ซอฟต์แวร์ (Software)  |   วันที่ : 27 กันยายน 2561

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

ปัจจุบัน นักการตลาดอาจรู้สึกหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมีวิธีการต่างๆ มากมายในการเข้าถึงผู้บริโภค ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ จึงกลัวว่าจะตกเทรนด์สำคัญๆ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่สมาร์ทโฟนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายภายในเวลาอันรวดเร็ว ทุกวันนี้หากมองไปรอบๆ เราก็พอจะคาดเดาได้ว่าอะไรคือเทรนด์สำคัญถัดไปที่จะเข้าครอบครองตลาด นั่นคือ ผู้คนหันมาพูดคุยกับอุปกรณ์ของตนเองเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ผลการสำรวจของอะโดบีชี้ว่า 76% ของผู้ใช้ลำโพงอัจฉริยะ (Smart Speaker) ใช้งานผู้ช่วยดิจิทัลที่สั่งงานด้วยเสียงพูด (Voice Assistants) เพิ่มมากขึ้นในช่วงปีที่แล้ว แม้กระทั่งผู้ใช้ที่ไม่มีลำโพงอัจฉริยะ 38% ระบุว่าตนเองใช้เสียงพูดเพิ่มมากขึ้นกับทุกอุปกรณ์ ตั้งแต่สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป ไปจนถึงอุปกรณ์สวมใส่ และระบบเชื่อมต่อในรถยนต์

Adobe ช่วยให้แบรนด์ต่างๆ ใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ โดย Adobe Experience Cloud จัดหาเครื่องมือสำหรับการนำเสนอประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ต่อเนื่องสอดคล้องกัน อะโดบีเป็นบริษัทแรกที่นำเสนอเทคโนโลยีการวิเคราะห์เสียงพูด ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์ต่างๆ เข้าใจวิธีการติดต่อสื่อสารของลูกค้าโดยใช้อุปกรณ์ที่สั่งงานด้วยเสียงได้ดียิ่งขึ้น อะโดบีได้เริ่มต้นทำงานร่วมกับลูกค้าหลายราย เช่น ESPN, CNBC, CVS Health, Marriott Hotels, PGA Golf, Newsquest (สหราชอาณาจักร), Woolworths Supermarket (ออสเตรเลีย) และอื่นๆ โดยทั้งหมดนี้ต้องการที่จะปรับแต่งประสบการณ์ด้านเสียงพูดให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้า วันนี้อะโดบีได้ขยายความสามารถด้านเสียงพูดให้ครอบคลุม Adobe Experience Cloud เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าอย่างเหนือชั้น

การวิเคราะห์ข้อมูลเสียงพูดขั้นสูง

Attribution IQ ภายใน Adobe Analytics ได้รับการขยายให้ครอบคลุมเสียงพูด นักการตลาดในทุกๆ ที่จะสามารถใช้การระบุแหล่งที่มา (Attribution) เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์โดยรวมและจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม ในอดีตที่ผ่านมา กระบวนการระบุแหล่งที่มานี้มักจะอาศัยวิธีการคาดเดา โดยมุ่งเน้นที่ช่องทางการติดต่อแรกสุด (เช่น เว็บไซต์ของบริษัท) และช่องทางการติดต่อล่าสุด (เช่น การสั่งซื้อทางออนไลน์) และทุกสิ่งที่อยู่ระหว่างกลางก็จะถูกตัดออกทั้งหมด เช่น การติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย ด้วย Attribution IQ สำหรับเสียงพูด การโต้ตอบด้วยเสียงพูดบนอุปกรณ์ต่างๆ ก็จะได้รับเครดิตอย่างยุติธรรม ตัวอย่างเช่น เครือโรงแรมจะสามารถตรวจสอบว่าการค้นหาข้อมูลบน Alexa และการใช้อุปกรณ์ Amazon Echo ในห้องพักช่วยกระตุ้นยอดขายและความภักดีของลูกค้าอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญมากขึ้น เพราะ 16% ของผู้บริโภคในปัจจุบันใช้ลำโพงอัจฉริยะสำหรับการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรมและเที่ยวบิน (ผลการสำรวจของอะโดบี)

นอกจากนี้ ฟีเจอร์หลักๆ ของ Adobe Analytics ยังได้รับการขยายให้ครอบคลุมเสียงพูด เพื่อช่วยให้แบรนด์ต่างๆ ได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกที่ละเอียด นำไปใช้งานได้จริง และรองรับดัชนีชี้วัดที่สำคัญๆ โดยจะสามารถใช้ข้อมูลเสียงพูดในการวิเคราะห์กระบวนการ การเชื่อมโยงเสียงพูดกับช่องทางอื่นๆ และการระบุว่าลูกค้ายกเลิกการติดต่อสื่อสารกับแบรนด์นั้นๆ หรือไม่ การวิเคราะห์การมีส่วนร่วม (Contribution Analysis) ที่ขับเคลื่อนด้วย Adobe Sensei ซึ่งเป็นเทคโนโลยี AI และ Machine Learning ของอะโดบี จะสามารถใช้งานกับข้อมูลเสียงพูด เพื่อระบุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติต่างๆ เช่น ผู้ใช้ยุติการดำเนินการกลางคัน หรือยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน สุดท้าย Segment IQ (ซึ่งขับเคลื่อนด้วย Adobe Sensei เช่นกัน) จะใช้ข้อมูลเสียงพูดเพื่อปรับปรุงการกำหนดเซ็กเมนต์ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนับว่าจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างเซ็กเมนต์ของผู้ใช้วัยหนุ่มสาว ซึ่งมีแนวโน้มที่จะใช้งานเสียงพูดมากกว่าผู้ใช้กลุ่มอื่นๆ ผลการสำรวจของอะโดบีแสดงให้เห็นว่า 40% ของผู้ใช้ลำโพงอัจฉริยะมีอายุระหว่าง 18 ถึง 34 ปี

คอนเทนต์เสียงพูดที่ดีกว่า

บรรดาแบรนด์ชั้นนำของโลกใช้ Adobe Experience Manager ในการจัดการเนื้อหาคอนเทนต์ เพราะสามารถสร้างคอนเทนต์หรือประสบการณ์ลูกค้าหนึ่งชุด และนำไปปรับใช้กับช่องทางต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ฟีเจอร์ Fluid Experiences ภายใน Experience Manager ได้รับการพัฒนาต่อยอดให้ครอบคลุมช่องทางใหม่ๆ รวมถึงเสียงพูด ซึ่งจะช่วยให้นักการตลาดสามารถเปิดตัวเนื้อหาคอนเทนต์ที่สดใหม่ไปสู่อุปกรณ์ที่สั่งงานด้วยเสียงพูดได้อย่างคล่องตัว ป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และมอบประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ ตัวอย่างเช่น ลูกค้าที่เริ่มต้นการเลือกซื้อสินค้าบนคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป จะได้รับรายละเอียดสินค้า โปรโมชั่น และเนื้อหาบล็อกแบบเดียวกัน เมื่อลูกค้าติดต่อกับแบรนด์นั้นๆ โดยใช้อินเทอร์เฟซเสียงพูดอย่างเช่น Amazon Echo หรือผ่านทางสมาร์ทโฟน ประสบการณ์แบบไร้รอยต่อบนอุปกรณ์ที่หลากหลายนี้มีความสำคัญมากขึ้นต่อธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากมีผู้บริโภคที่เริ่มกระบวนการซื้อสินค้าบนลำโพงอัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น โดย 47% ทำการค้นหาสินค้า/ค้นหาข้อมูล, 43% สร้างรายการสินค้าที่จะซื้อ และ 32% ทำการเปรียบเทียบราคา (ผลการสำรวจของอะโดบี)

การปรับแต่งแบบเฉพาะบุคคลที่เหนือกว่า

นักการตลาดที่ใช้ Adobe Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลเสียงพูด ได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกเพิ่มมากขึ้นว่าลูกค้าติดต่อสื่อสารกับแบรนด์ในลักษณะใดบ้าง โดย 71% ของผู้ใช้ลำโพงอัจฉริยะมีการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าววันละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย ขณะที่ 44% ใช้งานวันละหลายครั้ง (ผลการสำรวจของอะโดบี) ข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลที่ถูกรวมเข้าด้วยกันและไม่มีการระบุชื่อ แต่ก็บ่งบอกถึงรสนิยมและพฤติกรรมของลูกค้า ทั้งนี้ ใน Adobe Target ซึ่งเป็นเอนจิ้นการปรับแต่งแบบเฉพาะบุคคล (Personalization Engine) ใน Adobe Experience Cloud เราได้นำเสนอความสามารถใหม่ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกด้านเสียงพูด เพื่อรองรับการปรับแต่งแบบเฉพาะบุคคลสำหรับช่องทางอื่นๆ เช่น เดสก์ท็อป และโมบายล์ ตัวอย่างเช่น บริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่งตรวจพบกลุ่มผู้ใช้เทคโนโลยีเสียงพูดในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางไปยังไอซ์แลนด์ในช่วงฤดูหนาว ซึ่ง Adobe Target จะช่วยให้บริษัทดังกล่าวสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกนี้ เพื่อโปรโมตเนื้อหาคอนเทนต์และโปรโมชั่นที่เกี่ยวกับไอซ์แลนด์ผ่านทางเว็บไซต์และโมบายล์แอพ

รายละเอียดเพิ่มเติม www.adobe.com/sea

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

ที่มา : www.adobe.com วันที่ : 27 กันยายน 2561

มือถือออกใหม่