www.siamphone.com

ข่าว

Symphony ตั้งเป้ารุกตลาดดันไทยเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของภูมิภาค เชื่อมต่อสายสัญญาณเคเบิลใยแก้วใต้น้ำสู่ภาคพื้นดิน

อุปกรณ์เน็ตเวิร์ค (Network)   |   วันที่ : 15 กุมภาพันธ์ 2560

ภายหลังการเปิดตัวโครงการก่อสร้างและวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำระหว่างประเทศ (MCT Submarine Cable) โดยความร่วมมือของบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จาก 3 ประเทศ ได้แก่ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย บริษัท Telcotech ประเทศกัมพูชา และบริษัท Telekom Malaysia Berhad ประเทศมาเลเซีย มูลค่าภายใต้งบลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท ในระยะทางกว่า 1,300 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของภูมิภาค (HUB of Asian) พร้อมผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อโครงข่ายการสื่อสารระหว่างประเทศไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวด้านการสื่อสาร การค้า การลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยบริษัทซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช. ในการสร้างและดำเนินการวางโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำของประเทศไทย พร้อมเปิดให้บริการเต็มระบบพร้อมกันทั้ง 3 ประเทศในเดือนเมษายนนี้

คุณธีรรัตน์ ปัณฑรสูตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการโครงการเอ็มซีที (MCT) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างและวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำระหว่างประเทศว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซิมโฟนี่ให้ความสำคัญกับระบบเคเบิลใต้น้ำ เพราะเราเชื่อมั่นว่าเป็นระบบโครงข่ายที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากมีความเสถียรสูง เงินลงทุนและราคาในการให้บริการไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับโครงข่ายในระบบอื่นๆ ในหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของการสื่อสารมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงริเริ่มโครงการเอ็มซีทีขึ้น โดยมีพันธมิตรจากอีก 2 ประเทศเข้าร่วมด้วย ซึ่งเรามีนโยบายหลัก คือ ความเป็นกลางในการเข้าถึงโครงข่าย (Open Access) พร้อมสนับสนุนให้มีการเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการรายอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศในรูปแบบภาคพื้นดินและภาคพื้นน้ำ ซึ่งในส่วนความรับผิดชอบของ บมจ.ซิมโฟนี่ จะทำการเชื่อมต่อสัญญาณเคเบิลใยแก้วใต้น้ำจาก 2 ประเทศสู่สถานีภาคพื้นดิน โมฬี เคเบิล แลนดิ้ง สเตชั่น ที่มีพื้นที่ขนาด 2 ไร่ บนหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง สามารถรองรับการเชื่อมต่อได้ทั้งสัญญาณเคเบิลใต้น้ำหลักของโครงการเอ็มซีทีและสัญญาณเคเบิลใต้น้ำไปยังโครงข่ายอื่นๆ โดยเรากำหนดให้จุดเชื่อมต่อสัญญาณเคเบิลใต้น้ำอยู่ห่างจากสถานีภาคพื้นดินออกไปในอ่าวไทยประมาณ 200 กิโลเมตร ก่อนจะเชื่อมสัญญาณต่อไปยังสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา และเชราติ้ง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้เราเตรียมความพร้อมด้านการติดตั้งอุปกรณ์และขยายโครงข่ายไฟเบอร์ออพติก รวมถึงเกตเวย์ที่มีอยู่ให้เพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้งานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีปริมาณมากขึ้นทุกวัน ช่วยยกระดับการสื่อสารและธุรกิจภูมิภาคด้วยเทคโนโลยีที่รองรับการเชื่อมต่อทั้งรับ-ส่งข้อมูลได้สูงถึง 100 Gbps และรองรับการสื่อสารโทรคมนาคมในอาเซียนด้วยการขยายตัวได้มากถึง 30 Tbps เพื่อที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางโทรคมนาคมของประเทศในกลุ่มอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีส่วนช่วยในการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศให้ไปสู่ระดับภูมิภาค

กลุ่มลูกค้าของซิมโฟนี่ ในระยะเริ่มแรกจะเป็นกลุ่มลูกค้าเดิมในประเทศ ก่อนที่จะขยายกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศ สำหรับลูกค้าในประเทศ คือ กลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้งานโครงข่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Mobile Operator) ผู้ให้บริการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายอื่นๆ (Network Service Provider) ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการเชื่อมต่อบริการระหว่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการในการใช้บริการโครงข่ายที่มีความจุในการรับส่งข้อมูลในปริมาณมาก โครงการเอ็มซีทีจึงถือเป็นทางเลือก หรือระบบสำหรับโครงข่ายสำรองเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นกับระบบโครงข่ายเดิมที่ใช้งานอยู่ เราคาดการณ์ว่า หลังจากเปิดให้บริการอย่างเต็มระบบในเดือนเมษายนนี้

โครงการเอ็มซีทีจะสร้างรายได้ให้บริษัทประมาณ 90 ล้านบาท และในปี 2561 ประมาณ 120-130 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการคืนทุนประมาณ 5-6 ปี เพราะแผนพัฒนาในลำดับต่อไปของบริษัท คือการรุกสู่ลูกค้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอัพเปอร์อาเซียน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการกลุ่มใดก็ตาม เรายังคงรักษามาตรฐานการให้บริการในระดับพรีเมี่ยม โดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญที่คอยดูแล ประเมินและหาวิธีลดความเสี่ยงต่างๆ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน นอกจากนี้ หากโครงการเอ็มซีทีเสร็จสมบูรณ์ ยังส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศด้านการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่มาจากค่าใช้จ่ายและการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น เพราะจากสถิติโลกชี้ให้เห็นว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของจีดีพีในทุกประเทศ อีกทั้งจากการเชื่อมโยงโครงข่ายไปยังอีก 2 ประเทศคือมาเลเซียและกัมพูชา จะช่วยให้เราสามารถให้บริการไปยังประเทศในอาเซียนหรือทวีปอื่นๆ ได้อีกมาก เรามองว่าโครงการเคเบิลใต้น้ำจะก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนและยังสอดคล้องกับนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย”

จากความคืบหน้าของโครงการเอ็มซีที ตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ผนวกกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมของทุกประเทศ เพื่อรองรับการเปิดตัวโครงการ ซิมโฟนี่มั่นใจว่าอนาคตของโลกใหม่ในยุคที่อาเซียนจะเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแบบไร้ขีดจำกัดกำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้

ที่มา : www.symphony.net.th วันที่ : 15 กุมภาพันธ์ 2560

4,202
อ่าน

แบ่งปันบทความ

ข่าวล่าสุด

ไฮไลท์ข่าว

หมวดข่าว

None AMP version