หมวดอื่นๆ (Other)  |   วันที่ : 14 มิถุนายน 2559

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกทุกวันนี้เข้าสู่ยุคอิเล็กทรอนิกส์เต็มตัวแล้ว โดยอุปกรณ์รวมถึงกระบวนการต่างๆ ก็ถูกพัฒนาให้มีความฉลาด ทันสมัย เพิ่มขีดความสามารถให้ทำงานได้อย่างครบวงจร เพื่อความรวด เร็วสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน และก็ช่วยประหยัดต้นทุนในธุรกิจพาณิชย์และอุตสาหกรรมทั้งหลาย ทั้งนี้ในบ้านเราเองก็มีข่าวดีเช่นกัน เมื่อรัฐบาล กำหนดวันดีเดย์ 15 กรกฏาคม พ.ศ. 2559 สำหรับบริการ Any ID ด้วยการเปลี่ยนเลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ให้เป็นบัญชีธนาคาร ในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะฉะนั้นบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักให้มากขึ้นว่ามีบริการแบบนี้แล้วคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นอย่างไร

UPDATE : วันนี้ 15 มิถุนายน ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดชื่อเรียกอย่างเป็นทางการแล้ว โดยใช้ชื่อเรียกว่า "PromptPay"  (พร้อมเพย์) เริ่มต้นใช้งานได้ 31 ตุลาคมเป็นต้นไป

 

Any ID คืออะไร

หมายถึง Any identification กล่าวคือเป็นการใช้เลขประจำตัวแบบใดก็ได้ที่บ่งชี้ถึงตัวตนของเราว่ามีอยู่จริง เช่น เลขประจำตัวประชาชน, เลขเบอร์โทรศัพท์ที่ปัจจุบันต้องลงทะเบียนเพื่อใช้งาน เป็นต้น มาผูกไว้กับบัญชีธนาคารของเรา สำหรับใช้แทนเลขบัญชีในการทำธุรกรรมทางเงินประเภทต่างๆ

หรือพูดง่ายๆ : เปลี่ยนเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขเบอร์โทรศัพท์มือถือให้เป็นบัญชีธนาคาร 

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. เป็นเพื่อนกับนาย ข. และต้องการจะโอนเงินให้แก่กัน เดิมทีเราจะต้องรู้เลขบัญชีธนาคารของอีกฝ่ายก่อนถึงจะโอนได้ ปัญหาคือหากไม่จดไว้มีลืมแน่นอนหรือไม่ก็ต้องโทรถามกันให้วุ่นวาย แต่เมื่อมี Any ID อยู่ก็สามารถแก้ไขได้ เพียงแค่นาย ก. รู้เบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเลขประจำตัวประชาชนของนาย ข. เท่านี้ก็สามารถโอนเงินให้กันได้แล้ว

หรือว่าในอนาคตเราไปทานอาหารที่ร้านใดร้านหนึ่ง แต่ลืมพกบัตรเครดิตหรือเงินสด เราสามารถบอกหมายเลขเบอร์โทรศัพท์หรือเลขประจำตัวประชาชนได้เลย จากนั้นร้านอาหารก็จะหักเงินในบัญชีธนา คารของเราตามยอดเงินที่ต้องจ่าย 

และกับเกษตรกร รวมถึงประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด การจะรับเงินแต่ละครั้งจากรัฐบาลมักมีความยุ่งยาก และได้รับไม่ครบจำนวนจริง เนื่องจากมีการหักออกด้วยค่าต่างๆ โดยตลอด แถมยังต้องเดินทางหากต้องไปขึ้นเงินถ้ารับผ่านเช็ค ดังนั้นถ้ามี Any ID อยู่รัฐบาลจะโอนเงินให้กับหมายเลขประจำตัวนี้ได้เลย และเงินก็จะเข้าสู่บัญชีในธนาคารโดยอัตโนมัติ ทำให้สะดวก คล่องตัว ประหยัดเวลา และไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

Any ID มาจากไหน กำกับดูแลโดยใคร 

โดยบริการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการหลักของรัฐบาลในชื่อหัวข้อ National e-Payment หรือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนที่ถูกพัฒนารวมถึงมีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบรับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เนื่องจากเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องการผลักดันประเทศไปสู่สู่สังคมที่ไม่ใช้เงินสด หรือ Cashless Society ซึ่งจะมีโครงการที่ดำเนินคู่ขนานไปในช่วงเวลาเดียวกัน 4 แบบ ดังนี้

1. การชำระเงินแบบ Any ID

โดยจะเปลี่ยนพฤติกรรมเดิมไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินหรือชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารให้ง่ายขึ้นด้วยการ นำระบบดังกล่าวมาใช้งาน กล่าวคือ เราจะสามารถนำเลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขของเบอร์โทรศัพท์มือถือมาลงทะเบียนไว้กับสถาบันการเงิน เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินได้เลย 

ซึ่งแบ่งช่วงเวลาการดำเนินงานของโครงการออกเป็น 4 ช่วง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 จะเปิดระบบให้ประชาชนมาลงทะเบียน Any ID ผูกเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนกับบัญชีเงินฝาก เบื้องต้นอนุญาตเชื่อมได้ 1 บัตรประชาชนต่อ 1 หมายเลขบัญชี และ 1 หมายเลขโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ขณะที่อนาคตอาจจะเชื่อมโยงได้มากขึ้น 
  • เดือนกันยายน 2559 เปิดระบบให้บริการจ่ายสวัสดิการด้วยกา่รใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน
  • เดือนตุลาคม 2559 เปิดระบบให้บริการชำระเงินผ่านเบอร์โทรศัพท์ และผ่านระบบ Any ID
  • เดือนธันวาคม 2559 เปิดระบบเรียกเก็บเงินเพื่อรองรับ e-Commerce

2. เพิ่มการขยายตัวของการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์

เปิดโอกาส และก็ส่งเสริมให้ประชาชนใช้งานบัตรอิเล็กทรอนิกส์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะบัตรเดบิตที่มีค่าธรรมเนียมต่ำและมีเป้าหมายเพิ่มการกระจายอุปกรณ์ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แพร่หลายมากขึ้นตามความเหมาะสมของร้านค้าในแต่ละพื้นที่ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มทางเลือกชำระเงินสะดวกปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้คาดว่าจะออกประกาศให้นิติบุคคลติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินได้ในเดือนสิงหาคม 2559 เช่นเดียวกับหน่วยงานราชการ และจะเริ่มกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินในเดือนกันยายน 2559 เป็นต้นไป

3. ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

โดยพัฒนาการจัดทำ และช่วยนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และก็ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เพื่ออำนวยความสะดวก และลดกระบวนการของภาษี รวมทั้งส่งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงิน และการนำส่งภาษีเมื่อมีการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment ส่งผลให้ช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนของภาคเอกชนในการจัดทำเอกสารและการชำระภาษี

4. โครงการ e-Payment ภาครัฐ

บูรณาการฐานข้อมูลด้านสวัสดิการสังคม และยังเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอ นิกส์ ผ่าน Any ID รวมทั้งให้สถาบันการเงินมีช่องทางการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นและช่วยเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชาชนมีประโยชน์สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือ และมอบเงินสวัสดิการให้แก่ประชาชนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ลดความผิดพลาด ลดความซ้ำซ้อน และลดการทุจริตจากการจ่ายเงินด้วยเงินสดและเช็ค ด้วยการลงทะเบียนประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อรับสวัสดิการผ่านสถาบันการเงิน โดยโครงการ e-Payment ภาครัฐ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

  • โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม
  • โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์


ขอขอบคุณคลิปวิดีโอประกอบเนื้อหาจาก : Montien Vichitrsarawongs

สำหรับ Any ID กำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐหลายส่วน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงการคลัง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, กรมสรรพากร, สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : epayment.go.th

หลังจากทราบโครงการต่างๆ ไปแล้ว มาทำความรู้จัก Any ID ให้มากขึ้นกว่าเดิมว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันได้อย่างไร...?

เริ่มต้นด้วยสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักก่อนลงทะเบียนใช้งาน Any ID

หนึ่งบัญชีธนาคารสามารถผูกหมายเลขโทรศัพท์ได้ 1 หมายเลข เช่นเดียวกับเลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้วถ้าใครต้องการลงทะเบียน ต้องเลือกบัญชีธนาคารที่สะดวกต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือบัญชีที่ใช้งานบ่อยๆ เพื่อก็สามารถใช้บริการดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และคล่องตัว

1 คนจะสามารถมี Any ID ได้กี่บัญชี...?

สำหรับคนหนึ่งคนก็จะมีบัญชี Any ID ได้มากสุด 4 บัญชี คือ (1 บัญชี ผูกกับเลขบัตรประชาชน และอีก 3 บัญชี ผูกกับเบอร์โทรศัพท์มือถือสูงสุด 3 เบอร์) และไม่สามารถใช้หมายเลขเดิมในการลงทะเบียนซํ้าได้อีกครั้ง และสามารถเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการลงทะเบียนได้ตลอดเวลา

สรุปว่าหากต้องการลงทะเบียนจะต้องใช้อะไรบ้าง...?

นำหมายเลขโทรศัพท์มือถือ, เลขประจำตัวประชาชน, หมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet ID) หรืออีเมล์ (e-mail address), เลขที่บัญชีธนาคาร (ต้องวางแผนให้ดีก็เพื่อให้ตรงไลฟ์สไตล์ของเรา เนื่องจากในอนาคตก็อาจมีบริการพิเศษจากรัฐบาล ธนาคาร หรือว่าร้านค้าที่ร่วมรายการ) ส่วนในด้านบัญชีเงินฝากจะเป็นแบบออมทรัพย์ หรือกระแสรายวัน และเป็นของธนาคารอะไรก็ได้ทั้งภาครัฐกับภาคเอกชน ติดตัวไปลงทะเบียน

หมายเหตุ : เบื้องต้นใช้ได้แค่เฉพาะหมายเลขโทรศัพท์มือถือและเลขประจำตัวประชาชน

วิธีการเริ่มต้นใช้งาน Any ID มีดังนี้

เดินทางไปธนาคารสาขาใกล้บ้านที่ต้องการผูกบัญชีไว้กับเลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือแล้วบอกว่ามาลงทะเบียน Any ID (วันที่ 15 ก.ค.) แต่ถ้าไม่สะดวกเดินทางก็สามารถใช้ช่องทางออนไลน์และตู้ใกล้บ้านได้ เช่น ATM, Mobile Banking, Internet Banking 

หมายเหตุ : ไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน

ประโยชน์ที่เราได้รับจาก Any ID

  • ปลอดภัย ลดการพกพาเงินสด ใช้จ่ายได้ทุกเวลาไม่ต้องไปธนาคาร 
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดเวลาการเดินทางในพื้นที่ห่างไกล 
  • ไม่ต้องจำเลขบัญชี สะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงิน
  • การรับเงินสวัสดิการจากภาครัฐจะทั่วถึง ครบถ้วนตรงเวลา 
  • มีความโปร่งใส ลดข้อผิดพลาด และลดปัญหาทุจริตจากการจ่ายด้วยเงินสดหรือเช็ค
  • อนาคตร้านค้า, รถโดยสาร, โรงแรม, โรงพยาบาล จะรองรับการจ่ายเงินด้วย Any ID

 

ค่าธรรมเนียมโอนเงินด้วยระบบพร้อมเพย์

วงเงิน ค่าธรรมเนียม
ตํ่ากว่า 5,000 บาท ฟรี/ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
5,000 - 30,000 บาท 2 บาท/ครั้ง
30,000 - 100,000 บาท 5 บาท/ครั้ง
100,000 บาทขึ้นไป 10 บาท/ครั้ง

ที่มา : สมาคมธนาคารไทย

สรุปแล้วควรทำหรือไม่ควรทำ Any ID

ควรที่จะทำครับ เนื่องจากว่าในอนาคตบริการจากภาครัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่มีผลต่อชีวิตประจำวันของเราจะมีการชำระค่าใช้จ่ายหรือว่ารับเงินผ่านระบบ Any ID ดังนั้นก็จึงควรที่จะศึกษารายละเอียดกันให้มากขึ้น เพื่อเตรียมตัวปรับเข้าสู่ยุคอิเล็กทรอนิกส์ และตอนนี้เหล่าธนาคารได้เริ่มเปิดให้บริการลงทะเบียนสมัครล่วงหน้าไว้แล้ว ซึ่งนำร่องโดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)เพราะฉะนั้นจึงเป็นสัญญาณว่าไม่ได้มาเล่นๆ ทำจริงแน่นอน

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มือถือออกใหม่