ซอฟต์แวร์ (Software)  |   วันที่ : 24 ตุลาคม 2561

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

10 ปีที่แล้ว Google ได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชันแรกบนสมาร์ทโฟน T-Mobile G1 และเปิดตัว Android Market (ชื่อเรียกในปัจจุบันคือ Google Play) ในวันเดียวกัน จากวันนั้นเป็นต้นมาแพลตฟอร์ม Android เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากจนขณะนี้มีอุปกรณ์ Android เปิดใช้งานอยู่จำนวนกว่า 2 พันล้านเครื่องทั่วโลก

ตัวระบบปฏิบัติการได้ผ่านการแปลงที่สำคัญหลายอย่าง โดย Android เวอร์ชั่น 1.0 ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อเรียกเป็นชื่อขนมหวานเหมือนกับเวอร์ชั่นอื่น ๆ การปรากฏตัวครั้งแรกมาพร้อมกับฟีเจอร์ที่ผู้คนรู้จักและชื่นชอบในปัจจุบัน เช่น การแจ้งเตือนแบบปัดเลื่อนลงมา การแชร์เนื้อหาระหว่างแอปและการทำงานหลายอย่างระหว่างแอป แต่เวลานั้นยังไม่มีฟีเจอร์ขั้นสูงอย่างเช่น การค้นหาด้วยเสียง การนำทางแบบเลี้ยวต่อเลี้ยว หรือแม้แต่ NFC ซึ่งเทียบกับตอนนี้ถือว่า Android เดินทางมาไกลมากแล้ว! แพลตฟอร์ม Android 9 Pie รุ่นล่าสุดมีฟีเจอร์เหล่านี้ทั้งหมดและสามารถใช้พลังของปัญญาประดิษฐ์เพื่อทำให้โทรศัพท์ของคุณฉลาด ใช้ง่ายและปรับตัวเข้ากับผู้ใช้งานได้มากขึ้น

เนื่องในโอกาสวันเกิดปีที่ 10 ของ Android Google จึงพาย้อนรำลึกความหลังตั้งแต่ Android เวอร์ชั่นแรกสุด การปรับปรุงที่สำคัญของแต่ละเวอร์ชั่นว่าเป็นอย่างไรตลอดระยะเวลาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

Cupcake (Android 1.5) เพิ่มแป้นคีย์บอร์ดเสมือน ปรับแต่งทางเลือกทำให้แชร์ข้อมูลง่ายขึ้น

การเปิดตัวแป้นพิมพ์เสมือนในเวอร์ชัน่นี้เป็นการเปิดประตูสู่ยุคสมาร์ทโฟน Android จอสัมผัสเต็มรูปแบบ การติดตั้งวิตเจ็ตบนหน้าจอหลักช่วยให้ผู้ใช้ปรับแต่งอุปกรณ์ให้เหมาะกับการใช้งานของตัวเองซึ่งฟีเจอร์นี้ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้การแชร์ข้อมูลจากสมาร์ทโฟนยังกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นด้วยวิธีคัดลอกและวาง การจับภาพหน้าจอ การแชร์และอัปโหลดวิดีโอ

Donut (Android 1.6) ค้นหาข้อมูลต่าง ๆ จากบนสมาร์ทโฟนและเว็บไซต์ได้ง่ายดายขึ้น

ในเวอร์ชั่นนี้มาพร้อมกับแถบค้นหาด่วน Quick Search Box ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานหาข้อมูลจากบนสมาร์ทโฟนหรือค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ผ่านช่องทางเดียวกันบนหน้าจอหลัก มีการออกแบบระบบค้นหาโดยเรียนรู้ว่าผลการค้นหาใดเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและรวดเร็วขึ้นในครั้งต่อไปที่พิมพ์ข้อความจากแถบค้นหาด่วน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการทำงานบนอุปกรณ์ที่มีความละเอียดหน้าจอและขนาดหน้าจอแตกต่างกันโดยกลายเป็นกฏพื้นฐานที่นำไปสู่ความหลากหลายของขนาดหน้าจอสมาร์ทโฟน Android ในทุกวันนี้

Eclair (Android 2.0+) พลิกโฉมวิธีการขับขี่รถยนต์ด้วยระบบนำทางและการใช้เสียงนำทางประกอบบน Google Maps

Google Maps ใน Android เวอร์ชั่นนี้มีฟีเจอร์นำทางแบบเลี้ยวต่อเลี้ยว ฟีเจอร์มุมมอง 3D นำทางด้วยเสียงและแสดงข้อมูลจราจร ทั้งหมดนี้ใช้งานได้ฟรี ใน Android 2.0+ Eclair ยังสามารถบันทึกข้อความด้วยเสียงพูดช่วยให้ผู้ใช้เขียนข้อความอีเมลด้วยเสียงพูดได้

แฟน ๆ บางคนอาจจะจำได้ว่า Android เวอร์ชั่นนี้ยังมาพร้อมฟีเจอร์ที่หลายคนชื่นชอบอย่าง Live wallpapers หรือภาพพื้นหลังแบบเคลื่อนไหว

Froyo (Android 2.2+) การสั่งงานด้วยเสียง (Voice Actions)

ในเวอร์ชั่นนี้มาพร้อมความสามารถด้านเสียงในระดับที่สูงขึ้น ผู้ใช้สามารถสั่งงานระบบด้วยเสียงพูดซึ่งช่วยให้ทำงานบางอย่างได้ เช่น การค้นหาข้อมูล การข้อเส้นทาง การจดบันทึก การตั้งค่าระดับการแจ้งเตือนและอื่น ๆ

Gingerbread (Android 2.3) เพิ่มความสามารถในการจัดการแบตเตอรี่

ในเวอร์ชั่นนี้ผู้ใช้งานสามารถยืดอายุการใช้แบตเตอรี่ได้นานขึ้นโดยดูจากข้อมูลการใช้แบตเตอรี่ว่าฟังก์ชั่นหรือแอพใดที่ใช้แบตเตอรี่เยอะ ตั้งแต่ความสว่างหน้าจอไปจนถึงแอปที่เปิดใช้งานอยู่ สำหรับ Android 9 Pie เวอร์ชั่นล่าสุดนั้นมีการยกระดับการจัดการแบตเตอรี่ด้วยฟีเจอร์ Adaptive Battery ซึ่งใช้ AI เรียนรู้ว่าแอพใดที่ผู้ใช้ใช้มากที่สุดเพื่อจัดลำดับความสำคัญของแบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง

Honeycomb (Android 3.0) การเพิ่มศักยภาพของ Android ให้เหมาะกับอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่

เวอร์ชั่นนี้มาพร้อมภาษาการออกแบบใหม่สไตล์ Holo การปรับเค้าโครงและสนับสนุนเนื้อหาแอนิเมชั่นซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ Android เหมาะกับอุปกรณ์ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่อย่างแท็บเล็ต นอกจากนี้ยังเป็น Android เวอร์ชั่นแรกที่ออกแบบมาให้รองรับอุปกรณ์ที่มีความหลากหลายซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการนำ Android ไปใช้งานบนอุปกรณ์อื่น ๆ ในภายหลัง เช่น Android TV, Android Auto, Android Things และ WearOS by Google

Ice Cream Sandwich (Android 4.0) การทำงานที่ลื่นขึ้น

ในเวอร์ชั่นนี้มาพร้อมกับความเรียบง่ายและคล่องตัวเพื่อให้ผู้ใช้ทำสิ่งต่าง ๆ บนสมาร์ทโฟนได้เร็วขึ้น ฟีเจอร์ใหม่อย่างเช่น โฟลเดอร์แอพ ถาดรายการโปรดและวิตเจ็ตช่วยให้ผู้ใช้ค้นหาและใช้งานแอพโปรดได้ง่ายขึ้น การเพิ่มฟีเจอร์ NFC นอกจากจะเป็นยุคเริ่มของการชำระเงินผ่านมือถือแล้วยังเป็นการสร้างวิธีแชร์ข้อมูล แผนที่ วิดีโอหรือเนื้อหาต่าง ๆ จากสมาร์ทโฟนเครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องด้วยการแตะโทรศัพท์เข้าหากัน

แถบนำทางถูกปรับปรุงให้ทำงานได้มากขึ้น สามารถเข้าถึงการตั้งค่าอย่างรวดเร็ว สามารถกวาดนิ้วเพื่อปิดแอพพลิเคชั่นและการแจ้งเตือนล่าสุด ซึ่งฟีเจอร์เหล่านี้ถูกนำมาใช้บนแท็บเล็ต Android Honeycomb ก่อนจะนำมาใช้งานบนสมาร์ทโฟน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ บน Android ซึ่งยังคงเป็นความพยายามที่ดำเนินต่อไปจนถึงวันนี้เรามีการเข้าถึงด้วยท่าทางนิ้วมือที่ง่ายขึ้นบน Android 9 Pie

Jelly Bean (Android 4.1) ผู้ช่วยฉลาดล้ำที่เรียกใช้งานได้จากบนฝ่ามือ

ในเวอร์ชั่นนี้มาพร้อม Google Now ซึ่งแสดงข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการในเวลาที่เหมาะสม เช่น สภาพอากาศ ข้อมูลการเดินทาง การแจ้งเตือนล่วงหน้า ซึ่งผู้ใช้สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมหรือดำเนินการต่อได้ทันที เช่น บันทึกอีเมล ปิดการแจ้งเตือนลงชั่วคราว เป็นต้น

KitKat (Android 4.4) "OK Google..."

ในเวอร์ชั่นนี้มีการอัปเกรดความสามารถของ Google Now ให้รองรับคำสั่งเสียงได้มากขึ้นและสามารถเปิดแอพด้วยคำสั่งเสียง ส่งข้อความ ขอเส้นทางหรือแม้แต่ฟังเพลงด้วยการพูดว่า "OK Google..." ตามด้วยคำสั่ง นอกจากนี้ Android 4.4 KitKat ยังนำสีที่มีความเข้มลดลง โปร่งใสมากขึ้นซึ่งเป็นการปูพรมไปสู่ภาษาการออกแบบ "Material Design" ใน Android Lollipop

Lollipop (Android 5.0) การออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ที่ยอดเยี่ยมบน Android

ในเวอร์ชั่นนี้มีการใช้ภาษาการออกแบบ Material Design ซึ่งนำเสนอรูปลักษณ์และความรู้สึกในการใช้งานใหม่ทั้งหมด ผู้ใช้จะรู้สึกว่าใช้งานง่ายขึ้นโดย Material Design เป็นภาษาภาพที่ใช้หลักการการออกแบบที่มีความคลาสสิก เรียบง่ายและให้ความรู้สึกคุ้นเคย โดยในเวอร์ชั่นนี้อุปกรณ์ Android ต่าง ๆ จะเชื่อมถึงกันได้ราบรื่นมากขึ้นและมีช่องว่างที่ลดน้อยลงเพื่อรองรับการสลับเปลี่ยนอุปกรณ์ในระหว่างวันไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โทรทัศน์และอุปกรณ์สวมใส่

Marshmallow (Android 6.0) ความช่วยเหลือในรูปแบบของ "การแตะ"

ในเวอร์ชั่นนี้เป็นก้าวก่อนที่จะกลายเป็นผู้ช่วย Google Assistant อย่างเช่นทุกวันนี้ ฟีเจอร์ Now on Tap ซึ่งผู้ใช้สามารถแตะปุ่ม Home ค้างไว้เพื่อขอความช่วยเหลือโดยไม่ต้องออกจากแอพที่กำลังใช้งานอยู่

Android Marshmallow ยังได้นำฟีเจอร์ประหยัดพลังงานแบบใหม่ ๆ มาใช้ เช่น Doze mode ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์อยู่ในสถานะหยุดพักในขณะที่ผู้ใช้นอนหลับพักผ่อน App Standby ซึ่งจะจำกัดการเข้าถึงระบบจากแอพพลิเคชั่นที่ไม่ค่อยได้ใช้งานเพื่อยืดอายุแบตเตอรี่

นอกจากนี้ Google ยังนำเสนอสิทธิการเข้าถึงเมื่อใช้งาน (run-time permissions) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้มีความเข้าใจและสามารถประเมินคำขอการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ จากแอพพลิเคชั่นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Nougat (Android 7.0) อีโมจิใหม่ ๆ เพียบ

ในเวอร์ชั่นนี้มุ่งเน้นที่การปรับปรุงวิธีการใช้งานสองแอพพร้อมกันบนหน้าจอเดียวด้วย multi-window การตอบกลับในหน้าต่างการแจ้งเตือนโดยไม่ต้องเข้าแอพ Data Saver การจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตจากเครือข่ายมือถือบนแอพที่ทำงานเบื้องหลัง นอกจากนี้ยังเปิดตัวโหมด VR ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้รับชมคอนเทนต์ VR คุณภาพสูงจากแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ การแนะนำอีโมจิใหม่กว่า 63 แบบซึ่งโฟกัสที่สิทธิของการแสดงออกทางเพศ มีสีผิวให้เลือกถึง 6 โทนสี

Oreo (Android 8.0) เมื่อขนมคุกกี้กลายเป็น Android

ในเวอร์ชั่นนี้มาพร้อมกับการแนะนำวิธีใช้สมาร์ทโฟนที่เจาะลึกรายละเอียดบางอย่างมากขึ้น เช่น ฟีเจอร์ picture-in-picture การเปิดแอพซ้อนทับกันในเวลาเดียวกัน Autofill การป้อนข้อมูลอัตโนมัติ Android Oreo มีความพยายามที่จะลดความยุ่งยากในการเข้าถึงฟังก์ชั่นต่าง ๆ  เช่น การใช้นิ้วปัดขึ้นจากหน้าจอหลักเพื่อดูแอพทั้งหมดภายในเครื่อง

Android Oreo (Go edition) ยังเป็นแพลตฟอร์มเวอร์ชั่นแรกที่ออกแบบมาเพื่ออุปกรณ์ที่มีสเปกต่ำ ผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์การใช้งานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

Pie (Android 9) บริการด้านสุขภาพ Digital Wellbeing

วิธีและระยะเวลาที่ผู้ใช้หมดไปกับสมาร์ทโฟนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ Android 1.5 Cupcake ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดใน Android 9 Pie ก็คือการแนะนำวิธีใหม่ในการจัดการคุณภาพชีวิตแบบดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นตัวจับเวลาการใช้งานแอพ หน้าแสดงข้อมูลการใช้งานแอพและเวลาที่คุณใช้ไปกับแอพต่าง ๆ ซึ่งใน Android 9 Pie สมาร์ทโฟนจะเรียนรู้จากผู้ใช้มากขึ้น ผู้ใช้ใช้แอพอะไรบ่อย ใช้แอพอะไรในวันธรรมดา ใช้แอพอะไรในช่วงเวลานี้ จะมี AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคาดเดาล่วงหน้าว่าผู้ใช้ต้องการอะไรเพื่อจัดลำดับความสำคัญของพลังงานแบตเตอรี่

ตั้งแต่วันแรก ๆ ของการสั่งงานด้วยเสียงพูดเพื่อแปลเป็นข้อความจนถึงวันนี้ที่สมาร์ทโฟน Android สามารถช่วยเหลือเราได้มากขึ้นด้วยเทคโนโลยี AI สิ่งเหล่านี้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา Google ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแพลตฟอร์มแบบเปิดทั้งชุมชนผู้ใช้งาน คู่ค้าและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีส่วนช่วยให้ Android สามารถสร้างนวัตกรรมและนำผู้คนเข้าถึงเทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟนได้อย่างเช่นปัจจุบัน

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

Tags :

มือถือออกใหม่