หมวดอื่นๆ (Other)  |   วันที่ : 8 กรกฎาคม 2560

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมก้าวกระโดด...สองเรื่องราวสุดร้อนแรง ซึ่งถ้าไม่พูดถึงเราอาจดูเชยไปเลยก็ได้ ระหว่างอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง Internet of Things (IoT) และระบบปัญญาประดิษฐ์หรือที่รู้จักกันในชื่อ Artificial Intelligence (AI) สำหรับทั้งสองไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเริ่มมีการนำมาใช้งานในวัตถุประสงค์ต่างๆ อย่างแพร่หลาย และต้องบอกว่าหากคู่หูทั้งสอง เมื่อทำงานร่วมกันแล้วสามารถผสมผสานกันได้อย่างกลมกล่อม ส่งเสริมซึ่งกันและกันแบบมีนัยสำคัญ 

 

ในปี 2017 ถือได้ว่าเป็นยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมถูกพัฒนาสุดขั้ว เริ่มจาก Internet of Things ที่ดูเหมือนชัดเจนยิ่งขึ้น

สำหรับ IoT แปลความหมายตรงตัวได้ว่า "อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง" กล่าวคือทุกอย่างที่สามารถจะเชื่อมต่อข้อมูลได้ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่ระบบการทำงานด้านอุตสาหกรรม รวมถึงเชิงพาณิชย์ทั้งหลาย นำมาผสมผสานการทำงานทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต โดยเชื่อมต่อ, แชร์ข้อมูล และ วิเคราะห์ เกิดเป็น Big DATA ที่นำไปใช้ในประโยชน์ด้านต่างๆ

 

Internet of Things (IoT) กับการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์

ไม่ใช่เฉพาะแค่การเชื่อมต่อข้อมูลเข้าไว้ด้วยกันเท่านั้น แต่ Iot ทำให้เหล่าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (HR) สามารถวางแผน วิเคราะห์ พยากรณ์ ตลอดจนช่วยในการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมในหลากหลายด้านของทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากได้มีการรวบรวมข้อมูลจากหลายส่วนไว้ส่งผลให้การทำงานเกิดความต่อเนื่องและครอบคลุมมากขึ้น 

ในยุคที่บุคลากรอย่าง GEN Y และ GEN Z เกิดขึ้นต่อเนื่องของช่วงเวลาสมัยใหม่ ทุกสิ่งอย่างได้ดำเนินอยู่บนโลกไซเบอร์ การปรับตัวของฝ่ายบุคคลในองค์กรจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะความทันสมัยจะช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ ทั้งยังช่วยดึงดูดพนักงานทั้งหน้าเก่าและใหม่ให้เข้ามาร่วมงานกับบริษัทเราได้ ทั้งยังเกิดข้อได้เปรียบในการคัดสรรหาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพจากช่องทางต่างๆ ที่มีการอัพเดตข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ ทุกอย่างเชื่อมต่อกันหมด ดังนั้นแค่เพียงไม่กี่คลิกมองหาคนเก่งมาร่วมงานได้แล้ว นอกจากนี้ประเด็นสำคัญ คือฝ่ายบุคลากรจะมีข้อมูลภาพใหญ่ไว้ตรวจสอบเสมอทำให้ทำงานง่าย เข้าถึงบุคลากรแต่ละคนในองค์กรได้ดียิ่งขึ้นจึงทำให้รับรู้ถึงปัญหา ความเสมอภาคหรือความต้องการต่างๆ ไม่ต้องประสบปัญหาการไม่รู้อะไรเลยอีกต่อไป!! เพราะทุกอย่างเชื่อมต่อเข้าไว้ด้วยกันหมดนั่นเอง

Internet of Things กับธุรกิจ SME ผลประโยชน์เหนือความคาดหมาย

หากพูดถึงธุรกิจปัจจัยสำคัญที่มีผลส่งเสริมให้การดำเนินงานของเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จได้คือ " การมีข้อมูลไว้อยู่กับตัว " เปรียบได้กับรู้เข้ารู้เรา รู้เยอะมีชัยไปกว่าครึ่ง หากเราได้รู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ทุกอย่างก็จะไหลลื่น โดยเมื่อนำข้อดีของ IoT มาประยุกต์ใช้ข้อมูลทุกอย่างละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้น ทำให้ทราบข้อมูลภายในของตนเองเพื่อนำไปวิเคราะห์กลั่นกรองสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ให้เหมาะสมต่อโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำไมถึงบอกว่ามีข้อมูลอยู่กับตัวถึงมีประโยชน์ ?

 

Internet of Things ทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ที่มีความทันสมัยก็สามารถให้ข้อมูลทั้งหมดได้ด้วย เช่น ประสิทธิภาพการผลิตของเครื่องจักร ประสิทธิผลของพนักงาน การบริหารจัดการของคลังสินค้าหรือภายในโรงงานด้วยการใช้ไอทีมาบริหารจัดการ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ช่วยลดค่าใช้จ่าย และ ลดโอกาสสูญเสียด้านต่างๆ พร้อมได้ข้อมูลที่แม่นยำครบถ้วน ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพยากรณ์และเก็บข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือแก้ข้อบกพร่องได้อย่างถูกต้อง เช่น รูปแบบการดำเนินธุรกิจ กระบวนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มต่อสินค้าและการบริการ เพื่อช่วยลดต้นทุนและสร้างกำไรมากขึ้น

อุตสาหกรรมเกษตรก็ยังได้รับผลประโยชน์จาก Internet of Things

บ่อยครั้งที่ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ตรงเป้าอย่างที่วางไว้ หรือแม้แต่เกิดความเสียหายในลักษณะต่างๆ อยู่เช่นกัน การเกิดภาวะขาดทุนไม่คุ้มที่จะเสี่ยง แต่เทคโนโลยีก็สามารถช่วยลดความไม่แน่นอนตรงนี้ได้ โดย IoT จะทำให้การเกษตรได้ใช้ข้อดี จากข้อมูลทุกส่วนมาจัดเก็บและวิเคราะห์ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางการดำเนินการ วางแผนก่อนการเพาะปลูก เช่น ส่วนควบคุม อุปกรณ์ตรวจวัด เช่น อุณหภูมิ ความชิ้นในดินและอากาศ แสง รวมถึงปัจจัยสำคัญในด้านต่างๆ ที่มีผลต่อการเพาะปลูก ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บและรายงานผลต่อไป นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่เกษตรกรลงทุนด้วยข้อดีของ IoT จะทำให้เกิดความเสี่ยงตํ่าและได้ผลลัพธ์ต่อไร่ที่ดียิ่งขึ้น

การแพทย์อาศัยข้อดี Internet of Things เมื่อทุกอย่างติตดามผลได้จากจอมอนิเตอร์

โรงพยาบาล Ochsner ในรัฐหลุยส์เซียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำข้อดีของ IoT มาประยุกต์ใช้ในการติดตามผลป่วยของคนไข้ และคนไข้จะได้รับความสะดวกเพราะไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยครั้ง เนื่องจากทางโรงพยาบาลได้ผสมผสานระบบ Electronic Health Record (EHR) เข้ากับอุปกรณ์สวมใส่ โดยจะส่งข้อมูลของคนไข้ให้กับแพทย์ผู้ดูแลได้ทันทีแบบเรียลไทม์ สามารถรักษาหรือให้คำแนะนำพร้อมติดตามคนไข้ได้ตลอดเวลา ส่วนคนไข้เองก็อุ่นใจ ทั้งประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย สามารถรับผลตรวจต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนหรือสมาร์ททีวีได้เลย แค่เชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้น  

 

โลกของ 5G มีผลต่อ Internet of Things หรือไม่

โลกของการเชื่อมต่อในยุคที่ 5 นั้นเป็นมากกว่าการใช้งานในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ทว่าเป็นเรื่องการเปิดพรมแดนที่ไร้สายยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากความเร็วของ 5G กับข้อดีของปริมาณการรับส่งข้อมูลนั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่า 4G LTE ดังนั้นเมื่อ IoT เป็นเรื่องของข้อมูล ด้วยจุดเด่นของ 5G จึงส่งผลให้ความเร็วของข้อมูลมีอัตราสูงขึ้น และทันทีทันใดขึ้น (อ้างอิง businessinsider.com)

   

 

ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า Internet of Things เป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานด้านต่างๆ และมีการจัดเก็บข้อมูลของอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถนำข้อมูลนั้นๆ มาวิเคราะห์ วางแผน และพยากรณ์ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันทุกคนยังได้รับความสะดวก จากข้อมูลเหล่านั้นด้วย

 

ทำไมระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ถึงได้กลายเป็นส่วนผสมที่กลมกล่อม?

ระบบปัญญาประดิษฐ์คืออะไร เป็นเรื่องยากที่จะบอกความหมายตายตัว ทางด้าน IBM ให้คำจัดกัดความไว้ว่า "ทุกอย่างที่ระบบ AI บริหารจัดการส่งผลให้สิ่งนั้นทำงานได้อย่างชาญฉลาดเหนือกว่ารูปแบบเดิมๆ"  โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นหลากหลายนิยาม ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ทว่ายังมีศาสตร์อีกหลายแขนงที่สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้เพื่อเกิดเป็นเรื่องราวเหนือความคาดหมาย เช่น Machine Learning, Deep Learning, Biometrics, Speech Recognition, Natural Language เป็นต้น

ดังนั้นจากศาสตร์ที่แตกย่อยหลายแขนง บ่งบอกได้ว่าสามารถเรียนรู้และจดจำพฤติกรรม รวมถึงพิจารณา คิดวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้ดำเนินงานลักษณะซับซ้อนมีประสิทธิภาพขึ้น

"หากอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) คือ โลกของข้อมูลที่เชื่อมต่อทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน Artificial Intelligence (AI) ก็คือการคิดและเรียนรู้จากข้อมูล IoT มาต่อยอดและพัฒนาต่อไป"

AI หรือปัญญาประดิษฐ์ช่วยให้ Internet of Things มีประสิทธิภาพอย่างไร 

1. ข้อมูลมีมาก แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าใช้ข้อมูลได้ถูกต้อง ถ้าลำพังใช้แค่แรงงานคน นำข้อมูลต่างๆ มาประยุกต์ใช้หรือวางแผนอาจไม่ครอบคลุมและแม่นยำ แต่ถ้าระบบ AI ที่ผ่านการโปรแกรมไว้มีความสามารถในการเรียนรู้ และ จดจำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น สามารถนำเสนอข้อมูลครอบคลุมมากกว่า เช่น สภาวะเศรษฐกิจแบบนี้องค์กรนั้นจะปรับตัวอย่างไร ท้ายที่สุดนั้นต้องอาศัยข้อมูลหลากหลายด้านมาวิเคราะห์ผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นผู้บริหารจัดการ

 

2. ความปลอดภัยเป็นตัวแปรสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับอุปกรณ์จำพวก IoT ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ในการเก็บข้อมูลน้อยหรือแทบไม่มีเลย อีกทั้งลักษณะอุปกรณ์มีความหลากหลาย จึงยากที่จะให้อุปกรณ์เหล่านั้นมีความทันสมัยของซอฟต์แวร์อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าได้ระบบ AI มาช่วยบริหารจัดการโซลูชั่นความปลอดภัย ก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะ IoT ก็เป็นเรื่องของข้อมูล ดังนั้นหากปล่อยไว้ให้อยู่กับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก

3. ปราศจากแรงงานคน ทุกอย่างคือออนไลน์ ถ้าเฉพาะแค่ IoT บางส่วนงานอาจต้องใช้แรงงานคนอยู่ แต่เมื่อมีระบบปัญญาประดิษฐ์ก็เสมือนได้ว่ามีกลุ่มคนขนาดใหญ่มาบริหารจัดการข้อมูลให้แล้ว ดังนั้นในหลายส่วนธุรกิจในปัจจุบันจึงนิยมพัฒนาทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดรูปแบบครบวงจรมากที่สุด ลดแรงงานคน ลดขั้นตอนการทำงาน ลดต้นทุน ควบคุม และ ติดตามอย่างมีผลงานประสิทธิภาพบนระบบบริหารจัดการออนไลน์

 

ระบบปัญญาประดิษฐ์เปรียบเหมือนผู้คิด ผู้วิเคราะห์ ผู้รวบรวม ผู้ประยุกต์จากการที่นำข้อมูลของ Internet of Things มาผสมผสานเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการต่างๆ ในเชิงลึก สามารถนำไปต่อยอดหรือปรับแก้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายอีกสองสามปีข้างหน้าก็อาจเปลี่ยนเรื่องมาพูดถึงว่า ปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับยุค AI เพราะถ้าสังเกตในช่วงเวลาผ่านมาจะพบว่าทุกประเด็นของโลกไอทีมีเรื่องของระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ไม่เว้นแต่ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ...

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่