมป์ระดับอาเซียนได้ จะร่วมประชันกับผู้เข้าแข่งขันจากภูมิภาคอื่น และฝ่าด่านเป็นตัวแทน 10 ทีมสุดท้ายไปร่วมนำเสนอเดโมที่งานลอนช์ สเกล (LAUNCH Scale) เพื่อรับการติวเข้มจากกูรูและนักลงทุนชั้นนำ ที่รัฐซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2558 จากนั้นจึงเข้าร่วมชิงเงินลงทุนสำหรับการพัฒนาธุรกิจจากเจสัน แคลาคานิส นักลงทุนผู้ร่วมสนับสนุนอูเบอร์ (Uber) ในยุคแรกเริ่ม ณ มหกรรมลอนช์ เฟสติวัล (LAUNCH Festival) ที่รัฐซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ถึง 1 มีนาคม 2559 โดยลอนช์เป็นหนึ่งในตำนานงานสตาร์ทอัพของโลก ที่เป็นจุดกำเนิดของสตาร์ทอัพชื่อดังมากมาย อาทิ ดร็อปบ็อกซ์ และฟิตบิท เป็นต้น

นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็มมุ่งมั่นนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีขององค์กรเข้าช่วยพัฒนาคนและธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เรามีความภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ผสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา รวมถึงชุมชนผู้ประกอบการรายใหม่ต่างๆ อย่างครบวงจร ดังเช่นการจัดกิจกรรมไทยแลนด์สตาร์ทอัพสมาร์ทแคมป์ในครั้งนี้ ที่จะมีส่วนผลักดันให้เกิดระบบนิเวศการศึกษา-ธุรกิจอย่างแท้จริง อันจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป”

“ไอบีเอ็ม ทรู และพันธมิตร ยินดีอย่างยิ่งในการร่วมสนับสนุนผลงานของสตาร์ทอัพที่เกิดจากความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์และต่อยอดในเชิงธุรกิจได้จริงต่อไปในอนาคต” นางพรรณสิรี เสริม

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่