www.siamphone.com

ข่าว

เรื่องใกล้ตัว! มารู้จัก 4G LTE แบบง่ายๆ พร้อมวิธีการอ่านค่า LTE Band ที่หลายคนสงสัย

หมวดอื่นๆ (Other)   |   วันที่ : 1 กรกฎาคม 2558

เชื่อว่าอาจมีผู้ใช้งานหลายๆ คน ทีเคยได้อ่านสเปกตัวเครื่องของสมาร์ทโฟนหลายรุ่นในปัจจุบัน แล้วอาจเกิดความสงสัยว่า สมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ ตกลงแล้วรองรับการใช้งานเครือข่าย 4G LTE คลื่นอะไรกันแน่? เพราะส่วนมากในใบสเปก ก็มักจะระบุการรองรับการใช้งานเครือข่าย 4G ไว้แต่เพียงว่า 4G LTE Band นั้นนี้เท่านั้น ดังนั้นเรามารู้จักกับการอ่านสเปกการรองรับการใช้งาน 4G LTE ของสมาร์ทโฟนผ่านบทความนี้กัน!

 

4G LTE คืออะไร?

4G LTE หรือ Long Term Evolution หากจะอธิบายแบบคร่าวๆ ก็คือเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากยุค 3G ให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดในการรับส่งข้อมูลต่างๆ ด้วยความเร็วในการรับส่งที่เร็วขึ้นจากเดิม (มากกว่า 100 mbps) (สามารถอ่านเพิ่มเติมทำความรู้จักกับ 4G LTE คืออะไร 1G, 2G, 3G คืออะไร?)

 

LTE Band คืออะไร สามารถอ่านได้อย่างไร?

LTE Band ก็คือข้อมูลที่ใช้ในการบอกถึง Frequency หรือคลื่นความถี่ในการใช้งานเครือข่าย 4G ซึ่งในแต่ละประเทศ และแต่ละโซนทวีปจะมีการใช้ LTE Band ที่แตกต่างกันไป เพื่อความเหมาะสม และความลงตัวในการใช้งานของผู้ใช้งาน โดยที่ LTE Band สามารถแบ่งและมีรายละเอียดดังนี้

  • LTE Band 1 : คลื่นความถี่ 2100 MHz (FDD) / (DTAC, TRUE)
  • LTE Band 2 : คลื่นความถี่ 1900 MHz (FDD)
  • LTE Band 3 : คลื่นความถี่ 1800 MHz (FDD)
  • LTE Band 4 : คลื่นความถี่ 1700 MHz (FDD)
  • LTE Band 5 : คลื่นความถี่ 850 MHz (FDD)
  • LTE Band 7 : คลื่นความถี่ 2600 MHz (FDD)
  • LTE Band 8 : คลื่นความถี่ 900 MHz (FDD)
  • LTE Band 9 : คลื่นความถี่ 1800 MHz (FDD)
  • LTE Band 11 : คลื่นความถี่ 1500 MHz (FDD)

สามารถอ่านรายละเอียด LTE Band เพิ่มเติมได้ที่ WiKi List of LTE networks

LTE Band มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนมาใช้งาน โดยเฉพาะหากเป็นผู้ใช้งานที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ด้วยแล้ว ยิ่งต้องเลือกสมาร์ทโฟนที่มี LTE Band ให้ตรงกับการรองรับการใช้งานของประเทศนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

FDD และ TDD คืออะไร?

หากจะอธิบายแบบเต็มๆ คงจะยาวพอสมควรสำหรับ FDD และ TDD แต่หากจะอธิบายอย่างง่ายนั้น FDD (Frequency Division Duplex) และ TDD (Time Division Duplex) เป็นมาตรฐานหรือรูปแบบการจัดการการรับส่งคลื่นความถี่ของ 4G ที่ในแต่ละประเทศ รวมถึงแต่ละผู้ให้บริการเลือกใช้งานแตกต่างกัน เพื่อความเหมาะสมต่อการใช้งาน 

  • FDD : จะเป็นคลื่นรับและส่ง ที่มีความถี่ของคลื่นคนละความถี่กัน การรับส่งจึงสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้
  • TDD : คลื่นที่ใช้รับและส่ง จะเป็นคลื่นความถี่เดียวกัน จึงทำให้ไม่สามารถเกิดการรับส่งพร้อมกันได้ แต่มีข้อดีคือ สามารถล็อคค่าการรับส่งได้

 

ในประเทศไทยเปิดใช้บริการ 4G แล้วหรือยัง?

สำหรับในประเทศไทยตอนนี้ เปิดให้บริการเครือข่าย 4G LTE อย่างเป็นทางการแล้วบนคลื่นความถี่ต่างๆ ที่แต่ละผู้ให้บริการเปิดให้บริการ และล่าสุดก็ได้มีการประมูลคลื่นความถี่อย่าง 1800, 900MHz อย่างเป็นทางการจาก กสทช. ไปแล้วด้วยเช่นกัน หลังจากอายุสัมปทานเดิมหมดอายุลง โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการให้บริการเครือข่าย 4G LTE ดังนี้

ผู้ให้บริการหลัก 3 ค่าย ได้แก่

  • AIS 4G LTE Advance
    • เปิดบริการอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนมกราคม 2559 (มีทดลองใช้งานก่อน)
    • ให้บริการผ่านคลื่นความถี่ 1800 MHz
      • หมดอายุสัมปทาน 2576
      • จำนวนความกว้าง Bandwidth 15MHz
    • ให้บริการผ่านคลื่นความถี่ 2100 MHz
      • หมดอายุสัมปทาน 2570
      • จำนวนความกว้าง Bandwidth 15MHz
  • Truemove H 4G LTE
    • เปิดให้บริการแล้ว
    • ให้บริการผ่านคลื่นความถี่ 850 MHz
      • หมดอายุสัมปทาน 2568
      • จำนวนความกว้าง Bandwidth 15MHz
    • ให้บริการผ่านคลื่นความถี่ 900 MHz
      • หมดอายุสัมปทาน 2573
      • จำนวนความกว้าง Bandwidth 10MHz
      • เพิ่งประมูลได้ด้วยมูลค่า 76,298 ล้านบาท
    • ให้บริการผ่านคลื่นความถี่ 1800 MHz
      • หมดอายุสัมปทาน 2576
      • จำนวนความกว้าง Bandwidth 15MHz
    • ให้บริการผ่านคลื่นความถี่ 2100 MHz
      • หมดอายุสัมปทาน 2570
      • จำนวนความกว้าง Bandwidth 15MHz
  • Dtac 4G LTE
    • เปิดให้บริการแล้ว
    • ให้บริการผ่านคลื่นความถี่ 850 MHz
      • หมดอายุสัมปทาน 2561
      • จำนวนความกว้าง Bandwidth 10MHz
    • ให้บริการผ่านคลื่นความถี่ 1800 MHz
      • หมดอายุสัมปทาน 2561
      • จำนวนความกว้าง Bandwidth 25MHz
    • ให้บริการผ่านคลื่นความถี่ 2100 MHz
      • หมดอายุสัมปทาน 2570
      • จำนวนความกว้าง Bandwidth 15MHz

**อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับข้อสรุปการประมูล 4G คลื่น 900 MHz (คลิกอ่าน)**

 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมการให้บริการ 4G LTE ของ AIS, Dtac และ TrueMoveH

การมาของ 4G LTE มีผลอย่างไรกับผู้ใช้งาน?

แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ส่งผลและเห็นได้ชัดจากการมาของเทคโนโลยี 4G LTE นั้น ก็คือการช่วยให้การใช้งานบนอุปกรณ์ IT ต่างๆ ของผู้ใช้งานมีความสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ทุกการเชื่อมต่ออยู่ที่ปลายนิ้วสัมผัสเท่านั้น ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลของ 4G LTE ที่ก้าวกระโดดจาก 3G มากขึ้นพอสมควร 

 

ในขณะที่ด้านของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนนั้น ผู้ใช้งานอย่างเราๆ คงต้องถึงคร่าวที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน หรือก็คือถึงเวลาที่ต้องมองหาสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่มาใช้งานเครือข่าย 4G LTE แล้วนั้นเอง ซึ่งในปัจจุบันสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน 4G LTE เริ่มที่จะมีหลากหลาย และมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงน่าจะกลายมาเป็นมาตรฐานของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่จะต้องมาพร้อมความสามารถในการรองรับการใช้งาน 4G มาตั้งแต่ออกจากโรงงานไปแล้ว

 

และทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของ 4G LTE แบบง่ายๆ และคร่าวๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นทุกวันในปัจจุบันนี้ ซึ่งหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานมือใหม่ หรือกำลังสงสัยในเรื่องราวของ 4G LTE ให้เข้าใจมากขึ้นจากเดิม 

ที่มา : en.wikipedia.org วันที่ : 1 กรกฎาคม 2558

96,923
อ่าน

แบ่งปันบทความ

ข่าวล่าสุด

ไฮไลท์ข่าว

หมวดข่าว

None AMP version