หมวดอื่นๆ (Other)  |   วันที่ : 15 มิถุนายน 2560

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

งาน Asia IoT Business Platform ครั้งที่ 13 จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคมนี้ งานนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยจะเน้นเกี่ยวกับโครงการประเทศไทย 4.0 และให้ความกระจ่างต่อปัญหาที่ผู้ประกอบการและหน่วยงานบริการของรัฐบาลไทยต้องเผชิญในการประยุกต์และนำโครงการ IoT ไปใช้งานจริง รวมถึงการพัฒนาล่าสุดของอุตสาหกรรม IoT และ ICT ในประเทศไทย

งานสัมมนาในครั้งนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2560 ณ โรงแรมเรอเนสซองซ์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ โดยจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 ท่านเข้ารับฟังข่าวคราวความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) พร้อมทั้งจะมีการอภิปรายเผยแพร่ความรู้ และการเชื่อมโยงแผนกลยุทธ์ในภูมิภาคนี้ด้วย

ดร. พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะขึ้นกล่าวคำปราศรัยและจะเข้าร่วมการอภิปรายกลุ่มเพื่อเน้นย้ำถึงโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มเพื่ออำนวยความสะดวกและผลักดันประเทศให้เข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0

“นับตั้งแต่ที่เราจัดงานในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2558 เราก็ได้เห็นการพัฒนาวงการ ICT ของประเทศไทยไปในทิศทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นโครงการแสนสุข สมาร์ทซิตี้ในจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่ ไปจนถึงโครงการ IoT ซึ่งจัดทำโดยธุรกิจภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยเดินหน้าโครงการประเทศไทย 4.0 เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวขึ้นเป็นสังคมอุดมปัญญา และเราจะให้การสนับสนุนวิสัยทัศน์ในการนำพาประเทศนี้ต่อไป” อิลซ่า สุพับโต ผู้อำนวยการ Asia IoT Business Platform กล่าว

ด้วยการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดในประเทศไทย ทำให้เกิดความต้องการใช้เทคโนโลยี IoT เป็นอย่างมากในประเทศไทย โดยโครงการประเทศไทย 4.0 ให้การสนับสนุนความต้องการดังกล่าว จากการสำรวจโดย Asia IoT Business Platform เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ในปัจจุบันนี้มีหน่วยงานและองค์กรในประเทศไทยมากกว่า 70% ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการสำรวจหรือค้นหาเทคโนโลยี IoT ที่สามารถนำมาใช้งานหรือนำมาปฏิบัติได้จริง อย่างไรก็ตาม มี 7% ที่รายงานว่าได้รับประโยชน์จากการใช้งานเทคโนโลยี IoT หน่วยงานและองค์กรเหล่านี้ชี้แจงว่า ปัญหา 3 อันดับต้นๆ ที่พบในการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้งาน ได้แก่ เรื่องราคา ระบบที่มีอยู่เดิม และความยุ่งยาก

เนื่องจากอัตราการนำเทคโนโลยี IoT ไปประยุกต์ใช้งานมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้น อิลซ่าจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับอุปสรรคที่หน่วยงานต่างๆ ต้องเผชิญในขณะที่พยายามนำเทคโนโลยี IoT ไปใช้งานในธุรกิจของตน

“อุปสรรคที่หน่วยงานต่างๆ เผชิญในการนำเทคโนโลยี IoT ไปใช้งานนั้น จะส่งผลกระทบต่อมุมมองของหน่วยงานดังกล่าวที่มีต่อเทคโนโลยี IoT ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลต่อความต้องการใช้งานเทคโนโลยี IoT ดังนั้น เราจึงเชิญผู้นำด้าน IT จากหน่วยงานต่างๆ ของไทยมาร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ IoT ของตนเองในงานครั้งนี้ รวมถึงอุปสรรคที่พวกเขาพบเจอในการนำเทคโนโลยี IoT ไปใช้งาน เพื่อช่วยให้มีการนำเทคโนโลยี IoT ไปประยุกต์ใช้งานต่อไปเรื่อยๆ และไม่หยุดชะงักเพราะปัญหาสลับซับซ้อนต่างๆ” อิลซ่า กล่าวเสริม

“นอกจากนั้น AIBP ยังมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง (SME) ซึ่งในปัจจุบันนี้คิดเป็นจำนวน 98.5% ของธุรกิจทั้งหมด และมีอัตราการจ้างงานนับเป็น 70% ของการจ้างงานทั้งประเทศ SME ได้รับการสนับสนุนให้ริเริ่มสร้างธุรกิจนวัตกรรมสร้างสรรค์ โดยอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ และการวิจัยและพัฒนาโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประเทศไทย 4.0” อิลซ่า กล่าวเสริม

งาน Asia IoT Business Platform ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ครั้งนี้ จะเป็นการรวบรวมวิทยากรชั้นนำมากมาย โดยประกอบด้วยผู้นำด้าน IT จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทย เช่น เบทาโกร เจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สายการบินนกแอร์ ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น และอื่นๆ อีกมากมาย

งานในครั้งนี้จะประกอบไปด้วยการปราศรัยและการอภิปรายกลุ่ม โดยจะครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลาย รวมไปถึงแนวโน้มและภาพรวมในวงการ เทคโนโลยี IoT ในอุตสาหกรรม การขนส่งและลอจิสติกส์ การบริการภาคประชาชน สมาร์ทซิตี้ การธนาคาร การเงิน การค้าปลีก และเทคโนโลยีสำหรับคนยุคต่อไป

สำหรับรายละเอียดบัตรเข้างานและการลงทะเบียน สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://bit.ly/2rlQwAP

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่