www.siamphone.com
เทคโนโลยี (Technology) | วันที่ : 9 เมษายน 2562
HDR เป็นชื่อเรียกเทคโนโลยีที่ได้ยินบ่อย ๆ และกลายเป็นอีกคำที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนคุ้นเคย แต่ความจริงแล้ว HDR คืออะไร เกี่ยวอะไรกับกล้อง เกี่ยวอะไรกับหน้าจอ เกี่ยวอะไรกับสีของภาพ อะไรคือคำโฆษณาที่พูดกันว่า ให้สีขาวขาวขึ้นกว่าเดิมและให้สีดำเข้มขึ้นกว่าเดิม ทุกอย่างเกี่ยวกับ HDR มีคำตอบให้ในบทความด้านล่างนี้
ทำความเข้าใจ Dynamic Range (ความต่างระหว่างค่าสูงสุดและต่ำสุด)
ก่อนจะเข้าเรื่อง HDR (High Dynamic Range) ต้องทำความเข้าใจเรื่องความต่างระหว่างค่าสูงสุดและต่ำสุดหรือที่นิยมเรียกว่าช่วงไดนามิก (Dynamic Range) กันก่อน ช่วงไดนามิกคือความแตกต่างระหว่างค่าสูงสุดและค่าต่ำสุดของอะไรบางอย่าง ในที่นี้เราจะพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแสง
ช่วงไดนามิกของระบบแสง คือ ความแตกต่างระหว่างค่าสูงสุดและต่ำสุดของความเข้มแสงที่ตรวจจับได้ สายตาของมนุษย์มีช่วงไดนามิกของแสงกว้างพอสมควร เราสามารถมองภาพและดูรายละเอียดวัตถุบริเวณที่มีแสงส่องสว่างได้ง่าย แต่เมื่อไรก็ตามที่เรามองวัตถุที่มีแสงจ้ามาก ๆ ดวงตาจะปรับม่านตาให้แคบลงเพื่อให้เรามองเห็นวัตถุดังกล่าวได้ชัดขึ้นแต่ขณะเดียวกันเราจะเห็นวัตถุอื่น ๆ รอบข้างที่มีแสงน้อยกว่ามืดลง ถ้าดวงตาของเรามีช่วงไดนามิกกว้างขึ้นกว่านี้เราจะสามารถมองเห็นวัตถุแสงจ้าโดยไม่ต้องหรี่ตา ในทำนองเดียวกันเราก็จะไม่ต้องเพ่งสายตาในที่มืดมากนัก ขณะที่สัตว์บางชนิด เช่น หนู สามารถมองเห็นในที่แสงน้อยได้อย่างสบาย ๆ
กล้องถ่ายรูปก็มีช่วงไดนามิกของแสงที่ใช้งานตรรกะเดียวกันกับสายตามนุษย์ กล้องที่มีช่วงไดนามิกกว้าง (High Dynamic Range) จะเก็บรายละเอียดของวัตถุได้มากกว่า (แต่ก็มีราคาแพงกว่าด้วย) ในทางตรงข้ามกล้องที่มีราคาถูกลงมาหรือกล้องที่มีขนาดเล็กอย่างเช่นกล้องบนสมาร์ทโฟนมักจะมีช่วงไดนามิกแสงที่ไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับสายตามนุษย์
ในกล้องถ่ายรูปเรื่องของช่วงไดนามิกแสงมีความสำคัญมากกว่าเมื่อเทียบกับสายตามนุษย์ เพราะในเวลาหนึ่งสายตามนุษย์สามารถมองและโฟกัสวัตถุใดวัตถุหนึ่งได้เพียงจุดเดียวเท่านั้น เรามองเห็นฉากองค์ประกอบโดยรวมทั้งหมดขณะที่สายตาเราจะโฟกัสไปที่วัตถุที่อยู่จุดศูนย์กลางของฉาก ดังนั้นแม้ว่าจะมีอะไรบางอย่างอยู่ในมุมที่มองเห็นไม่ชัดนักก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะเราสามารถย้ายจุดโฟกัสของสายตาไปที่จุดดังกล่าวได้ภายหลัง แต่ในการถ่ายรูปทั่วไป เมื่อเราบันทึกภาพไปแล้วพบว่ามีบางส่วนในภาพมืดไปหรือสว่างไปจนมองไม่ชัด เราไม่สามารถแก้ไขภาพเฉพาะจุดนั้นได้นอกจากจะต้องบันทึกภาพใหม่โดยย้ายจุดโฟกัสหรือย้ายมุมมอง
ด้วยเหตุนี้ช่วงไดนามิกแสงที่กว้างจึงเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจในกล้องถ่ายรูป ระบบกล้องคุณภาพสูงควรจะแสดงภาพได้อย่างถูกต้องทั้งในจุดที่สว่างและจุดที่มืดของฉาก เซ็นเซอร์รับภาพบนกล้องถ่ายรูปที่ดีควรจะจับรายละเอียดได้มากพอทั้งในบริเวณจุดสว่างและจุดมืดของภาพ ข้อมูลแสงนิยมบันทึกเก็บไว้ในรูปแบบไฟล์ชนิด RAW file ซึ่งสามารถนำมาแก้ไขรายละเอียดของแสงและเงาบนจุดต่าง ๆ ในภาพได้ภายหลัง
อย่างไรก็ตามการบันทึกภาพ RAW file ก็มีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค์สำหรับกล้องบนสมาร์ทโฟนอยู่ข้อหนึ่ง นั่นคือตัวกล้องจะต้องบันทึกข้อมูลภาพขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บรายละเอียดได้ครบทุกจุด แต่กล้องในสมาร์ทโฟนมีเซ็นเซอร์รับภาพขนาดเล็กจึงเป็นเรื่องยากที่จะเก็บรายละเอียดได้ครบ จึงเป็นที่มาของการชดเชยข้อจำกัดด้วยวิธี "tone mapping" หรือการซ้อนภาพที่มีช่วงแสงต่างกัน
ทำความเข้าใจโหมดถ่ายภาพ HDR บนกล้องสมาร์ทโฟน
มือถือรุ่นใหม่ ๆ มักจะมีโหมดถ่ายภาพ HDR ติดมาให้ใช้งาน แต่จริง ๆ แล้วชื่อเรียกเทคโนโลยีที่ถูกต้องคือ tone mapping ซึ่งเป็นเทคโนโลยีบันทึกภาพโดยเก็บรายละเอียดจุดที่สว่างที่สุดและมืดที่สุดของภาพได้ วิธีการก็คือจับภาพหลาย ๆ ภาพในเวลารวดเร็วโดยใช้ค่าการรับแสง (exposure value : EV) ที่แตกต่างกันจากนั้นก็นำภาพมาซ้อนทับกันจนได้เป็นภาพสุดท้ายที่สามารถเก็บรายละเอียดได้ทั้งในบริเวณจุดมืดและจุดที่สว่าง ทั้งหมดนี้ถูกจัดการอย่างรวดเร็วด้วยการเลือกโหมดถ่ายภาพ HDR บนสมาร์ทโฟนและถ่ายรูปออกมา
นอกจากเทคโนโลยี tone mapping แล้ว การถ่ายภาพในโหมด HDR บนสมาร์ทโฟนบางรุ่นยังมีการแต่งเติมรายละเอียดแสงและเงาลงในในภาพอีกด้วยเพื่อให้สีสันที่ออกมามีไดนามิกของแสงกว้าง อย่างไรก็ตามการใส่รายละเอียดของภาพให้มีช่วงสีที่กว้างก็ถูกจำกัดด้วยการแสดงผลบนหน้าจอ หากหน้าจอสมาร์ทโฟนไม่สามารถรองรับการแสดงผล HDR ก็จะไม่เห็นแสงและเงาสวยเหมือนกับภาพต้นฉบับ
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับจอแสดงผล HDR
ผู้ผลิตโทรทัศน์มักจะนำเรื่องการสนับสนุน HDR มาใช้เป็นจุดขายโทรทัศน์รุ่นใหม่หรือแม้แต่โทรทัศน์ความละเอียด 4K แต่สำหรับสมาร์ทโฟนนั้นเริ่มมีการนำจอแสดงผลที่รองรับ HDR มาใช้งานตั้งแต่ Galaxy Note7 เมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั้นมาก็ถูกนำมาใช้งานอีกในรุ่นท็อปหลาย ๆ รุ่น เช่น Galaxy S8, Galaxy Tab S3, Sony Xperia XZ Premium, Sony Xperia XZ1, LG G6, LG V30 หรือแม้แต่รุ่นล่าสุดของ Apple อย่าง iPhone X
จอแสดงผล HDR คืออะไร ?
จอแสดงผล HDR มีข้อได้เปรียบ 3 ข้อที่เหนือกว่าจอแสดงผลทั่วไป (standard dynamic range display : SDR) ได้แก่
1. มีช่วงไดนามิกที่กว้างขึ้น2. มีค่าความสว่างสูงสุดเพิ่มขึ้น3. มีช่วงสีที่กว้างขึ้น
ข้อ 1. กับข้อ 2. มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิด จอแสดงผล HDR สามารถแสดงรายละเอียดได้มากขึ้นในบริเวณที่สว่างและที่มืด ซึ่งมักจะถูกยกมาอธิบายด้วยคำโฆษณาที่ว่า "ให้จุดที่ขาวขาวขึ้นและจุดที่ดำดำเข้มขึ้น" ในเวลาต่อมา ซึ่งไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด
เมื่อดูเนื้อหาคอนเทนต์ HDR ผ่านจอแสดงผล HDR เทียบกับดูผ่านจอแสดงผล SDR จะสังเกตเห็นว่าพื้นที่ส่วนที่สว่างของภาพสว่างขึ้นเมื่อมองผ่านจอ HDR และในเวลาเดียวกันก็สามารถมองเห็นรายละเอียดได้มากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้ามีภาพคนยืนข้างหน้าต่างที่มีแสงส่องเข้ามาด้านข้างของใบหน้า ถ้ามองภาพดังกล่าวผ่านจอ SDR จะเห็นภาพใบหน้าส่วนนี้ปรากฎเป็นแสงสีขาว แต่ถ้ามองผ่านจอ HDR จะเห็นแสงบริเวณดังกล่าวสว่างขึ้นรวมถึงเห็นรายละเอียดพื้นผิวของใบหน้าโดยไม่ได้เห็นแค่แสงจ้าสีขาวเท่านั้น
เช่นเดียวกันกับเงา การมองเห็นจุดมืดอย่างเช่นเส้นผมหรือเสื้อคลุมสีดำผ่านจอ SDR จะเห็นเป็นสีดำ แต่ถ้ามองผ่านหน้าจอ HDR จะเห็นรายละเอียดของเส้นผมและดูลักษณะของเนื้อผ้าได้ชัดเจนมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นอธิบายประโยชน์ของการที่หน้าจอ HDR มีความสว่างที่มากกว่าจอ SDR จึงทำให้ผู้ชมเห็นรายละเอียดเพิ่มเติมได้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามการเพิ่มค่าความสว่างสูงสุดให้หน้าจอ SDR กลับไม่สามารถให้ผลเช่นเดียวกัน เพราะการเพิ่มความสว่างให้หน้าจอ SDR จะทำให้แสงบนภาพเพิ่มขึ้นโดยสูญเสียรายละเอียดส่วนที่มืดไป
ประโยชน์ข้อที่ 3. ของการมีช่วงสีที่กว้างขึ้นก็คือโดยปกติแล้วสายตามนุษย์สามารถมองเห็นสีได้หลายช่วง อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ ของการส่งข้อมูลไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ต คอนเทนต์ที่เราเห็นบนจอแสดงผลจึงมีช่วงสีที่แคบกว่าขีดจำกัดที่สายตามนุษย์สามารถมองเห็นได้ ด้วยช่วงสีที่กว้างขึ้นบนจอแสดงผล HDR ทำให้เราเห็นสีสันได้หลากหลายช่วงมากขึ้นแม้จะยังไม่ถึงขีดจำกัดที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้แต่ก็มีรายละเอียดสีที่ดีกว่าการมองผ่านจอภาพ SDR อย่างแน่นอน
สิ่งที่ตามมาก็คือภาพที่ได้มีความสมจริงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น มะเขือเทศของจริงมีสีแดงและสดใส แต่โทนสีจะเบาลงเมื่อมองผ่านจอแสดงผลเนื่องจากช่วงสีที่แสดงผลได้ไม่กว้างเพียงพอที่จะเก็บรายละเอียดให้เหมือนกับของจริง การมีจอแสดงผล HDR จะทำให้สีที่ออกมาใกล้เคียงของจริงมากขึ้นแม้จะไม่ใช่สีเหมือนจริงเป๊ะก็ตาม
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคอนเทนต์ HDR
จอแสดงผล HDR จะเป็นจอแสดงผล HDR ได้สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีคอนเทนต์ HDR ถูกนำมาแสดงบนหน้าจอ หากไม่แล้วก็จะกลายเป็นเพียงจอ SDR คุณภาพดีตัวหนึ่งเท่านั้น
คอนเทนต์ HDR มีรูปแบบหลัก ๆ อยู่ 2 แบบ ได้แก่ HDR-10 และ Dolby Vision ซึ่งใช้รูปแบบการบีบอัดไฟล์ข้อมูล H.264 หรือ HEVC และเก็บบันทึกโดยใช้นามสกุล .MP4 หรือ .MOV ที่มีการเพิ่มส่วนกำกับไฟล์ให้เข้ากับระบบ HDR ซึ่งไฟล์ HDR ที่นำมาเปิดและแสดงผลผ่านจอ SDR จะดูเรียบ ๆ โดยมีความคมชัดและช่วงสีต่ำเนื่องจากระบบของจอแสดงผล SDR ไม่สามารถแสดงข้อมูลสีและแสงที่อยู่นอกเหนือช่วงการแสดงผลของตัวเองได้
HDR-10 เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมแบบเปิดที่สร้างขึ้นโดยสมาคมเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค (Consumer Technology Association) ขณะที่ Dolby Vision เป็นมาตรฐานที่เป็นกรรมสิทธิของ Dolby เปรียบเทียบง่าย ๆ ให้เห็นภาพอย่างเช่น HDR-10 เป็นพอร์ต USB Type-C ส่วน Dolby Vision เป็นพอร์ต Lightning
HDR-10 เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุดเนื่องจากไม่เสียค่าใช้จ่ายและทำงานได้ตรงกับความต้องการ อะไรก็ตามที่อ้างว่ารองรับคอนเทนต์ HDR จะรองรับมาตรฐาน HDR-10 ขณะที่บางอย่างจะอ้างว่ารองรับ Dolby Vision นอกเหนือจาก HDR-10 ด้วย
สิ่งที่ต่างกันระหว่าง Dolby Vision และ HDR-10 ก็คือ Dolby Vision สามารถควบคุมคอนเทนต์ทุกส่วนได้อย่างครบถ้วน โดยผู้สร้างคอนเทนต์สามารถคุมตำแหน่งและวิธีการแสดงผลได้ ผู้ใช้งานจะชมคอนเทนต์ได้ตามที่ Dolby Vision กำหนดค่าไว้ตั้งแต่แรก แต่ใน HDR-10 ผู้ใช้งานจะปรับการตั้งค่าคอนเทนต์ได้เล็กน้อย อีกอย่างหนึ่งคือ Dolby Vision มีความต้องการฮาร์ดแวร์ที่สูงกว่า HDR-10 อย่างมากโดยจอแสดงผลต้องมีสีและความสว่างเหนือกว่าข้อกำหนดของ HDR-10
บทสรุป
สรุปได้ว่า HDR เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มคุณภาพคอนเทนต์ที่สามารถรับชมได้ ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีวิดีโอส่วนใหญ่ในอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มความละเอียด แต่ HDR คือจุดที่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นในระดับพิกเซล หมายความว่าเราจะมีจุดพิกเซลที่มีคุณภาพมากขึ้น สามารถแสดงผลภาพและวิดีโอ HDR ที่สดใสและมีชีวิตชีวาสมจริงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
ย้ำอีกครั้งว่าจอแสดงผลเทคโนโลยี HDR ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับโหมดถ่ายรูป HDR บนสมาร์ทโฟนเลยแม้แต่น้อย
ที่มา : www.gsmarena.com วันที่ : 9 เมษายน 2562
นิ่งไว้! แล้วปลดปล่อยความเป็นผู้เล่นในตัวคุณกับ Squid Game x CASETiFY39 นาทีที่แล้ว
iQOO Z10x ผ่านการรับรองมาตรฐาน คาดเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ พร้อมสเปคที่อัปเกรดขึ้นจากรุ่นเดิม7 ชั่วโมงที่แล้ว
รีวิว Samsung Galaxy S25 Ultra มีอะไรใหม่บ้าง มี Galaxy AI มากขึ้น ปากกา S-Pen ไม่มี Bluetooth มันส่งผลแค่ไหน ?8 ชั่วโมงที่แล้ว
Lenovo Yoga และ IdeaPad รุ่นใหม่ พร้อมเทคโนโลยี AI อัจฉริยะเสริมพลังไอเดียแบบไร้ขีดจำกัด9 ชั่วโมงที่แล้ว
Samsung Galaxy S25 Ultra เปิดตัว Corning Gorilla Armor 2 ครั้งแรกในอุตสาหกรรม4 ก.พ. 68 15:00
iQOO Z10x ผ่านการรับรองมาตรฐาน คาดเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ พร้อมสเปคที่อัปเกรดขึ้นจากรุ่นเดิม
รีวิว Samsung Galaxy S25 Ultra มีอะไรใหม่บ้าง มี Galaxy AI มากขึ้น ปากกา S-Pen ไม่มี Bluetooth มั...
Lenovo Yoga และ IdeaPad รุ่นใหม่ พร้อมเทคโนโลยี AI อัจฉริยะเสริมพลังไอเดียแบบไร้ขีดจำกัด
Samsung Galaxy S25 Ultra เปิดตัว Corning Gorilla Armor 2 ครั้งแรกในอุตสาหกรรม
Apple Intelligence มีอัปเดตภาษาเพิ่มเติม และแว่นตา AR เตรียมบอกลา
vivo V50 พร้อมเปิดตัวในอินเดีย 18 กุมภาพันธ์นี้ สเปคจัดเต็ม กล้อง ZEISS ราคาโดนใจ
ทำความรู้จักแท็บเล็ตเล่น 4G และโทรได้ Infinix XPAD หน้าจอ 11 นิ้ว 90Hz แบตฯ 7000mAh
สรุปจุดเด่นและสเปค TCL NXTPAPER 14 หน้าจอ NXTPAPER 3.0 ลำโพง 4 ตัว กล้องหน้าคู่ แบตฯ 10000mAh
Caviar เผยโฉม iPhone 16 Pro รุ่นพิเศษ Bitcoin Edition หุ้มทองคำ 24k มีแค่ 47 เครื่อง
Samsung Galaxy S25 Series มาแล้ว! ประกาศวันเปิดตัว และลงทะเบียนจองล่วงหน้าได้ทันที