สมาร์ทโฟน (Smartphone)  |   วันที่ : 9 พฤศจิกายน 2559

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

เป็นที่ยืนยันแล้ว สำหรับเรื่องราวระหว่าง Lenovo กับ Moto ที่คราวนี้ท่านผู้บริหาร Yuanqing Yang ได้ตัดสินใจยกเลิกธุรกิจสมาร์ทโฟนของตนเอง แล้วหันไปโฟกัสเฉพาะแบรนด์โมโตเพียงอย่างเดียว โดยหนึ่งเหตุผลหลักคือวางเป้ายุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพการวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนในประเทศจีน ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งบุคลากร คือ เธอ Gina Qiao ผู้เคยดำรงตำแหน่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลถูกโยกย้ายมานั่งตำแหน่งรองประธานกลุ่มธุรกิจโมบาย เนื่องจากเคยทำงานด้านการตลาดกับกลยุทธ์มาก่อนในบริษัทเลอโนโว


CEO Yuanqing Yang of lenovo

ก่อนจะไปวิเคราะห์ เรามาท้าวความกันก่อนว่าทำไม Lenovo ถึงตัดสินใจซื้อ Motorola

สำหรับแบรนด์ Motorola ได้อยู่ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือมาอย่างยาวนานเลยทีเดียว จึงทำให้สั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ส่งผลให้มีสิทธิบัตรและบุคลากรที่มีความชำนาญในระดับโลก เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก และแบรนด์ก็ยังมีมูลค่าของตัวมันเอง

แต่อย่างที่รู้กันโลกของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงโดยตลอดถึงแม้จะเป็นยักษ์แต่ถ้าปรับตัวไม่ทันก็อาจล้มได้ เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ที่ยกเลิกหรือยอมแพ้กันไปบ้างแล้ว แค่ด้วยเหตุผลไม่กี่ประการ คือ การทำให้ผู้บริโภคประทับใจจนเกิดเป็นการตลาดแบบปากต่อปาก รวมถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงความไม่ธรรมดา อันนี้เป็นเรื่องที่สร้างยาก แต่ก็มีผู้ที่ทำสำเร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจใด

แบรนด์ Moto ก่อนที่บริษัทเลอโนโวจะเข้าซื้อได้ตกเป็นของ Google บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการไอที โดยการซื้อครั้งนั้นทุกคนก็ต่างคาดการณ์กันว่า กูเกิ้ลจะเริ่มเอาจริงจังด้านการเรียนรู้เป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนออกมาวางจำหน่าย หลังหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเมื่อใด ทั้งๆ ที่ทุกอย่างของกูเกิ้ลเพรียบพร้อมหมดแล้ว แต่ก็ยังไม่มีท่าที จนการเข้าซื้อโมโตโรล่าในครั้งนั้น

แต่วันเวลาผ่านไปการดำเนินธุรกิจของ Motorola ก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น มีผลกำไรลดลง ด้วยปัญหาหลายอย่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดูช้าเกินไปและเมื่อทำแล้วไม่สามารถสร้างความประทับใจหรือสร้างความแตกต่างจนกลายเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคได้

 

สุดท้าย Google คิดเห็นว่าไม่สามารถอุ้มบริษัท Motorola ต่อไปได้ และในขณะนั้นก็สอดคล้องกับการปรับแผนกลยุทธ์และโครงสร้างองค์กร จึงตัดสินใจขายให้บริษัท Lenovo ถึงขนาดผู้บริหารนามว่า Yang Yuanqing เอ่ยปากว่าสนใจโมโตมานานแล้ว ก่อนกูเกิ้ลตัดสินใจเข้าซื้อเสียอีก จึงไม่แปลกทีดีลในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งยังสามารถซื้อมาได้ในราคาที่ถูกกว่าตอนกูเกิ้ลเข้าซื้อเสียอีก

เวลาต่อมาก็ได้มีการประกาศปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรขึ้นครั้งใหญ่ เพื่อการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้มีความราบรื่น คล่องตัวมากที่สุด 

ข้อสรุป : Motorola สามารถบริหารจัดการงานแยกเป็นอิสระจาก Lenovo และจะตั้งสำนักงานใหญ่ไว้ที่ชิคาโกเช่นเดิม พร้อมกับตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยอดนิยมสามอันดับแรกของโลก

สามารถอ่านบทความเพิ่มเติม : [บทวิเคราะห์] ปลุกความเป็นฮัลโหล Moto ภายใต้การนำของ Lenovo ก่อนเข้าวางจำหน่ายในประเทศไทย

 

สัญญาณของการเปลี่ยนแปลง!!!!

อย่างไรก็ตามในช่วงระยะหลัง Lenovo ก็ไม่ค่อยเปิดตัวสมาร์ทโฟนเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับช่วงปีที่แล้ว จึงอาจเป็นสัญญาณหนึ่ง ในขณะที่ Motorola กลับเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะอะไร...?

1. เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Lenovo ได้เปิดเผยว่า Moto Z ของพวกเขาขายแตะมากกว่า 1,000,000 เครื่องทั่วโลก ถึงแม้จะเป็นยอดที่ไม่น่าประทับใจเพราะนับจากยอดทั่วโลก แต่เลอโนโวเองก็ไม่เคยประกาศในทำนองนี้กับสมาร์ทโฟนของพวกเขา

2. Moto กำลังมีพาร์นเนอร์ขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเหล่าอุปกรณ์เสริมจำพวก Moto Mod ที่สามารถสร้างความแตกต่างกับผลิตภัณฑ์ขึ้นได้ เช่น JBL, Hasselblad หรือแม้แต่จับมือกับเว็บไซต์ระดมทุนชื่อดัง Indiegogo จัดแคมเปญประกวดและระดมทุนพัฒนาจากบุคคลทั่วไป

3. Moto M ดีไวซ์รุ่นใหม่ล่าสุดมาพร้อมสเปกจัดเต็ม พร้อมระบบเสียง Dolby Atmos ในราคาเพียงหมื่นต้นๆ แต่ที่สำคัญ คือเปิดตัวในประเทศจีน ซึ่งเป็นพื้นที่การขายของเลอโนโวอยู่แล้ว ทั้งที่ก็เคยบอกว่ามีพื้นที่การจัดจำหน่ายที่ชัดเจน ไม่ทับไลน์การตลาดกัน (อ่านข่าวเปิดตัว)

4. ผู้บริหารมีความชื่นชอบและให้อิสระทั้งสนับสนุนการทำงานของแบรนด์ Moto เต็มที่ : จึงส่งผลให้โมโตเริ่มกลับมาค้นหาตัวเองเจอ

5. ความรวดเร็วในการอัพเกรดซอฟต์แวร์ : เมื่อเทียบกับเลอโนโวแล้ว รุ่นก่อนๆ ก็ยังไม่ค่อยได้อัพเดทเท่าไรนัก แต่ในต่างประเทศรุ่นเพิ่งเปิดตัวอย่าง Moto G4 กับ G4 Plus ได้รับอัปเดตเป็นแอนดรอยด์เวอร์ชั่น 7.0 หรือ Nougat แล้ว 

กลับมาที่ฝั่ง Lenovo ผู้เขียนวิเคราะห์ไว้ว่าสาเหตุที่ทำให้ยกเลิกกิจการสมาร์ทโฟน เพราะ..?

1. ลดความซํ้าซ้อนของผลิตภัณฑ์ที่จะมาช่วงชิงพื้นที่การตลาดกันเอง : ตรงนี้ผมถือว่าเป็นจุดสำคัญ เพราะถ้ามีช่วงผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกันมาวางขายพร้อมกันในร้านค้า อาจไม่ใช่เรื่องดี หากนึกง่ายๆ เลย ถ้าในร้านมีสินค้าของเลอโนโวกับโมตอยู่เพียง 2 เครื่อง ถ้ามีหนึ่งคนซื้อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งไป ก็เท่ากับเป็นการตัดโอกาสของอีกแบรนด์หนึ่งไป แต่ว่าในโลกความเป็นจริง ไม่ได้มีแค่สองแบรนด์ มีอีกหลายแบรนด์เลยทีเดียว 

2. การควบรวมเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง ภายใต้แบรนด์เดียว : อย่างที่บอกครับการดำเนินธุรกิจที่ใกล้เคียงกันภายใต้เครือข่ายเดียว อาจทำให้เจออุปสรรคหลายอย่าง ก็เพื่อไม่ให้ทับเส้นกัน ดังนั้นการวางเป้าหมายระยะยาวจึงเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นทางออกหนึ่งในการควบรวมถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะไม่ว่าจะเป็นทั้ง ประสบการณ์, สินทรัพย์, สิทธิบัตร หรือแม้แต่บุคลากร ก็จะทำงานผนึกกำลังกันภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน ภายใต้แบรนด์เดียว เพื่อดึงศักยภาพรวมถึง Core ของตนเองออกมาได้ดีที่สุด

3. แบรนด์อันเป็นเอกลักษณ์ : Moto อยู่คู่วงการโทรศัพท์มือถือมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก ทำให้หลายคนต่างรู้จักพวกเขาเป็นอย่างดี ทั้งสามารถตีตลาดได้ทั่วโลกอย่างไม่มีข้อจำกัด เพราะก็เป็นแบรนด์สากลไปแล้ว ดังนั้นการทำตลาดกับแบรนด์ที่รู้จักอย่างกว้างขวางจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าเยอะ

สุดท้ายเรื่องราวของแบรนด์โมโตจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป หลังจากทั้งสองได้ทำงานร่วมกัน ปีหน้าคงเป็นอะไรที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และต่อไปนี้ก็จะไม่มีสมาร์ทโฟนแบรนด์เลอโนโวอีกแล้ว

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่