สมาร์ทโฟน (Smartphone)  |   วันที่ : 20 พฤศจิกายน 2558

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

ถ้าหากนึกถึงโทรศัพท์มือถือละก็แบรนด์ที่เราคนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดีคงหนีไม่พ้นบริษัทสัญชาติฟินแลนด์ "Nokia" กันอย่างแน่นอน ซึ่งในปีค.ศ. 2015 นี้ก็มีอายุครบ 150 ปีแล้ว และเชื่อว่าใครหลายคนยังคงรอการกลับมาของโนเกียสำหรับการผลิตสมาร์ทโฟน เพราะฉะนั้นเราจึงมาวิเคราะห์กันหน่อยว่าสุดท้ายแล้ว โนเกียจะเลือกเดินเข้าสู่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในปี ค.ศ. 2016 จริงหรือไม่ หลังจากที่ข่าวล่าสุดระบุว่าทางบริษัทกำลังมองหาพันธมิตรธุรกิจสำหรับตลาด Smartphone เพื่อให้ธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจรมากที่สุด

แต่ก่อนที่เราจะวิเคราะห์เส้นทางการเดินของโนเกีย เรามาท้าวความกันถึงประวัติบริษัทเบื้องต้นกันสักหน่อยว่าเป็นอย่างไร...?

สำหรับ "Nokia" ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีในด้านโทรศัพท์มือถือ ทว่าแท้จริงแล้วทางบริษัทไม่ได้มีจุดเริ่มต้นผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่โนเกียมีพื้นเพมาจากการทำธุรกิจค้าเยื่อกระดาษ นั่นเพราะพื้นที่บริเวณโดยรอบของบริษัทเต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมพื้นป่าที่อุดมสมบูรณ์ 

จากนั้นจึงได้เปิดกิจการขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ. 1865 หรือพ.ศ. 2408 พร้อมกับใช้ชื่อว่า Nokia โดยเหตุที่ใช้ชื้อนี้ก็เป็นเพราะว่าถูกก่อตั้งขึ้นใกล้กับแม่นํ้าที่ชื่อว่า Nokia นั่นเองในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งผู้ก่อตั้งมีชื่อเรียกว่า "Fredrik Idestam" และเวลาต่อมาก็ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1871


Mr.Fredrik Idestam

แต่เวลาต่อมาก็เหมือนมีมรสุม เพราะมีเหตุร้ายแรงหลายอย่างที่เกือบจะทำให้บริษัทเดินสู่จุดจบ ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1, ภาวะล้มละลายจากการขาดทุนอย่างหนักประกอบกับเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการค้าอาทิ สายเคเบิ้ล, ไม้, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือพลังงานไฟฟ้าเพราะแต่ละประเภทมีราคาแพง เนื่องจากมีต้นทุนที่สูง


Nokian หนึ่งในบริษัที่แยกตัวออกมา

อย่างไรก็ตามจุดหักเหที่ทำให้โนเกียประสบความสำเร็จจนกลายเป็นตำนานนั้นเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1992 โดยนาย Jorma Ollila ที่ตัดสินใจเลิกทำธุรกิจทุกอย่างที่เคยทำมาในอดีต แล้วก็หันมาทุ่มเทให้กับธุรกิจโทรศัทพ์มือถือเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุผลที่ว่าครั้งหนึ่งโนเกียเคยทำธุรกิจการสื่อสารสัญญาณไร้สาย GSM ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากประกอบกับกระแสเริ่มมา จึงได้ทำให้ CEO (Ollila) ไม่ลังเลที่จะดำเนินธุรกิจ CELL PHONE นั่นเอง


Mr. Jorma Ollila

ต่อจากนั้นมาก็เรียกได้ว่าเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของบริษัทอย่างแท้จริง กับโทรศัพท์มือถือที่เรียกได้ว่าขายดีเทน้ำเทท่า ซึ่งก็ถือว่าได้เปลี่ยนโฉมหน้าผู้ผลิตเยื่อกระดาษไปสู่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็น E Series, N Series, XPressmusic และรุ่นพันธุ์อึดรวมถึงดีไซน์แปลก ๆ หลากหลายรุ่น ทว่าถึงแม้จะรุ่งเรืองขนาดไหน ก็มีวันดับไปตามกาลเวลา เพราะการมั่นใจตัวเองมากเกินไป

โดยอย่างที่เรารู้กัน Nokia จะมีระบบปฏิบัติการอยู่ 2 อย่าง นั่นคือ Symbian และ Maemo ซึ่งรายแรกคงไม่ต้องบรรยายถึงความสำเร็จ แต่รายหลังคงต้องบอกว่าล้มเหลว และสุดท้ายก็ไปจับมือกับ Intel พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น Meego  

สำหรับระบบปฏิบัติการ Symbian ถูกพัฒนาโดย 4 บริษัทใหญ่ ได้แก่ Ericsson, Nokia, Motorola, และ PSION จึงทำให้เกิดข้อปัญหาต่าง ๆ โดยการที่จะพัฒนาอย่างใดก็ต้องมีการประชุมขออนุมัติถึงข้อความเป็นไปได้ ส่งผลให้เกิดความล่าช้า ไม่สะดวกที่ปั้นอย่างเต็มมือ รวมถึงข้อเสียด้านการพัฒนาที่มีความยุ่งยากของภาษาทางคอมพิวเตอร์ไม่สอดคล้องกับความสามารถที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดังนั้นจึงทำให้โนเกียไม่รอช้าได้พัฒนาให้ "Maemo" เป็นระบบปฏิบัติการแบบใหม่ในเวลาต่อมา อีกทั้งในอนาคตการติดต่อสื่อสารคงไม่หยุดอยู่แค่นี้ สุดท้ายก็ส่งผลให้เกิดเป็นโปรเจคนี้ขึ้น ทว่าก็ไม่ได้หยุดพัฒนาระบบปฏิบัติการ Symbian แต่อย่างใด เพียงแต่วางรากฐานให้เมโมอยู่กลุ่มไฮเอนด์ ส่วนซิมเบี้ยนอยู่รุ่นกลาง คล้ายกับแบ่ง Segment ทางการตลาดนั่นเอง

แต่เนื่องจากกระแสของ Apple iPhone และก็ระบบแอนดรอยด์จาก Google ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ก็เป็นอันต้องหันไปร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ของวงการไอที และเปลี่ยนชื่อเป็น Meego เพื่อหวังเข็นให้ถึงฝั่งฝัน ทว่าต้องรอถึง 2 ปีกว่าจะเผยโฉม นั่นคือ Nokia N9 แต่ก็ไม่ทันแล้ว!!

สุดท้ายจึงเกิดคำถามขึ้นว่าในเมื่อสองระบบปฏิบัติการที่มีอยู่ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วจะเลือกใช้ OS อะไรดี โดยตัวเลือกก็มีอยู่ 2 อย่างคือ Android หรือ Windows Phone และการตัดสินใจครั้งสำคัญก็เกิดขึ้นในช่วงต้นปีค.ศ. 2011 โดยนาย Stephen Elop (CEO Nokia) จับมือกับ Steve ballmer CEO (Microsoft) เพื่อร่วมพัฒนาสมาร์ทโฟนแบรนด์โนเกียภายใต้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone

แล้วสาเหตุของ Nokia ที่ไม่เลือกระบบปฏิบัติการ Android เป็นเพราะอะไร...?

โดยคำตอบนี้มาจาก CEO Nokia ซึ่งเขา (Elop) ระบุว่าเรา (โนเกีย) ตัดสินใจช้าเกินไป ซึ่งถ้าจะให้ลงไปแข่งขันตอนนี้คงไม่ทันแล้ว เนื่องจากมีผู้ผลิตหลายรายเข้าไปชิมเค้กก้อนใหญ่ก่อนแล้ว ครั่นจะให้เราไปร่วมแข่งขันคงทำได้ยากเนื่องจากเงินทุนและทรัพยากรที่มีจำกัด และหากมองในอนาคตแล้ว Samsung จะครองแชมป์ตลาดแอนดรอยด์อย่างแน่นอน

ดังนั้นเรา (โนเกีย) จึงตัดสินใจเลือกอีกเส้นทางเดินนั่นก็คือ "Windows Phone" ซึ่งเป็นเส้นทางใหม่ที่ยังไม่มีใครเข้ามาแข่งขันอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นนี่อาจเป็นโอกาสของเรา

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม : สำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่รันบนระบบปฏิบัติการ Windows นั่นก็คือ Lumia 800 โดยตัวเครื่องเป็นแบบ Unibody และมีดีไซน์คล้าย N9 สามารถอ่านรายละเอียดของสเปกเพิ่มเติมได้ที่ Siamphone.com

แต่แล้วโชคชะตาก็ดูไม่เป็นใจเนื่องจาก Microsoft ก็ไม่สามารถพาระบบปฏิบัติการ Windows Phone ไปสู่เส้นชัยได้ ซึ่งก็ยังคงตามหลัง iOS และ Android เพราะไม่มีแอปฯ ให้ใช้งานมากพอ ด้วยเหตุที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ใช้สอง OS ดังกล่าวจนครองส่วนแบ่งทางการตลาดนำหน้าวินโดวส์โฟน ประกอบกับการตลาดที่ไม่มีการโปรโมทมากพอ จึงทำให้นักพัฒนาไม่เห็นถึงแรงจูงใจต่อการผลิตแอปฯ ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัท Nokia ไม่เป็นไปตามเป้า

และหลังจากที่เดินหมากผิดพลาด ท้ายที่สุดโนเกียก็ประกาศขายกิจการด้านโทรศัพท์มือถือให้บริษัทสัญชาติอเมริกาในที่สุดด้วยเม็ดเงินจำนวนมากถึง 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

หลังจากนั้นไม่นานก็ใช้ชื่อโนเกียทำตลาดมาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 2014 ไมโครซอฟท์ตัดสินใจเลิกใช้ชื่อ Nokia ทำตลาด และหันมาใช้ชื่อ "Microsoft Lumia" อย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน

หลังจากทราบประวัติเบื้องต้นกันไปแล้ว เรามาดูสาระน่ารู้เกี่ยวกับแบรนด์โนเกียกันหน่อยว่ามีอะไรบ้าง...?

และลำดับต่อไปเราก็มาดูเส้นทางการลุยตลาดสมาร์ทโฟนกันบ้างซึ่งการกลับมาของโนเกียจะสามารถเข้าสู่วงการได้เต็มตัวก็ต่อเมื่อถึงไตรมาสที่ 4 หรือช่วยปลายปีเลยนั่นหมายความว่ามีเวลาเตรียมตัวถึง 1 ปีเต็ม เพราะฉะนั้นระยะเวลาที่เหลือจึงกลายเป็นการบ้านครั้งใหญ่ของ "Nokia" เลยว่าจะตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน ด้วยเหตุที่ว่าตัวเลือกในเวลานี้ จากหลากหลายแบรนด์นั้นมีมากมายเหลือเกิน ทำให้การวางขายด้วยชื่อเสียงเพียงอย่างเดียวที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่อาจตอบในข้อของความสำเร็จได้ ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นว่าจะมีกลยุทธ์เด็ดอันใดมามัดใจผู้บริโภค!!

ยกตัวอย่างเช่นแบรนด์ Samsung ให้นึกถึงหน้าจอ Super AMOLED และก็ชิปเซ็ตสุดแรงแต่ประหยัดพลังงาน, หรือ iPhone ก็เป็นสมาร์ทโฟนความปลอดภัยสูงผสมผสานความพรีเมี่ยม รวมถึงแบรนด์อื่น เช่น vivo กับระบบเสียง HiFi อันเป็นเอกลักษณ์ หรือ Sony ที่มีบอดี้สวยงาม และสมาร์ทโฟนหน้าจอ 4K เครื่องแรกของโลก 

การมองหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ...?

ทั้งนี้ทั้งนั้นจึงต้องทำให้ "Nokia" มองหาจุดเด่นให้เจอเสียก่อน ว่าสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของพวกเขาที่นำมาวางจำหน่ายจะสามารถสร้าง First Impression ได้ดีแค่ไหน กับเอกลักษณ์ที่นำมาโชว์ เพราะถ้าสร้างความประทับใจได้ประสบความสำเร็จแล้ว ไม่แน่บางทีอาจทำให้ติดลมบนเลยก็เป็นได้ ทว่าในทางกลับกันจากการห่างสนามไปนาน และไม่สำเร็จกับรุ่นแรก ก็อาจทำให้เสียความมั่นใจเช่นกัน รวมถึงกำไรที่ไม่ถึงเป้า ส่งผลให้ขาดทุนไปในที่สุด

นอกจากการมองหาจุดเด่นแล้ว หัวใจสำคัญของสมาร์ทโฟนอีกสองอย่างก็คือ "ด้านสเปกและระบบปฏิบัติการ" ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหน้าจอรวมถึงความละเอียด, หน่วยประมวลผลภายใน หรือกล้องดิจิตอลที่ในปัจจุบันนี้เรียกได้ว่ามีความสำคัญกับเราเกือบทุกกิจกรรมในไลฟ์สไตล์แต่อีกด้านที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือระบบปฏิบัติการ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ดูแล้วคงหนีไม่พ้นการเลือกใช้แอนดรอยด์ ด้วยเหตุที่การจะลงทุนคิดค้น Operating System ใหม่คงต้องใช้ทรัพยากร รวมถึงระยะเวลาที่ต้องทดสอบอยู่พักใหญ่ และถึงแม้จะมี OS ใหม่ก็ต้องมาโปรโมททำการตลาด และสรรหานักพัฒนามาผลิตแอปฯ อีก ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะไม่คุ้มค่าสำหรับการเริ่มต้นใหม่ ดังนั้นเจ้าหุ่นเขียวก็อาจเป็นคำตอบสุดท้าย!!

หรืออีกหนึ่งทางเลือก Windows 10 จะใช่หรือไม่...?

โดยถ้าหากไม่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และก็ไม่สามารถพัฒนา OS เป็นของตัวเองได้ในเวลานี้ อีกทางเลือกที่เหลืออยู่นั่นคือ Windows 10 

และอีกปัจจัยคือด้านราคามีส่วนจำเป็นมากน้อยแค่ไหน...?

คงต้องบอกว่าด้านราคานั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเนื่องจากการมีตัวเลือกที่มากส่งผลให้ผู้บริโภคนิยมนำหลาย ๆ รุ่นมาเปรียบเทียบกัน ว่ามีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าต่อการใช้สอยหรือไม่ดังนั้นถ้าโนเกียไม่สามารถจะลงแข่งขันในสนามที่มีความแตกต่างจากแบรนด์อื่นได้ คงต้องหันมามองสนามเล็กด้านการทำให้ตนเองนั้นผลิตสมาร์ทโฟนได้มีต้นทุนตํ่าที่สุดเพื่อจะกำหนดราคาได้ไม่สูงกว่าเจ้าอื่น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูว่าจะมีกระบวนการต้นนํ้าถึงปลายนํ้าเป็นอย่างไร

ข้อสรุป : สำหรับการจะเลือกเส้นทางเดินของ Nokia ในวงการสมาร์ทโฟน

ต้องบอกว่าในอดีตนั้น Nokia สูญเสียค่าใช้จ่ายทรัพยกรต่าง ๆ มากมายต่อการลองผิดลองถูก บนการดำเนินงานที่ซํ้าซ้อน ไม่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าตนเองจะเลือกเดินทางใด ส่งผลให้สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดโลก ผู้ถือหุ้นมองไม่เห็นอนาคต และหมดความเชื่อมั่นไปในที่สุด

ดังนั้นการกลับมาครั้งนี้คงต้องใช้บทเรียนจากในอดีตเป็นส่วนสำคัญ ผสมผสานการเปลี่ยนแปลงของวันเวลาที่ไม่หยุดอยู่กับที่ เรียนรู้ว่าในอนาคตควรจะวางตัวอย่างไร อยู่ตรงจุดไหน เพราะอุปกรณ์พกพายังเป็นเค้กก้อนใหญ่แสนอร่อยสำหรับเจ้าอื่นเหมือนกัน และจุดสำคัญเลยอย่างที่กล่าวไปข้างต้น การสร้างความประทับใจครั้งแรกต่อสาธารณะจะเป็นตัวตัดสิน

และก็จบลงแล้วสำหรับบทวิเคราะห์ของบริษัทสัญชาติฟินแลนด์ต่อวงการสมาร์ทโฟนที่ใกล้จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง สุดท้ายจะเป็นอย่างไร เราก็คงต้องติตดามกันต่อไป ซึ่งในปี 2016 คงมีข่าวคราวของโนเกียมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่