องค์กร (Corporate) | วันที่ : 9 สิงหาคม 2564
สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ผนึกกำลังกับเครือข่ายอสังหาริมทรัพย์ไทย และสำนักงานเขตราษฏร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร จัดตั้ง “ศูนย์พักคอยเขตราษฏร์บูรณะ (Community Isolation Center)” โดยได้รับความเอื้อเฟื้อด้านสถานที่จาก บมจ. ศรีไทยชุปเปอร์แวร์ ร่วมสนับสนุนโดย โรงพยาบาลประชาพัฒน์, มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสาธารณสุขศาสตร์, ย่านนวัตกรรม การแพทย์โยธี (YMID), มหาวิทยาลัยเทคโลโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, บมจ.เมืองไทยประกันภัย และมูลนิธิมาดามแป้ง ในการเพิ่มเตียงช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ให้เข้าถึงการรักษากว่า 200 เตียง เพื่อจะลดวงจรการระบาดลง พันธกิจนี้ภาคเอกชนจะยังคงเดินหน้าเพื่อขยายเตียงรักษาผู้ป่วยโควิด ให้มีความหวัง และพลังใจ
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ยังคงต้องอยู่กับสถานการณ์นี้อีกนาน เนื่องจากสายพันธุ์โควิด-19 ยังมีการพัฒนาตัวเองอยู่ ขณะที่การฉีดวัคซีนยังไม่สามารถฉีดให้ครอบคลุมประชากรได้ตามที่รัฐกำหนด วัคซีนได้มาบ้างไม่ได้บ้าง ตัวเลขการล็อกดาวน์ยังไม่ดีขึ้น และอาจจะล็อกไม่ได้แบบประเทศจีน ที่สามารถสั่งหยุดแล้ว หยุดได้ เพราะฉะนั้นคนไทยยังต้องอยู่กับสถานการณ์นี้อีกนาน ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนยังไม่ได้ตามเป้าหมาย ต้องคอยติดตามจำนวนวัคซีนที่จะทะลักเข้ามาในอีก 1-2 เดือนนี้ และสามารถฉีดได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น ทุกคนจึงต้องปรับตัวที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ ซึ่งหากรัฐบาลจะใช้มาตรการล็อกดาวน์ยาวจนกระทั่งสถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยเปิดคงจะไม่ได้
จากสถานการณ์ดังกล่าว สมาคมฯ ได้มีการประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ และหน่วยงานราชการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก่อนหน้านี้มีการติดเชื้อในชุมชนแพร่กระจายมากขึ้น ทางสมาคมฯ ได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือในชุมชนต่าง ๆ ต่อมาขยายวงอออกไปยังแคมป์แรงงานก่อสร้าง สมาคมฯ จึงมีแนวคิดจะตั้งศูนย์พักคอย โดยประสานหาสถานที่ต่าง ๆ ทั้งที่ดินของสำนักงานทรัพย์สิน การรถไฟ ท่าเรือ ที่ดินราชพัสดุ หลังจากนั้น มีการประสานจากโรงพยาบาลประชาพัฒน์ ว่ายังมีกำลังที่พอจะช่วยดูแลผู้ป่วยในศูนย์พักคอยได้หรือไม่ เนื่องจากทาง รพ. ก็มีจำนวนเตียงไม่มากพอ ขณะที่ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากมานอนรอเตียงหน้าโรงพยาบาล ทาง รพ. จึงมีความต้องการจัดการแยกผู้ป่วยสีเขียว เหลือง ออกจากกัน โดยการนำผู้ป่วยสีเขียวไปอยู่ด้านนอก แล้วส่งเฉพาะผู้ป่วยสีแดงเข้าสู่ รพ. ซึ่งจะทำให้บริหารจัดการได้ดีขึ้น ประกอบกับทางสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะได้รับนโยบายจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้แต่ละเขตจัดตั้งศูนย์พักคอย จึงทำให้เกิดความร่วมมือนี้ขึ้น สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยมีนายอดิเรก แสงใสแก้ว อุปนายกและเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย , ดร.วรพจน์ กันตพิพัฒน์ อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ร่วมกันเนรมิตโกดังเก่าของ บมจ. ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ บนถนนราษฎร์บูรณะขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด ในส่วนของภาคเอกชนที่เข้าร่วมดำเนินการปรับปรุงโกดังเก่า โดยประสานหาพันธมิตรมีความเชี่ยวชาญทางด้านการก่อสร้าง เข้ามาดำเนินการปรับปรุง , สร้างห้องน้ำ , ห้องอาบน้ำ , ระบบบำบัดน้ำเสีย , สร้างห้องความดันลบ , ปรับปรุงระบบไฟฟ้าและประปา โดยได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ รพ. ประชาพัฒน์, บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต , มูลนิธิมาดามแป้ง
หากสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยยังอยู่ในหลักหมื่น สักระยะหนึ่งผู้ป่วยจะกลายเป็นสีเขียว เหลือง และแดงเพิ่มมากขึ้น จากการแพร่เชื้อสู่ครอบครัวและชุมชน จึงทำให้ศูนย์นี้เตรียมความพร้อมสู่การยกระดับเป็น รพ. สนามต่อไปในอนาคต โดยปัจจุบันศูนย์พักคอยนี้ใช้สำหรับรองรับผู้ป่วยสีเขียว และในเฟสสอง อาจจะมีการเพิ่มเตียงจากจำนวน 200 เตียง เป็น 400 เตียง
“เราคาดหวังว่าจะสามารถช่วยคนได้หลายพันคนไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่ม การทำศูนย์พักคอยไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเตรียมแบบก่อสร้างที่ถูกต้องตามหลักสาธารณสุข การบำบัดน้ำเสีย ถือเป็นความร่วมมือที่ดีมากจากหลายภาคส่วนจนประสบความสำเร็จ” นายพรนริศ กล่าว
ในโอกาสนี้ อยากจะเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือ ทั้งนี้ ภาระกิจยังต้องดำเนินต่อเนื่องไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมส่งต่อพลัง สนับสนุนการบริจาค เตียงละ 20,000 บาท หรือ ตามกำลังศรัทธา เพื่อการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ ตลอดจนสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด แล้วเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ชื่อบัญชี "สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย" ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เลขบัญชี 889-2-19372-5 ส่งสลิปเพื่อออกหนังสือขอบคุณได้ที่ Line@trea
ด้านนายแพทย์ณัฐวุฒิ แหวนหล่อ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลประชาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ภาพรวมของประเทศและในกรุงเทพมหานคร จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีปัญหาในการเข้าถึงกระบวนการรักษา ทั้งเรื่องของจำนวนเตียงในโรงพยาบาลที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยได้ กลุ่มที่รอเตียงเข้าถึงกระบวนการรักษาและยารักษาได้ค่อนข้างยาก ทางโรงพยาบาลประชาพัฒน์มีจำนวนผู้ป่วยที่รอเตียงอยู่มากพอสมควร จึงเป็นที่มาของโครงการจัดตั้ง “ศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะ”
ทั้งนี้ จากการหารือกับทางผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งทางเขตมีนโยบายไม่ให้มีผู้ป่วยอยู่ในชุมชน จึงร่วมกันกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และภาคเอกชนจัดตั้งศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงกระบวนการรักษาได้ และในระหว่างที่รอเตียงควรแยกกักตัวออกมาจากครอบครัวและชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยสู่ครอบครัว
สำหรับนโยบายของภาครัฐ กระบวนการ Home Isolation นั้นถือว่าดี แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างทำได้ยาก ด้วยเหตุผลที่ว่าลักษณะที่อยู่อาศัยในชุมชน ผู้ป่วยที่ไม่เอื้อต่อการแยกกักตัว ดังนั้น การเอาผู้ป่วยกลุ่มนี้ออกมากักตัวรวมกันในที่ ๆ จัดไว้พร้อมทั้งได้รับการดูแลทางการแพทย์จะดีกว่าในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ซึ่งทาง รพ. มีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยโควิดอยู่แล้ว แต่จะมีปัญหาในแง่ของผู้ป่วยเคสสีเขียวที่ในความเป็นจริงสามารถอยู่ที่บ้านได้ หรือมากักตัวในสถานที่ชุมชนจัดไว้ แต่เนื่องจากผู้ป่วยในระบบมีจำนวนมาก ทาง รพ. จึงอยากนำผู้ป่วยเคสสีเขียวออกมาดูแลข้างนอก ซึ่งการแยกผู้ป่วยเคสสีเขียวออกมายังศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะ เพื่อให้ รพ. มีขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยเคสสีเหลือง และส้มได้มากขึ้น
ศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะ ตั้งอยู่ห่างจาก รพ. ประชาพัฒน์ ประมาณ 3 กิโลเมตร จึงง่ายต่อการรับส่งต่อผู้ป่วยที่อาการหนักมายัง รพ. ได้ โดยศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะมีจำนวน 200 เตียง ซึ่งในอนาคตขึ้นอยู่กับสถานการณ์อาจยกระดับเป็น รพ. สนาม โดยการให้บริการของศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะ จะเน้นการดูแลผู้ป่วยเคสสีเขียวที่พบเชื้อแล้ว ต้องไม่มีข้อห้ามในการเข้าศูนย์ต่าง ๆ การติดต่อรับผู้ป่วยจะรับเคสที่มาจากสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ และสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ ผู้ป่วยจะเข้ามาที่ศูนย์พักคอยโดยตรงไม่ได้ จะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองเชื้อ ผ่านการดูแลเบื้องต้นต่าง ๆ ก่อน ในการนี้ ทาง รพ. จะเน้นหนักเรื่องการประเมินผู้ป่วยว่าสามารถที่จะเข้าศูนย์ได้ จึงจะคัดกรองส่งมายังศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะ
ในปัจจุบันมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสิ่งต่าง ๆ เข้ามา แต่สิ่งที่ยังคงต้องการอยู่ คือ อุปกรณ์ที่ใช้สอยในตัวศูนย์ อาทิ พัดลมคนไข้ , ผ้าปูที่นอน , หมอน , มุ้ง , อาหาร และอุปกรณ์ที่ใช้ดูแลผู้ป่วย อาทิ ถุงขยะสีแดง , อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ชุดป้องกัน PPE , หน้ากาก N95 , ถุงมือ ซึ่งสามารถบริจาคได้ที่ศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะ โรงพยาบาลประชาพัฒน์ สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ และช่องทางที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐผ่อนเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งการตรวจหาเชื้อจะมีปัญหาเวลารับผู้ป่วยเข้าศูนย์ อยากรับผู้ป่วยที่มีการยืนยันผลเป็นบวก และการตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) ที่บ้านแล้วมีผลเป็นบวก แต่ยังเข้าสู่ระบบการรักษาไม่ได้ เพราะต้องไปตรวจยืนยันผล RT-PCR อีกที จะทำให้ระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษายิ่งช้าออกไปมากกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลถึงสุขภาพตลอดจนชีวิตของผู้ป่วยได้
ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ
วันที่ : 9 สิงหาคม 2564
OPPO Reno 13 Series ชิปเซ็ต Dimensity 8350 กันน้ำกันฝุ่น IP69 และชาร์จเร็ว 80W!
Redmi A4 5G หน้าจอ 120Hz ดีไซน์พรีเมียมมากขึ้น ชิปเซ็ต Snapdragon 4s Gen 2 เล่นเกมเพลิน
ทำความรู้จัก HONOR 200 Smart 5G หน้าจอ 120Hz ทนน้ำทนฝุ่น IP64 กล้องหลัง 50MP AI Motion Sensing
ทำความรู้จัก TECNO SPARK 30C หน้าจอ 120Hz ทนน้ำทนฝุ่น IP54 ลำโพงสเตอริโอ มีชาร์จเร็ว
เปิดตัว HUAWEI FreeBuds Pro 4! หูฟังไร้สายรุ่นแรกที่ใช้ HarmonyOS NEXT
รีวิว HONOR 200 Smart 5G คุ้มค่าเกินราคา สุดยอดสมาร์ทโฟนสำหรับคนชอบลุย17 ชั่วโมงที่แล้ว