เทคโนโลยี (Technology)  |   วันที่ : 12 กรกฎาคม 2560

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

งานวิจัยล่าสุดของ สมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA เผยรายงานล่าสุด “The Mobile Economy: Asia Pacific 2017” ชี้ตลาดในเอเชียกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีมือถือ 5G เพื่อหวังนำมาใช้ในเขตชุมชนเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เนื่องด้วยกลุ่มผู้ให้บริการมือถือทั้งหลายต่างมองหาหนทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ และเสริมการทำงานของสัญญาณเคลื่อนที่บนแถบความถี่กว้าง หรือ บรอดแบนด์ ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น โดยประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนกลยุทธ์เพื่อปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นสังคมดิจิทัล ผ่านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และลงมือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่า ภายในสิ้นปี 2020 คาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหม่เพิ่มขึ้นถึงราว 753 ล้านรายทั่วโลก โดย 27 เปอร์เซ็นต์ (206 ล้านราย) จะอยู่ในตลาดอินเดีย และ 21 เปอร์เซ็นต์ (155 ล้านราย) จะอยู่ในตลาดจีน

“อุตสาหกรรมมือถือในภูมิภาคเอเชียจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายจำนวนผู้ใช้บริการทั่วโลกตลอดช่วงปีที่เหลือของทศวรรษนี้ โดยมีอินเดียและจีนเป็นหัวเรือใหญ่ และจะสามารถสร้างการสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อลูกค้ารายใหม่ ๆ จำนวนกว่าห้าร้อยล้านรายทั่วภูมิภาคได้ภายในปี 2020” นายแมตส์ แกรนรีด ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมจีเอสเอ็ม กล่าว พร้อมเสริมอีกว่า “เรายังพบด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดไปสู่การใช้เครือข่ายสัญญาณเคลื่อนที่บรอดแบนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบ 4G ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รองรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้หลากหลาย ทั้งในกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้ ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการชั้นนำในเอเชียจะกลายเป็นกลุ่มแรกๆ ของโลกที่จะเปิดให้ใช้เครือข่าย 5G ในเชิงพาณิชย์ได้ก่อนสิ้นสุดทศวรรษนี้”

เป็นที่คาดการณ์ว่า จำนวนแท้จริงของผู้ลงทะเบียนมือถือ (unique mobile subscribers) ของทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเพิ่มจำนวนจาก 2.7 พันล้านราย ณ สิ้นปี 2016 มาเป็น 3.1 พันล้านรายในปี 2020 คิดเป็นสองในสามของการขยายตัวทั่วโลก

เอเชียนำทัพเข้าสู่ยุค 5G

จำนวนของผู้ใช้บริการมือถือที่เพิ่มสูงขึ้นในเอเชียแปซิฟิก สามารถเจาะตลาดในภูมิภาคได้กว้างขึ้น (หากคิดเป็นสัดส่วนของจำนวนประชากร) โดยเติบโตจากร้อยละ 66 ในปี 2016 มาเป็นร้อยละ 75 ในปี 2020 แต่ด้วยลักษณะของภูมิภาคที่มีความหลากหลายสูง จึงทำให้การรุบคืบของตลาดมือถือในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้ เมื่อดูจาก 5 อันดับต้นของประเทศที่มีสัดส่วนผู้ใช้มือถือสูงที่สุดในโลก จะเห็นได้ว่าเป็นประเทศในเอเชียอยู่ถึง 4 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน แต่ในขณะเดียวกัน เอเชียก็มีประเทศที่มีการเข้าถึงของมือถือต่ำสุดด้วยเช่นกัน อาทิ เกาหลีเหนือ

ปัจจุบัน สัญญาณเคลื่อนที่บรอดแบนด์ (3G ขึ้นไป) กำลังเป็นเทคโนโลยีที่ครองตลาดในภูมิภาค และสามารถไต่ระดับจนเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ได้รับความนิยมเกินครึ่งหนึ่งของตลาดไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ตลาดในเอเชีย อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีส่วนขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสัญญาณเคลื่อนที่แบบ 5G โดยคาดว่าการเชื่อมต่อบนระบบ 5G (ไม่นับรวมการใช้งาน Internet of Things - IoT) จะมีมากถึง 670 ล้านรายในเอเชียแปซิฟิกภายในปี 2025 คิดเป็นสัดส่วนเกือบถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ของการเชื่อมต่อบนระบบ 5G ของทั่วโลกในเวลานั้น

ประเทศไทยผลักดันแผนพัฒนาสังคมดิจิทัลแห่งชาติเต็มรูปแบบ

ข้อมูลจากรายงานนี้ยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างกรอบทิศทาง และผลักดันให้เกิดพัฒนาการสู่รูปแบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงในข้อนี้ ด้วยการสร้างโอกาส และเปิดให้มีการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม และเข้าถึงชุมชนที่ขาดโอกาสได้อย่างทั่วถึง อาทิ การใช้ระบบเงินมือถือ หรือ mobile money ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสู่การเดินหน้าตามแผนพัฒนาสังคมดิจิทัล ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากการกำหนดนโยบาย และการวางระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ แล้ว รัฐบาลไทยยังจำเป็นต้องส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบดิจิทัลที่จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อผู้คนและธุรกิจของประเทศตลอดไปในอีกหลายปีข้างหน้า

ระบบสัญญาณเคลื่อนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตลาดเทคโนโลยีและบริการการสื่อสารเคลื่อนที่ก่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญ (ประมาณ 44.1 ล้านล้านบาท) ในเอเชียแปซิฟิกเมื่อปีที่ผ่านมา เทียบเท่าร้อยละ 5.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ของภูมิภาค และเป็นที่คาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านล้านเหรียญ (ประมาณ 54.3 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 5.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ในปี 2020 และประเทศต่าง ๆ จะได้รับประโยชน์จากประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการใช้บริการผ่านระบบสัญญาณเคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมไปกับการนำเทคโนโลยีเคลื่อนที่ใหม่ ๆ มาใช้ อาทิ การสื่อสารตรงระหว่างอุปกรณ์ หรือ machine-to-machine (M2M)

ในปี 2016 ที่ผ่านมา ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบสัญญาณเคลื่อนที่ในภูมิภาคเอเชียสามารถสร้างงานได้ถึงราว 16 ล้านตำแหน่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีส่วนช่วยอย่างมหาศาลในการระดมทุนให้กับภาครัฐ และมีการประเมินว่าภาคส่วนนี้มอบความช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาครัฐในรูปของภาษีที่จ่ายให้กับรัฐบาลเป็นมูลค่าสูงถึงราว 1.66 แสนล้านเหรียญ (ประมาณ 5.6 ล้านล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมระบบสัญญาณเคลื่อนที่ในเอเชียมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ รายงานฉบับนี้เน้นให้เห็นถึงกรณีศึกษาหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าบริการระบบสัญญาณเคลื่อนที่สามารถช่วยขจัดปัญหาความยากจน สร้างเสริมสุขพลานามัยที่ดี ส่งเสริมการศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ และสร้างโอกาสในการทำงาน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้เมืองมีความปลอดภัยสูงขึ้น ช่วยแก้ปัญหาภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และจัดการปัญหาอื่นๆ ได้อีกมากมาย

“ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเอเชียมีวิวัฒนาการที่รวดเร็ว ก่อให้เกิดบริการ และการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ที่จะพลิกรูปแบบการใช้ชีวิต การทำงาน การเล่น และการสื่อสาร ของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในภูมิภาคนี้” นายแมตส์ แกรนรีด กล่าวเพิ่มเติมว่า “การที่เราจะใช้ระบบสัญญาณเคลื่อนที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดมูลค่าที่เด่นชัดทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่นั้น เราต้องขอให้ทางรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายให้ความร่วมมือกับอุตสาหกรรมระบบสัญญาณเคลื่อนที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลที่ก้าวล้ำและแข็งแกร่ง บนพื้นฐานของกรอบแนวทางข้อกำหนดที่เอื้อต่อการพัฒนาในอนาคต”

ในรายงานยังเผยให้เห็นว่า อุตสาหกรรมมือถือของภูมิภาคนี้มีส่วนช่วยต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมในเอเชียในช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างไร ไปจนถึงบทบาทสู่การริเริ่มเข้าสู่เทคโนโลยี 5G และเน้นให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก ด้วยแรงกระตุ้นของจำนวนสมาร์ทโฟนและการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือที่เพิ่มขึ้น ราคาที่เข้าถึงได้ง่าย และมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น จึงก่อให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของบริการบนมือถือต่าง ๆ อาทิ วีดีโอ โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ และบริการทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ การเจาะตลาดอินเตอร์เน็ตบนมือถือในเอเชียแปซิฟิกได้เพิ่มทวีคูณในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยสามารถเข้าถึงประชากรในพื้นที่ได้เกือบครึ่งของทั้งภูมิภาคเมื่อสิ้นปี 2016

รายงาน ‘The Mobile Economy: Asia Pacific 2017’ ฉบับใหม่ จัดทำขึ้นโดย GSMA Intelligence ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของ GSMA สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มพร้อมดูอินโฟกราฟฟิกที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.gsma.com

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่