ซอฟต์แวร์ (Software)  |   วันที่ : 9 กุมภาพันธ์ 2560

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

Android Wear 2.0 แพลตฟอร์มบนสมาร์ทวอทซ์เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดของ Google ถูกปล่อยออกมาแล้วโดยถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ใช้งานอุปกรณ์ Android Wear หลายรุ่นในท้องตลาดที่เตรียมทยอยรับอัพเดทกันในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

Android Wear 2.0 เป็นแพลตฟอร์มเวอร์ชั่นที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อน โดยมีฟีเจอร์ใหม่ถูกใส่เข้ามาให้ใช้งานมากมายและกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของสมาร์ทวอทซ์ให้กลายเป็นอุปกรณ์สแตนด์อโลนหรืออุปกรณ์ที่ไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อื่นๆ

อุปกรณ์ Android Wear 2.0 สามารถทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน Android และ iPhone ผ่านการเชื่อมต่อ Bluetooth, Wi-Fi และนาฬิกาบางรุ่นก็รองรับ 4G LTE ในตัวด้วย (การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดของ Android Wear 2.0 กับ อุปกรณ์ iOS คือสามารถทำงานร่วมกับ iMessage ได้) และนี่คือ 7 ฟีเจอร์ใหม่ที่ดีที่สุดใน Android Wear 2.0


1. วิธีการใช้งานและการควบคุมที่ง่ายขึ้น

หากกล่าวถึงรูปแบบการทำงานของสมาร์ทวอทซ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเรื่องที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นบ่อยครั้งคือเรื่องของวิธีการใช้งานที่ค่อนข้างยากและไม่คุ้นเคยสำหรับผู้ใช้งานอุปกรณ์ประเภทนี้เป็นครั้งแรก บางครั้งการทดลองใช้งานในช่วงเวลาสั้นๆ ถ้าไม่ถูกใจหรือแลดูซับซ้อนก็ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจไม่ซื้อมาไว้ในครอบครอง

Google มองเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและพยายามพัฒนารูปแบบการใช้งานให้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ต้องกดปุ่มค้างไว้ ปัดเลื่อนหน้าจอไปๆ มาๆ ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ลงบ้าง จนแลดูวุ่นวาย ลืมสิ่งเหล่านี้ไปได้เลยเพราะใน Android Wear 2.0 ทุกอย่างจะดูเรียบง่ายขึ้น ปัดหน้าจอไปทางซ้ายและขวาเพื่อเปลี่ยนรูปแบบหน้าปัด (watchface) ปัดหน้าจอขึ้นเพื่อดูการแจ้งเตือน ปัดลงเพื่อดูการตั้งค่าต่างๆ แตะปุ่มหลักข้างหน้าปัดเพื่อเรียกรายการแอพพลิเคชั่น แตะปุ่มหลักค้างไว้เพื่อเรียกผู้ช่วยรับคำสั่งเสียง Google Assistant และถ้าหากต้องการเรียกใช้ฟังก์ชั่นอะไรที่ซับซ้อนกว่านี้ก็สามารถเปิดแอพหรือตั้งค่าการทำงานแบบกำหนดเองบนหน้าปัดนาฬิกาได้

ส่วนติดต่อผู้ใช้แบบใหม่ใน Android Wear 2.0 มุ่งเน้น "วิธีการ" ที่สามารถตอบโจทย์ได้ว่าผู้ใช้งานต้องการอะไรจากสมาร์ทวอทซ์จริงๆ และกำจัดขั้นตอนที่ยุ่งยากออกไปให้หมด มันถูกออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งานที่ต้องการตั้งค่าการทำงานบนสมาร์ทวอทซ์ให้เหมาะสมกับตัวเอง

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด Android Wear 2.0 รองรับการป้อนข้อมูลแบบ "rotational" หรือการป้อนข้อมูลแบบหมุนปุ่มหรือหมุนหน้าปัดในกรณีนาฬิการุ่นที่ใช้งานอยู่มีกรอบหน้าปัดหรือปุ่มเม็ดมะยมที่หมุนเลื่อนได้

2. หน้าปัดนาฬิกาที่ปรับแต่งรูปแบบได้

Android Wear มีข้อได้เปรียบกว่า Apple Watch อย่างหนึ่งตรงที่สามารถดาวน์โหลดหน้าปัดนาฬิกาแบบต่างๆ มาใช้งานได้จำนวนมากจากแอพของผู้พัฒนา Android Wear บุคคลที่สาม แต่บางครั้งรูปแบบหน้าปัดที่โหลดมาใช้งานก็ยังไม่ถูกใจเสีย 100% อยากจะปรับตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย

ใน Android Wear 2.0 ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งรูปแบบหน้าปัดที่มีให้ใช้งานแบบ built-in ได้โดยตรงจากสมาร์ทวอทซ์ด้วยตัวเลือกสำหรับการปรับแต่งหน้าปัดนาฬิกาที่มีให้ใช้งานมากมาย เช่น เปลี่ยนสี ธีม เลย์เอ้าท์ แทรกรายละเอียดบางอย่าง ปรับพื้นหลังและอื่นๆ อีกมากมายซึ่งใช้เวลาไม่นานที่จะออกแบบหน้าปัดนาฬิกาที่ตัวเองชอบโดยไม่ต้องลงลึกถึงขั้นการแก้โค้ดหรือคอมพิวเตอร์กราฟิก

3. การให้อิสระแก่แอพพลิเคชั่นบุคคลที่สาม

ในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ของผู้ใช้งาน Android Wear มากพอๆ กับการปรับแต่งรูปแบบหน้าปัดนาฬิกา เพราะบางครั้งผู้ใช้งานก็อยากให้บนหน้าปัดสามารถแสดงส่วนประกอบบางอย่าง เช่น สภาพอากาศ โซนเวลา หรือข้อมูลอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปซึ่งในมุมมองของนักพัฒนาแอพก็ต้องการอิสระในส่วนนี้เช่นเดียวกัน

ใน Android Wear 2.0 นักพัฒนาแอพสามารถเข้าถึงการทำงานบนหน้าปัดนาฬิกาได้หลายส่วนมากขึ้น ทั้งการแสดงข้อมูลและการเรียกแอพพลิเคชั่นขึ้นมาทำงานบนหน้าปัดแบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นในหน้าปัดรายชื่อผู้ติดต่อ นักพัฒนาอาจจะสร้างไอคอนรายชื่อผู้ติดต่อที่ชื่นชอบไว้ให้ผู้ใช้งานใส่หมายเลขผู้ติดต่อที่ต้องการส่งข้อความอย่างรวดเร็ว

ส่วนที่ดีที่สุดก็คือมันสามารถรองรับการทำงานในขณะที่หน้าจออยู่ในโหมดประหยัดพลังงาน (ambient mode) ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานเห็นข้อมูลต่างๆ ที่อัพเดทเข้ามาบนหน้าจอโดยไม่พลาดรายละเอียด

4. ใช้แอพจากนาฬิกาได้โดยไม่ต้องง้อสมาร์ทโฟน

ใน Android Wear 2.0 มีการติดตั้ง Google Play store มาให้ใช้งานบนสมาร์ทวอทซ์โดยตรง ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้งานสมาร์ทวอทซ์ที่จับคู่กับ Apple iPhone สามารถเข้าถึงแอพต่างๆ จากสมาร์ทวอทซ์ได้มากขึ้นโดยไม่ติดข้อจำกัดของค่าย Apple

ส่วนประโยชน์ของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน Android ก็มีด้วยเช่นกันคือสามารถเลือกได้ว่าจะเอาแอพมาติดตั้งบนตัวนาฬิกาโดยตรง (อาจจะเลือกโหลดแอพที่มีการประยุกต์การทำงานบนหน้าปัดนาฬิกา) หรือเลือกเอาแอพไปติดตั้งบนมือถือและทำงานร่วมกับนาฬิกาในตอนที่จับคู่ (อาจจะเลือกแอพที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนต่างๆ)

สำหรับการเรียกดูหรือค้นหารายชื่อแอพอย่างสะดวกก็สามารถไปที่เว็บไซต์ Google Play บนเดสก์ท็อปและเลือกหมวดหมู่ Android Wear จากนั้นก็เลือกแอพที่ต้องการและกดปุ่มติดตั้งได้ทันที

5. Google Fit แอพด้านสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ตอนนี้ Google ก็ตีโจทย์แตกแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้คนคาดหวังบนสมาร์ทวอทซ์ ซึ่งสิ่งที่ว่าก็คือฟีเจอร์ที่สำคัญมากอย่าง Google Fit แอพเพื่อสุขภาพที่สามารถติดตามการออกกำลังกาย ให้ข้อมูลคำแนะนำที่น่าสนใจ แสดงกิจกรรมที่ท้าทายผู้ใช้งาน แสดงภาพเคลื่อนไหวประกอบ โดยทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในสมาร์ทวอทซ์

6. เซ็นเซอร์ที่มีตัวเลือกมากกว่าเดิม

ผู้ผลิตนาฬิกาจะมีตัวเลือกสำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Android Wear 2.0 มากกว่า 1 ทาง โดยพื้นฐานแล้วสมาร์ทวอทซ์ทุกรุ่นจะมี Bluetooth แต่บางรุ่นก็มี Wi-Fi, LTE, GPS, NFC และเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจ ซึ่ง Google เผยว่า Android Wear 2.0 จะเลือกการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดให้อัตโนมัติขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บางครั้งก็เป็น Bluetooth จากสมาร์ทโฟน บางครั้งก็อาจจะเป็น 4G LTE จากสมาร์ทวอทซ์

7. การส่งข้อความ

การตอบกลับข้อความเป็นอีกไฮไลท์หนึ่งของสมาร์ทวอทซ์ที่ Google ได้ปรับปรุงมาให้ใช้งานใน Android Wear 2.0 โดยผู้ใช้งานสามารถแตะปุ่มตอบข้อความกลับในหน้าการแจ้งเตือนได้ นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ "Smart Reply" หรือตัวเลือกข้อความตอบกลับที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาแบบไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์เอง แต่ถ้าหากจะพิมพ์ข้อความตอบกลับด้วยตัวเองก็ทำได้โดยจะมีแป้นคีย์บอร์ดโผล่ขึ้นมาให้ใช้งาน สามารถส่งข้อความเสียงและอีโมจิตอบกลับไปได้

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

ที่มา : www.theverge.com วันที่ : 9 กุมภาพันธ์ 2560

มือถือออกใหม่