www.siamphone.com

ข่าว

สรอ. จัดใหญ่ ประกวดโมบายแอพฯ ภาครัฐ 'MEGA2015' ระดมแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ หวังสร้างแอพฯ ชั้นยอดบริการประชาชน

สมาร์ทโฟน (Smartphone)   |   วันที่ : 21 ธันวาคม 2558

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จัดใหญ่ ประกวดโมบาย แอพฯ ภาครัฐ MEGA2015 ระดมแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ หวังสร้างแอพฯ ชั้นยอดบริการประชาชน พร้อมเผย 10 แอพฯ ภาครัฐยอดนิยมแห่งปี ชี้ทิศทางแอพฯ ภาครัฐด้านบริการมาแรงปี 2559

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า โครงการประกวดผลงานนวัตกรรมการพัฒนาโมบาย แอพพลิเคชัน ภาครัฐ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2558 หรือ Mobile Enterprise d-Government Awards 2015 (MEGA2015) ในครั้งนี้ เป็นการปลุกกระแสให้ทั้งวงการภาครัฐที่เป็นเจ้าของข้อมูล และนักพัฒนาแอพพลิเคชันในส่วนต่างๆ ของประเทศ ได้เกิดความร่วมมือกันในขั้นต้น นำไปสู่การที่แอพพลิเคชันใหม่ๆ ของภาครัฐจะกลายเป็น service application หรือแอพพลิเคชันภาครัฐที่เน้นการให้บริการ เกิดธุรกรรมที่ใช้งานจากประชาชน ไม่ใช่เป็นเพียงแอพพลิเคชันที่ให้แค่ตัวหนังสือ ข่าวสารบางด้าน หรือให้ประชาชนรู้จักองค์กรของตนเองเท่านั้น ภาครัฐต้องเปลี่ยนข้อมูลและสิ่งต่างๆ ที่มีในเว็บ ในแอพพลิเคชันเดิม ให้กลายเป็นบริการ ให้ประชาชนได้เข้าไปใช้งาน ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ ให้ประชาชนได้เข้าถึงงานบริการของภาครัฐได้ง่ายขึ้น ตัดปัญหาทางด้านต่างๆ ของการให้บริการภาครัฐลงไป นี่คือแนวโน้มใหม่ที่นโยบายการสร้างยุคเศรษฐกิจดิจิทัลต้องการเห็น และต้องการให้เป็นไปและที่สำคัญสำหรับการประกวดครั้งนี้ คือ EGA รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีต่อโครงการที่ท่านทรงพระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ ซึ่งเปรียบเสมือนการได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ที่ทรงตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการและการพัฒนาประเทศ มาเป็นหลักในการดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ มาสู่ภาคปฏิบัติ EGA มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนา โมบาย แอพพลิเคชัน ของภาครัฐ เพื่อเป็นการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพบริการของรัฐให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วย

นางสาวมาลี วงศาโรจน์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นการประกวดการสร้างแอพพลิเคชันของภาครัฐที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่าที่สุดที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งมือใหม่และมืออาชีพไม่ควรพลาด อันเนื่องมาจากการได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นปีแรก และจะเป็นรางวัลที่สนับสนุนให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ จากแนวคิดที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากบริการภาครัฐมากที่สุดโมบาย แอพพลิเคชัน ภาครัฐจะทำให้เกิด Transparency สนับสนุนความโปร่งใส ด้วยการนำชุดข้อมูลภาครัฐใน data.go.th มาใช้ต่อยอดพัฒนาเป็นแอพพลิเคชัน ทำให้เกิดการยอมรับในการบริการของภาครัฐ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ในการประกวดครั้งนี้ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญภาครัฐจากหน่วยงานต่างๆ มาพัฒนาเป็นโมบายแอพพลิเคชันใหม่ นั่นคือการ Integrate ซึ่งจะเป็นการทำลายขอบเขตเดิมคือ หน่วยงานรัฐจะพัฒนาแอพพลิเคชันบนฐานข้อมูลของหน่วยงานตนเอง ซึ่งการบูรณาการข้ามหน่วยงานจะสร้างประโยชน์ในการบริการใหม่ๆ ให้กับประชาชนอย่างมากในแต่ละหมวดของการแข่งขันยังแบ่งเป็นรางวัล ประเภทสุดยอดแนวคิด และประเภทสุดยอดนวัตกรรม รองรับแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อุปกรณ์ wearable หรืออุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา แว่นตา ฯลฯ จะเป็นอุปกรณ์สื่อสารหลักแทนโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยี AI จะเฉลียวฉลาดจนคนไม่ต้องพกพาอุปกรณ์อย่างอื่นติดตัว หรือการที่มีเทคโนโลยี Internet of Thing ที่เรียกว่า IOT ที่ทำให้ทุกอุปกรณ์สามารถต่อเชื่อมถึงกัน และสามารถสั่งการ โอนถ่ายข้อมูล และนำไปใช้ประโยชน์ผ่านอุปกรณ์พกพาต่างๆ ได้ นวัตกรรมเหล่านี้ สิ่งที่ทั้ง ICT และหน่วยงานพันธมิตรทั้งหมดคาดหวังก็คือ จะมีบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ ของภาครัฐเกิดขึ้นบนเวทีประกวด และถูกพิสูจน์ว่าผลงานเหล่านั้นใช้งานได้จริง ทุกหน่วยงานพร้อมที่จะสนับสนุนให้ผลงานเหล่านั้นประสบความสำเร็จ พร้อมจะเผยแพร่ให้ประชาชนได้ใช้งาน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างฉลาด หรือ smart พร้อมกับผลักดันให้บริการของภาครัฐดีขึ้น สะดวกขึ้น ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาการประกวด MEGA2014 มีผู้เข้าประกวดที่ได้รับรางวัลต่างๆ ได้รับความสนใจจากหน่วยงานรัฐในการสานงานต่อในแอพพลิเคชันนั้นๆ เพื่อให้แอพฯ เหล่านั้นได้ถูกนำไปใช้งานจากหน่วยงานรัฐนั้นจริงๆ ซึ่งแต่ละแอพพลิเคชันจากภาคเอกชนก็เข้าสู่กระบวนการเจรจา และตกลงเงื่อนไขจนออกมาสู่การใช้งานได้จริงในที่สุดขณะที่ EGA เองก็ได้เร่งผลักดันให้การเผยแพร่ข้อมูลภาครัฐผ่าน www.data.go.th มีจำนวนมากขึ้น และเป็นที่สนใจของทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำข้อมูลเหล่านั้นไปบูรณาการต่อ รวมถึงการออกมาตรฐานของชุดข้อมูลที่จะเผยแพร่ขึ้นมา ในปัจจุบันก็มีชุดข้อมูลของแต่ละหน่วยงานทยอยขึ้นในปีนี้ และจะเกิดขึ้นจริงจังในปี 2016 นี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการนำไปใช้ของผู้เข้าประกวด MEGA2015 ได้ทันที ซึ่งปัจจุบันชุดข้อมูลการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในโครงการ Open Data นี้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังเป็นชุดข้อมูลประเภทแผนที่ ตามด้วยการเมืองการปกครอง คมนาคม และโลจิสติกส์ เศรษฐกิจ การเงินและอุตสาหกรรม ตามลำดับ ซึ่งในปีใหม่นี้คาดว่าชุดข้อมูลที่เปิดเผยจะมีความละเอียดและซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม และจะทำให้ข้อมูลมีการบูรณาการกันได้ง่ายยิ่งขึ้นในส่วนของศูนย์กลาง แอพพลิเคชันภาครัฐ (Government Application Center) หรือ GAC ซึ่งถือเป็นแหล่งดาวน์โหลดโมบาย แอพพลิเคชันภาครัฐ ในรอบปีที่ผ่านมา ต้องถือว่ามีความคึกคักอย่างมาก เพราะมีแอพฯ ภาครัฐ ให้ประชาชนได้เข้ามาใช้งานด้านต่างๆ กว่า 116 แอพพลิเคชัน และทิศทางของแอพพลิเคชันที่เน้นการให้บริการเริ่มมีมากขึ้นกว่า 20% โดยในปี 2558 ในช่วงที่ผ่านมา โมบาย แอพพลิเคชัน ยอดนิยม จำนวน 10 แอพฯ ได้แก่

  • แอพพลิเคชัน “สุขพอที่พ่อสอน” รวบรวมพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทคัดตัดตอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยแพร่เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดประโยชน์ เกิดความสุขที่แท้จริงอย่างยั่งยืน
  • แอพพลิเคชัน “Doctor Asks” เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับบริการด้านสุขภาพ สื่อสารระหว่างผู้รับบริการเป็นภาษาพม่า ตามโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน แสดงข้อมูลการซักถามประวัติเจ็บป่วย อาการ คำแนะนำ คำบ่งใช้ยา เพื่อรักษาเจ็บป่วยตามอาการ
  • แอพพลิเคชัน “กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 และ 103” ให้ความรู้ด้านกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100 และมาตรา 103 มีแบบทดสอบวัดความรู้ ความเข้าใจในกฎหมาย เหมาะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกตำแหน่งรวมถึงประชาชนทั่วไป โดยสำนักงาน ป.ป.ช.
  • แอพพลิเคชัน “ร้องเรียนป่าไม้” เพื่อให้ประชาชนสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่ท่านพบได้ทันที ได้แก่ ร้องเรียนป่าไม้/เจ้าหน้าที่ เมื่อพบเห็นปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้ การบุกรุกป่า หรือพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการติดตามเรื่องร้องเรียนไปแล้ว
  • แอพพลิเคชัน “Kaset QR Code” เป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารสู่ผู้บริโภค เป็นแอพพลิเคชันสำหรับอ่าน QR Code , Barcode และ AR Code บริการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรอง
  • แอพพลิเคชัน “OHM Book Shelf” รวบรวมประมวลพระราชกรณียกิจและพระกรณียกิจส่วนหนึ่ง พร้อมด้วยภาพพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพสกนิกรได้ทราบกันโดยทั่วไป
  • แอพพลิเคชัน “LandsMaps” เพื่อตรวจสอบตำแหน่ง ภาพแปลงที่ดิน โดยระบุเลขที่โฉนด และตรวจสอบเส้นทางเพื่อเดินทางไปยังแปลงที่ดินดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบสถานที่ตั้งสำนักงานเขตที่ดินที่เกี่ยวข้อง
  • แอพพลิเคชัน “Oryor Smart” โปรแกรมที่จะช่วยให้คุณเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยา, อาหาร, เครื่องสำอาง, เครื่องมือแพทย์, วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน และวัตถุเสพติด
  • แอพพลิเคชัน “Police i lert u” ขอความช่วยเหลือจากตำรวจ 24 ชั่วโมง โดยการส่งข้อมูลส่วนตัว ภาพถ่าย เวลาเกิดเหตุ และตำแหน่งที่เกิดเหตุ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรับเรื่อง และจะประสานงานส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าช่วยเหลือ และให้บริการได้ทันที
  • แอพพลิเคชัน “We Grow” เพื่อโพสต์ข้อมูลต้นไม้ที่ปลูก ร่วมแชร์แลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ และการสำรวจพันธุ์ไม้หายากเพื่อการอนุรักษ์ ระหว่างผู้ปลูกต้นไม้ เป็นการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนไทยได้มีส่วนร่วมกับโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ สมเด็จพระเทพฯ

จะเห็นได้ว่าแอพฯ ภาครัฐ ที่ได้รับความนิยมนั้น นอกจากจะเข้ากับสถานการณ์และตรงกับการใช้งานจริง ยังขึ้นกับความจำเป็นในการใช้งานประจำวัน ดังนั้น บริการภาครัฐที่สำคัญนอกจากการให้บริการที่ปัจจุบันทันด่วน เพื่อช่วยให้ประชาชนได้ตัดสินใจในการใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ยังทำให้การได้รับบริการจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น รวมถึงบริการธุรกรรมของหน่วยงานภาครัฐที่ออกไปในเชิงพาณิชย์ก็เพิ่มอัตราการดาวน์โหลดมากขึ้นตามลำดับ

ดังนั้น ในการประกวด MEGA2015 ในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยEGA ยังคาดหวังว่าจะมีแอพฯ จากการประกวดติดอันดับยอดดาวน์โหลดจากประชาชนสูงสุดในปีต่อไปด้วย และ EGA จะเข้ามาช่วยสร้างสภาพการแข่งขันของแต่ละแอพฯ ให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นตลาดการใช้แอพฯภาครัฐให้มากขึ้นไปพร้อมกันต่อไป สำหรับการแข่งขัน MEGA2015 ในปีนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ, สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไท, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

การจัดประเภทการประกวด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ประเภทสุดยอดแนวคิด เป็นการนำเสนอความคิดของนวัตกรรมในรูปแบบของแผนธุรกิจ ทั้งด้านเทคนิค เทคโนโลยี การตลาด และการลงทุน 2. ประเภทสุดยอดนวัตกรรม เป็นการนำเสนอผลงาน หรือ นวัตกรรม ที่กำลังพัฒนา หรือพัฒนาสำเร็จแล้ว ส่วนผู้สมัครต้องสมัครเป็นทีมๆ ละไม่เกิน 3 คน เปิดกว้างให้ผู้สนใจร่วมการประกวด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มนิสิต นักศึกษา ทุกระดับชั้น (ประเภทสุดยอดแนวคิด) ที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในภาครัฐ และเอกชน 2.กลุ่มนักพัฒนาอิสระ และผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย (ประเภทสุดยอดนวัตกรรม) โดยต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย

ระยะเวลาการแข่งขัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ถึง เดือนมิถุนายน 2559 แบ่งการแข่งขันเป็น 2 รอบ คือ รอบแรก การคัดเลือกข้อเสนอโครงการ (Proposal) และ รอบชิงชนะเลิศหรือ รอบนำเสนอ (Prototype) โดยผู้ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวน 30 ทีม จะได้สิทธิพิเศษ คือ ร่วมกิจกรรมแคมป์บ่มเพาะ (3 วัน 2 คืน) เพื่อเป็นการสนับสนุนเพิ่มพูนความรู้ผ่านหลักสูตรต่างๆ อย่างรอบด้าน ผ่านการกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจที่มีแบบแผน สามารถต่อยอดหรือมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการ และดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงต่อไป

เงื่อนไขการสมัครเข้าร่วมประกวดนั้น ผู้สมัครเลือกส่งผลงานประกวดได้ประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น คือ เลือกประเภท สุดยอดแนวคิด หรือ สุดยอดนวัตกรรม เพียงหนึ่งประเภทเท่านั้น ในแต่ละประเภทสามารถส่งผลงานได้ไม่เกิน 2 ผลงาน ผลงานที่นำเสนอจะต้องเป็นผลงานที่ไม่ได้ลอกเลียนแนวคิดมาจากที่ใด หรือละเมิดลิขสิทธิ์จากผลงานอื่นๆ ในกรณีผลงานผ่านการประกวดอื่นๆ มาแล้ว ผู้ประกวดสามารถนำผลงานนั้นเข้าร่วมประกวดในโครงการนี้ได้อีก แต่ต้องไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ มาก่อน แต่หากกรณีผลงานเคยได้รับรางวัลจากการประกวดอื่นๆ มาแล้ว หรือ เผยแพร่ หรือ ผ่านการติดตั้งบน Store หรือเปิดใช้บริการเกิดผลประโยชน์ในแง่ธุรกิจแล้ว จะอนุญาตให้ร่วมประกวดได้ โดยมีเงื่อนไขคือ ขอให้ต่อยอดพัฒนาผลงานเพิ่มเติมใหม่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และให้เขียนรายงานเปรียบเทียบข้อแตกต่างผลงานก่อนและหลัง

ข้อเสนอสุดพิเศษของโครงการนี้ คือ การเพิ่มสิทธิในการได้รับรางวัล เพื่อเพิ่มโอกาสการได้รับรางวัลพิเศษในการประกวด ได้แก่ 1. การนำชุดข้อมูลภาครัฐในศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ หรือ Data.go.th มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสำหรับการประกวด 2. การเชิญหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมให้โจทย์สำคัญแก่ผู้ประกวดนำไปพัฒนาเป็นแนวคิดหรือผลงานต้นแบบ ได้แก่ แอพฯ ด้านสิ่งแวดล้อม โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างจิตสำนึกป้องกันลดการเผาในที่โล่งและหมอกควัน และแอพฯ ด้านบริการแพทย์ฉุกเฉิน โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พร้อมรับภาวะสาธารณภัย โดยทั้ง 2 แอพฯ ดังกล่าว จะนำไปต่อยอดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทั้ง 2 แห่ง เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานได้จริงต่อไป

รางวัลที่การประกวดครั้งนี้จะมอบให้แก่ผู้เข้าประกวด ที่สำคัญ คือ โอกาสการต่อยอดทางธุรกิจ (Business Opportunity) กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในการประกวดครั้งที่ผ่านมา EGA ได้เชื่อมต่อผู้เข้าประกวดเข้ากับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จนสามารถเกิดเป็นแอพพลิเคชันที่ใช้งานเชิงพาณิชย์ได้จริงหลายแอพพลิเคชัน ดังนั้นแนวคิดนี้ในปีนี้จะมีการสานต่อและเพิ่มจำนวนแอพพลิเคชันที่ใช้งานจริงให้มากขึ้น

ส่วนด้านเงินรางวัล มีทั้งสิ้น 8 รางวัลหลัก คือ ประเภทสุดยอดแนวคิดและประเภทสุดยอดนวัตกรรม (ประเภทละ 4 รางวัล) ได้แก่ 1. รางวัลชนะเลิศ คือ ถ้วยรางวัลพระราชทานและเกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน 70,000 บาท 2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน 40,000 บาท 3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน 20,000 บาท และ 4. รางวัลชมเชย คือ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน รางวัลละ 10,000 บาท

นอกจากนั้น การประกวดจะมีการมอบรางวัลพิเศษอีก 8 รางวัล ได้แก่ รางวัล Government Data Award 1 รางวัล คือ ทุนสนับสนุน 10,000 บาท , รางวัล People’s Choice Award คือ ทุนสนับสนุน 10,000 บาท และมีรางวัลจากหมวด 3 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท คือ รางวัลยอดเยี่ยมด้านเสริมสร้างคุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมรางวัลยอดเยี่ยมด้านเสริมสร้างความรู้ การบริการ สวัสดิการ , รางวัลยอดเยี่ยมด้านส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ ลงทุน ท่องเที่ยว และสุดท้ายคือ รางวัลจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ รางวัลสุดยอดแอพฯ ด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คือ ทุนสนับสนุน 30,000 บาท และ รางวัลสุดยอดแอพด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คือ ทุนสนับสนุน 10,000 บาท รางวัลจากหน่วยงานภาคเอกชน คือ รางวัล The Best Enterprise Mobile Application Award จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดยไอบีเอ็ม และ รางวัล Samsung IOT จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดย Samsung

ผู้ที่สนใจร่วมการประกวด สามารถดูรายละเอียดและกรอกใบสมัครออนไลน์ได้ที่ mega.apps.go.th หรือโทร. 02 612 6060

ที่มา : mega.apps.go.th วันที่ : 21 ธันวาคม 2558

1,794
อ่าน

แบ่งปันบทความ

ข่าวล่าสุด

ไฮไลท์ข่าว

หมวดข่าว

None AMP version