www.siamphone.com

ข่าว

เกร็ดความรู้ : รู้หรือไม่ทำไมปุ่ม Reaction ของ Facebook ถึงมีเพียงแค่ 6 แบบ ทั้งๆ ที่ควรจะมากกว่านี้...?

หมวดอื่นๆ (Other)   |   วันที่ : 14 มีนาคม 2559

หลังจากเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ บริษัทยักษ์ใหญ่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินธุรกิจด้านโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ได้ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ที่เราเรียกกันว่าปุ่ม Reaction ที่ก็จะมีเพิ่มขึ้นอีก 5 แบบรวมของเก่าปุ่ม Like เป็น 6 แบบ แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่าสาเหตุใดถึงเพิ่มเติมขึ้นมาเพียงเท่านี้ ทั้งๆ ที่ควรมีปุ่มดังกล่าวอาจจะเป็นสัก 10 - 15 แบบ ทว่ากลับมีเพียงแค่ 5 แบบเท่านั้น เพราะฉะนั้นเรามาดูเหตุผลกันว่าทำไม.....? 

สำหรับเหตุผลมาจากเว็บไซต์ Wired.com ที่มีบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำไม Facebook ถึงได้มีปุ่ม Reaction แค่ 5 แบบ..?

เริ่มแรกสาเหตุที่นาย Mark Zuckerberg (เจ้าของ Facebook) เริ่มลงมือทำโครงการดังกล่าวอย่างจริงจัง ก็เป็นเพราะว่ามีเสียงตอบกลับ (Feedback) จากผู้ใช้งานหลายๆ คนว่าควรจะมีอะไรที่สามารถสื่อความหมายมากกว่าแค่เพียงปุ่ม Like เพียงอย่างเดียว อีกทั้งในยุคที่การติดต่อสื่อสารเป็นมากกว่าการพูดคุย ด้วยเหตุที่ว่ามีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หลายคนก็จึงแสดงออกเป็นสัญลักษณ์รูปอิโมติคอนแทน เพื่อให้สามารถสื่อถึงความรู้สึกได้ตรงกับความคิดความต้องการของผู้พูด ซึ่งเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้นายมาร์คตอบรับกระแสของเหล่า User ขึ้นมา 

และอีกหนึ่งเหตุผลในปัจจุบัน User ส่วนใหญ่นิยมใช้งาน Facebook บนอุปกรณ์พกพาหรือที่เราเรียกกันว่าสมาร์ทโฟนเสียมากกว่าบนเครื่องคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่าการพูดคุยด้วยระบบแชทของเฟชบุ๊คนั้นก็ยุ่งยากเล็กน้อยและต้องมาเสียเวลากับแป้นพิมพ์ของดีไวซ์ ยกตัวอย่างเช่น หากเราเจอโพสต์ใดโพสต์หนึ่งแต่ความรู้สึกของเราไม่ได้ต้องการ Like ทว่าต้องการบอกเป็นอย่างอื่นแทน ตัวเลือกก็คือไม่มีเลย นอกจากต้องพิมพ์ไปหาผู้โพสต์เพื่อแสดงความรู้สึกด้วยข้อความ หรืออิโมติคอนแทน แต่ว่ามันจะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถแสดงความรู้สึกที่เป็นมากกว่าการชอบได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งพาระบบการแชท

ดังนั้นแล้วด้วยสองเหตุผลข้างต้น จึงสามารถสรุปได้ว่า Facebook ต้องหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของ User โดยท้ายที่สุดเกิดเป็นโปรเจคขึ้น ซึ่งผู้รับผิดชอบคือ Julie Zhuo (ผู้อำนวยการการออกแบบผลิตภัณฑ์) เล่าว่าเธอได้รับมอบหมายงานจากนาย Mark Zuckerberg สำหรับการออกแบบอิโมติคอนในการสื่อสารถึงความหมายของอารมณ์ได้ตรงกับเหล่า User มากที่สุด ทั้งต้องอยู่ในคอนเซ็ปต์ หรือจุดประสงค์การใช้งานที่สร้าง Facebook ขึ้นมาอีกด้วย

เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายของ Julie Zhuo และเหล่าลูกทีมไม่น้อยเลยทีเดียวเพราะมองตามความเป็นจริงแล้ว เหล่าอารมณ์ความรู้สึกสามารถสื่อเป็นรูปแบบของอิโมติคอน ได้หลายร้อยหลายพันแบบ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะว่าแต่ละคนมีอารมณ์ที่แตกต่างกันไปตามปัจเจกบุคคล ดังนั้นแล้วทางออกคืออิโมติคอนใดละที่จะควรนำมาใช้....?

ดังนั้นทีมงานจึงตัดสินใจเข้าปรึกษาหารือกับนักจิตวิทยาสังคม นามว่า Dacher Keltner โดยเขาเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัย University of California Berkeley ซึ่งแต่ก่อนเขานั้น ก็เคยทำงานร่วมกับ Facebook ในการเป็นหนึ่งในทีมพัฒนาสติ๊กเกอร์ที่เราใช้กันอยู่ในช่องแชท พอมาถึงโครงการใหม่ก็แสดงความเห็นว่า เรื่องอารมณ์ของมนุษย์มีความซับซ้อนมาก ถ้าเอาให้ครอบคลุมพอ ที่จะสามารถใช้งานได้ต้องใช้อิโมติคอน 20 - 25 แบบแตกต่างกัน เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้ตรงมากที่สุด

อย่างไรก็ตามพอได้คำตอบแล้ว Julie Zhuo และลูกทีมกลับมาหารือประชุมกัน แต่สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าอิโมติคอน 20 - 25 แบบนั้นมากเกินไป และดูไม่เป็นระเบียบเมื่อใช้งานจริง แล้วทางออกคือ ?

สำหรับทางออกคือ การนำสถิติมาหาข้อสรุป กล่าวคือมีการเก็บข้อมูลจากเหล่า User ว่าใช้งานอิโมติคอน, สติ๊กเกอร์ หรือข้อความสั้นๆ ลักษณะใดบ่อยมากที่สุด (most often) จากทั่วโลก (around the world) โดยผลลัพธ์ปรากฏว่าเป็นคำว่า "Love" และที่ตามมาก็คือ ความเศร้า, ความตลก และการช็อคต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นเมื่อทีมงานคิดว่าได้อิโมติคอนที่ดีที่สุดหรือจำเป็นจริงๆ ก็ได้นำมาทดสอบกับทีมงานของตัวเอง จนเหลือ 5 รูปแบบในที่สุด

คำถามต่อมาเมื่อได้อิโมติคอนที่ต้องการแล้ว ส่วนของการออกแบบหน้าตาละเป็นอย่างไร...?

โดยนาย Geoff Teehan หนึ่งในทีมงานของ Facebook กับตำแหน่งผู้อำนวยการการออกแบบก็ระบุว่าหน้าตาอิโมติคอนที่จะเกิดขึ้น ต้องมาจากสองเหตุผลหลัก 1. ความเป็นสากล (Universality) 2. การแสดงความคิด หรือเต็มไปด้วยความหมายที่ชัดเจนไม่คลุมเครือ (Expressivity) เพราะเราจะต้องมีการนำไปใช้ในวัฒนธรรมที่แตกต่างทั่วโลก ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในการออกแบบ

โดยการออกแบบเหล่าทีมงานได้ทดสอบมาทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการแยกสีสันให้ต่างกัน, การเน้นความเข้มความอ่อนของเส้นหรือขอบ ไปจนถึงการค่อยๆ ไล่ปรับดีไซน์ให้ลงตัวมากที่สุด จนในที่สุดก็ลงตัว นอกจากนี้ถึงแม้จะคิดค้นพัฒนาอิโมติคอนเป็นผลสำเร็จแล้วแต่แน่นอนว่าต้องมีการต่อยอด ซึ่งได้มีการพูดคุยกันว่า จะมีการเพิ่มเสียงเข้าไปด้วย!!

โดย Keltner กล่าวว่าการเพิ่มเสียงเข้าไปในอิโมติคอน เป็นเครื่องหมายการแสดงออกว่า เราอยู่ในจุดที่สุดยอดในการแสดงอารมณ์ เพราะจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น หรือเข้าใจตรงกันให้มากขึ้นอีก ทว่าโปรเจคนี้กลับตกไปด้วยเหตุที่ว่าความพร้อมต่างๆ ยังไม่ลงตัว แต่เขา (Keltner) ระบุว่า "บางทีในอนาคตเราจะมาพร้อมฟีเจอร์ดังกล่าว"

จบลงแล้วสำหรับการคิดค้นพัฒนาอิโมติคอน โดยสรุปไว้ว่าอยู่ที่ 5 แบบ แต่รู้หรือไม่ว่าเดิมทีนั้นมี 6 แบบ (ไม่ใช่ปุ่ม Like) แต่คืออะไรมาหาคำตอบกัน...?

สำหรับอารมณ์ที่จะนำมาใช้คือ "yay" โดยจะเป็นอิโมติคอนที่สื่อสารถึงความสุข (Happy) แต่เมื่อใช้งานจริงๆ แล้วกลับพบว่าอิโมติคอนดังกล่าว ไม่สามารถสื่อถึงเจตนารมณ์ได้อย่างชัดเจน มีความทับซ้อนทางอารมณ์กับอิโมติคอน "Love" และ "haha" ส่งผลให้ถูกตัดทิ้งออกไปในที่สุด 

 

สุดท้ายเมื่อได้อิโมติคอนทั้งหมดแล้ว การนำไปใช้งานจริงละ จะถูกจัดวางไว้ตรงไหนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Useful)....?

โดยการทดสอบก็เกิดขึ้นทันที ซึง่มีทั้งผู้ทดสอบภายในทีมไปจนถึงกลุ่มตัวอย่าง แต่ก็พบว่าในหลายๆ เส้นทางไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจนมาลงเอยที่แบบเดิม คือการวางไว้ใต้โพสต์เหมือนกับปุ่ม Like แต่ถ้าต้องการแสดงความคิดเห็นทางด้านอารมณ์ในรูปแบบอื่น ก็สามารถกดค้างไว้สักแปป เพื่อให้ปุ่มอิโมติคอนแบบอื่นปรากฏให้เห็น

และพวกเขาก็พบทางสายกลาง (Middle Road) อีกอย่างคือ ตั้งใจให้ทุกทุกโพสต์ที่มีการแสดงความคิดเห็นของอิโมติคอนมากที่สุดใน 3 กลุ่มจะปรากฏขึ้นเพื่อช่วยผู้อ่านว่าในโพสต์ๆ นั้นมีการแสดงออกทางอารมณ์ใดมากที่สุด เสมือนบ่งบอกว่าคนอื่นอยู่ภาวะอารมณ์แบบใดทั้งช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นต่อการแสดงอารมณ์ในโพสต์นั้นๆ 

และก็จบลงแล้วนะครับ ถึงสาเหตุของทำไมปุ่ม Reaction ของ Facebook ถึงมีเพียงแค่ 6 แบบ ทั้งๆ ที่ควรจะมากกว่านี้...? อย่างไรก็ตามในอนาคต เราอาจจะต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีปุ่มอิโมติคอนใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และที่สำคัญคือตอนนี้ CEO วัยหนุ่มยังเอาจริงจังในเรื่องของแว่น VR เพราะฉะนั้นไม่แน่บางที อาจมีการนำมาประยุกต์ใช้กับ Facebook เพื่อให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป กว่าการใช้บนแค่เพียงสมาร์ทโฟน หรือเครื่องคอมพิวเตอร์

วันที่ : 14 มีนาคม 2559

18,626
อ่าน

แบ่งปันบทความ

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไฮไลท์ข่าว

หมวดข่าว

None AMP version