www.siamphone.com

ข่าว

Refresh Rate คืออะไร หน้าจอ 60Hz, 90Hz, 120Hz, 144Hz, 240Hz แตกต่างอย่างไร?

สมาร์ทโฟน (Smartphone)   |   วันที่ : 22 กรกฎาคม 2564

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนดึงมาเป็นจุดเด่นในช่วงเวลานี้ คือ อัตราการรีเฟรชเรท หรือ Refresh rate ที่เรามักเห็นในหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Asus ROG Phone 2 /Lenovo Z6 Pro/Razer Phone 2 กับอัตรา Refresh Rate 120Hz ทั้งยังมีรุ่น Xiaomi Black Shark 2 Pro กับอัตรารีเฟรชเรทสูงสุด 240Hz หากเป็นรุ่นสเปกต่ำสุดก็จะอยู่ที่ 90Hz เชื่อว่ามีสงสัยกันบ้าง เป็นฟีเจอร์ที่จำเป็นจริงหรือไม่ มีความสำคัญ/เป็นประโยชน์อย่างไรต่อการใช้งาน

อัตรารีเฟรชเรท (Refresh rate) คืออะไร

Refresh Rate คือ ค่าที่บอกว่า จอสามารถแสดงภาพนิ่งได้กี่ภาพ (เฟรม) ภายใน 1 วินาที หรือรองรับการแสดงผล Frame Rate (fps) สูงสุดที่เท่าไร โดยจอภาพที่เป็น 60 Hz จะรองรับการแสดงผลที่ 60 fps ส่วนจอภาพ 120 Hz ก็จะรองรับ 120 fps เมื่อค่า Hz หรือ fps สูง ภาพจะเคลื่อนไหวได้ไหลลื่นมากขึ้น

การที่หน้าจอแสดงผลของเราแสดงผลได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ตามจำนวนค่าที่สามารถรีเฟรชได้ เมื่อเปรียบตามตัวเลข อาทิ 60 / 90 / 120 / 240 ก็จะเป็นประมาณ เดิน / วิ่ง / มอเตอร์ไซค์ / รถยนต์ จะเห็นว่าใน 1 วินาที

ภาพจะสามารถแสดงผลต่อวินาทีได้รวดเร็วมากๆ ทำให้ผู้ใช้จะสังเกตถึงความลื่นไหล และสบายตามากยิ่งขึ้นในขณะใช้งาน เช่น การสลับเปลี่ยนแอปพลิเคชั่น, การเปิดปิดแอปพลิเคชั่น, เลื่อนในเบราว์เซอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์กับฟังก์ชั่นอนิเมชั่นต่าง ๆ ในตัวเครื่องด้วย นั่นหมายความว่ายิ่งมีลูกเล่นระบบ Gesture มาก สเปกของ Refresh rate จึงเป็นส่วนสำคัญในการใช้งานด้วย หากมีค่าตัวเลขสูง เราจะเห็นความหน่วงในการแสดงผลลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ความจำเป็นในการมี Refresh rate ?

เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ใครหลายคนอาจไม่รู้ ตามที่เกริ่นข้างต้นการมีตัวเลขยิ่งเยอะ ประสิทธิภาพการแสดงผลย่อมดีเยี่ยมต่างไปด้วย ทว่าในแง่ของการใช้งานเบื้องต้นเท่านั้น แต่แอปพลิเคชั่น และคอนเทนต์วิดีโอ กลายเป็นประเด็นตรงกันข้าม เพราะถึงแม้ว่าคุณจะมีสมาร์ทโฟนที่มีอัตรารีเฟรชเรทสูงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่า ระหว่างการใช้งานแอปพลิเคชั่น/คอนเทนต์วิดีโอ นั้นจะได้ประโยชน์นี้ด้วย เพราะถ้าไม่รองรับจะกลับไปสู่รีเฟรชเรทปกติคือ 60Hz เท่านั้น หมายความว่า แอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์วิดีโอจะต้องเท่ากันเท่านั้น เช่น สมาร์ทโฟน 90Hz / แอปพลิเคชั่น หรือคอนเทนต์วิดีโอก็ต้อง 90Hz ด้วย และถ้าอีกกรณีละ สมาร์ทโฟน 120Hz / แอปพลิเคชั่น หรือคอนเทนต์วิดีโอ 240Hz สุดท้ายแล้วการแสดงผลจะแค่ 120Hz เท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์ทีเดียว เพราะข้อดีที่ได้กลับมาคือความลื่นไหล (smoother)

จึงสามารถสรุปได้ว่า การมีสมาร์ทโฟนในอัตรารีเฟรชเรทสูงๆ จะมีประโยชน์เฉพาะ การใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีแสดงผล AR/VR และการใช้งานเบื้องต้นคือ การสลับเปลี่ยนแอปพลิเคชั่น, การเปิดปิดแอปพลิเคชั่น, เลื่อนในเบราว์เซอร์, ระบบ Gesture / Animation รวมถึงการใช้โหมดแบ่งหน้าจอ และความสบายสายตาที่เพิ่มเข้ามา เพราะการมีอัตรารีเฟรชเรทสูงๆ หมายความหน้าจอก็มีการกระพริบที่เร็วขึ้น ช่วยลดอาการเมื่อยล้าของสายตา รวมถึงการตอบสนองการทัชสกรีนได้ไวกว่าเดิม

ความแตกต่างระหว่าง Refresh rate และ FRAME PER SECOND (FPS) คืออะไร

สำหรับ FPS ความหมายและประสิทธิภาพไม่ได้แตกต่างจาก Refresh rate เลย เพียงแต่ต้องเปลี่ยนมาพูดถึงภาพเคลื่อนไหวแทน ภาพนิ่ง นั่นหมายความว่าจะเป็นในส่วนของวิดีโอและเกมมากกว่า ซึ่งหากคุณมีหน้าจอรีเฟรชเรทที่สูง การแสดงผลของ FPS ก็จะสูงตามไปด้วยทำให้มีความลื่นไหลมากยิ่งขึ้น เหมาะกับการใช้งานแสดงผลภาพเคลื่อนไหวที่แบบรวดเร็วมากๆ รวมถึงมีรายละเอียดเยอะในหนึ่งเฟรม

คำถามคือแล้วถ้าสมาร์ทโฟนหน้าจอ 90Hz แต่เราเปิดคอนเทนต์วิดีโอ / เกมที่มีค่าเฟรมเรทสูงสุด 120Hz แสดงผลยังไง จะแสดงแค่ 90Hz เท่านั้น โดยการจัดการประมวลผลของชิปเซ็ตประมวลผลจะทำหน้าที่คัดแยกเฟรมเรทที่เป็นจุดพิกเซลเกินออก เพื่อให้แสดงผลได้อย่างไหลลื่นนั่นเอง

ข้อเสียของการมีอัตรารีเฟรชเรทหน้าจอสูงๆ คืออะไร

ต้องบอกว่าข้อดีมาก ข้อเสียมีเหมือนกัน ประเด็นแรกคือ จุดพิกเซลของพาเนลหน้าจอแสดงผล เสื่อมไวกว่าเดิม เนื่องจากมีการรีเฟรชถี่ทำให้จุดพิกเซลเสื่อมสภาพไวขึ้น จนเกิดหน้าจอเบิร์น หรือสีผิดเพี้ยน ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องของแบตเตอรี่ที่จะหมดไวขึ้น ประเด็นที่สามก็จะเป็นเรื่องของอุณหภูมิตัวเครื่องที่อาจสูงขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากหน้าจอต้องแสดงผลและกำเนิดแสงที่มากขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจึงให้ผู้ใช้งาน มีทางเลือกในการตั้งค่า ให้แสดงผลตามรีเฟรชเรทที่เราต้องการได้

เป็นอย่างไรกันบ้างกับจุดเด่นใหม่ของสมาร์ทโฟนที่เราเริ่มเห็นกันมากขึ้น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะอดีตคอนเทนต์ หรือการใช้งานยังไม่จำเป็น ทว่าในอนาคตมีฟีเจอร์ต่างๆ มากมายให้คุณได้เล่น ดังนั้นเราจะเห็นอัตรารีเฟรชเรทมากรุ่นอย่างแน่นอน..

อีกหนึ่งประเด็นสัมพันธ์กันคือ อัตรา Touch Sampling Rate ที่สูง อ้างอิงจาก dxomark.com มักจะเห็นว่า 90Hz/180Hz ช่วยให้สมาร์ทโฟนเรนเดอร์ภาพเร็วขึ้น เพิ่มประสบการณ์ดีขึ้น การใช้งานอาจไม่ส่งผลมากนัก แต่การเล่นเกมอาจเป็นปัจจัยตัดสินแพ้-ชนะบางจังหวะได้เลย เพราะอัตราค่า Touch Sampling Rate สูงกว่าจะทำให้ควบคุมภายในเกมได้เร็วกว่าคู่แข่ง เพียงเสี้ยววินาทีก็รู้เรื่องได้เลย

กรณี Refresh Rate กับ Touch Sampling Rate มีค่าเท่ากัน เช่น 60Hz/60Hz จังหวะการรับสัญญาณจากการกด กับจังหวะการเปลี่ยนเฟรมภาพจะเกิดขึ้นพร้อมกัน (ในกรณีนี้คือเกิดขึ้นทุกๆ 16.6 มิลลิวินาที) เมื่อส่งสัญญาณการกดพร้อมกับรีเฟรชภาพ ภาพเฟรมต่อไปที่กำลังจะมาถึงจะไม่อัปเดตตามการกดทันที แต่จะไปอัปเดตในเฟรมถัดไปแทน หรือก็คือการอัปเดตภาพจะช้าลง 1 จังหวะ ในทางกลับกันหากเป็นสมาร์ทโฟน 60Hz/120Hz (Refresh Rate/Touch Sampling Rate) การแสดงผลจะทันที โดยที่ไม่ต้องรอเฟรมถัดไปเลย นั่นหมายความว่าหากเลือกซื้อสมาร์ทโฟนสักรุ่นหนึ่ง ควรจะต้องมีอัตรา 1:2 เป็นอย่างต่ำ เพื่อให้ประสิทธิภาพการแสดงผลได้แม่นยำ และเสถียรสมจริง เช่น 90Hz/180Hz หรือ 120Hz/240Hz เป็นต้น

ทำความเข้าใจแบบง่ายๆ คือ Touch Samspling Rate ที่สูง จะทำให้มีการตอบสนองต่อการกดของนิ้วมือได้เร็วกว่า หรือที่เรียกกว่า “ทัชติดมือ” ในการเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมแนว FPS หรือเกม MOBA ทำให้รู้สึกควบคุมตัวละครได้ดั่งใจโดยไม่หน่วงหรือดีเลย์

สรุปสั้นๆ ได้ใจความ : Refresh Rate กับ Touch Samspling Rate คืออะไร

Refresh Rate กับ Touch Samspling Rate ลักษณะประโยชน์ไม่เหมือนกัน แต่ต้องทำงานสัมพันธ์กัน

  • Refresh Rate : อัตราความเร็วการเปลี่ยนภาพของหน้าจอในแต่ละเฟรมเรท
  • Touch Sampling Rate : ความเร็วการตอบสนองต่อการกดของหน้าจอ

วันที่ : 22 กรกฎาคม 2564

147,929
อ่าน

แบ่งปันบทความ

ข่าวล่าสุด

ไฮไลท์ข่าว

หมวดข่าว

None AMP version