สมาร์ทโฟน (Smartphone)  |   วันที่ : 4 กุมภาพันธ์ 2561

ปรับขนาดตัวอักษร - ก+ก

แชร์

ต้องบอกว่าในปีนี้เรื่องราวของสมาร์ทโฟนมีให้พูดถึงมากเลยทีเดียวไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนา หรือลูกเล่นใหม่ที่ร้องว้าวได้เลยเพราะไม่มีใครคาดคิดว่าเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร ดังนั้นหลายคนอาจรู้สึกนึกคิดว่าตอนนี้อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนก้าวไกลไปขนาดไหนแล้ว ในบทความนี้เราจะขอสรุปให้ฟังพร้อมเจาะลึกวิธีการใช้งาน รวมถึงเคล็ดลับการเลือกซื้ออย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุด แต่ถ้าอยากอ่านฉบับเต็มทุกเรื่องราวสามารถศึกษาได้จาก : [คัมภีร์มือถือ] รวมทุกเรื่องราวสมาร์ทโฟน และเกร็ดความรู้ต่างๆ

สารบัญความรู้แต่ละฟังก์ชั่นของสมาร์ทโฟน

เริ่มกันที่วัสดุตัวเครื่อง : ในปัจุบันนี้ต้องบอกว่าได้เข้าสู่ยุคของสมาร์ทโฟนบอดี้โลหะแบบไร้รอยต่อแล้ว ข้อดีของการใช้โลหะสร้างบอดี้ตัวเครื่องคือจะให้ความรู้สึกเวลาจับถือที่มั่นคงรวมถึงมีความแข็งแรง (ขึ้นอยู่กับเกรดโลหะที่นำมาใช้) ทนทานมากกว่าพลาสติกและไม่เป็นรอยนิ้วมือง่าย แต่บางครั้งความทนทานอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะสมาร์ทโฟนเหมือนแฟชั่นด้วย ดังนั้นจึงต้องดีไซน์ออกแบบให้ดูพรีเมี่ยมมากขึ้นด้วยการครอบทับกระจก ซึ่งที่มีมาตรฐานและก็นิยมใช้ตอนนี้คือแบรนด์ Corning Gorilla Glass และเวอร์ชั่นที่เราควรมองหานำมาใช้งานคือ " 5 " โดยจะแข็งแรงทนทานกว่าเวอร์ชั่นก่อนๆ 

ซื้อสมาร์ทโฟนแนะนำมองหารุ่นที่เป็นโลหะทั้งฝาหลังและขอบตัวเครื่อง เพื่อความแข็งแรงพร้อมให้ความรู้สึกในการจับถือ ทั้งดูแลรักษาง่าย ระบายความร้อนได้ดีกว่า ส่วนรุ่นที่มีการครอบทับกระจกนั้นควรอย่างยิ่งที่จะหาเคสมาใส่ เนื่องจากรอยนิ้วมือที่เกิดขึ้นและสุ่มเสี่ยงจ่ออุบัติเหตุต่อกระจกเพราะถ้าแตกแล้ว ราคาซ่อมแพงกว่าราคาของเคสเสียอีก ดังนั้นก็ควรเลือกเคสมาใส่เพื่อป้องกันไว้ด้วย 

  • ด้านหน้าจอ

เมื่อพูดถึงรอบตัวเครื่องอีกประเด็นที่น่าสนใจคือหน้าจอเพราะปัจจุบันนี้หลากหลายแบรนด์ก็ตามเทรนด์สมัยนิยมใช้อัตราส่วนใหม่นั่นคือ 18:9 หรือ 18.5:9 (Samsung) เพื่อให้ได้ขนาดหน้าจอที่ใหญ่ขึ้นโดยที่ขนาดตัวเครื่องไม่เพิ่มขึ้นตาม ข้อดีของการใช้หน้าจอลักษณะนี้คือ เราจะได้อรรถรสในการเล่นเกม ชมคอนเทนต์วิดีโอ และท่องเว็บไซต์ หรืออ่านหนังสือ E-Book มากกว่าเดิม เพราะขอบจอจะไม่มาบดบังสายตา อีกทั้งใช้โหมดแบ่งหน้าจอคล่องตัวมากขึ้นเพราะมีขนาดใหญ่กว่าเดิมสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ไขข้อสงสัย! หน้าจอสมาร์ทโฟนอัตราส่วน 18:9 และความละเอียด HD+, FHD+, WQHD+ คืออะไร มีประโยชน์หรือไม่

หน้าจอสมาร์ทโฟนหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า แท้จริงแล้วจะเลือกใช้ขนาดใดดี ?

อัตราส่วนใหม่ทำให้สมาร์ทโฟนมีหน้าจอขนาดใหญ่โดยที่ขนาดตัวเครื่องไม่เพิ่มขึ้นตามเช่น หน้าจอ 5.9 นิ้วในขนาดตัวเครื่องเพียง 5.5 นิ้ว ซึ่งเกิดข้อแตกต่างชัดเจน หากซื้อสมาร์ทโฟนทั้งทีแนะนำว่าให้ซื้ออัตราส่วนใหม่นี้ได้เลย เพราะอรรถรสในการใช้งานของเราเพิ่มมากขึ้น แม้แต่ YouTube เองยังมีโหมดปรับแต่งวิดีโอให้แสดงเนื้อหาคอนเทนต์เหมาะสมกับอัตราส่วน รวมถึงเหล่าแอปฯ เกม แน่นอนว่าจุดเด่นผมได้กล่าวไว้หมดแล้ว มาดูข้อเสียของหน้าจอลักษณะดังกล่าวบ้าง ด้วยหน้าจอขนาดใหญ่การใช้งานมือเดียวอาจไม่สะดวกคล่องตัว 

ความละเอียดที่เพิ่มขึ้นมาเนี่ยสรุปแล้วแสดงผลได้ละเอียดกว่าเดิมหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น FullHD+ หรือ 2160 x 1080 พิกเซล แท้จริงแล้วไม่ได้ละเอียดเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะอัตราส่วนเพิ่มขึ้นจึงต้องให้เม็ดพิกเซลครอบคลุมกับจุดพิกเซลทุกเม็ดเพื่อไม่ให้พิกเซลแตก นั่นหมายความว่าก็เหมือนความละเอียดระดับ FullHD อยู่ดี แต่ข้อแตกต่างคือความรู้สึกต่อการชมคอนเทนต์จะดีกว่าแบบปกติ (16:9) ส่วนความละเอียดหน้าจอสมาร์ทโฟนในปัจุบันมีอะไรบ้าง

  • qHD (Quarter of High-Definition) เป็นระดับความละเอียดที่นิยมใช้กับสมาร์ทโฟนรุ่นเล็ก ซึ่งมีความละเอียดอยู่ที่ 960 x 540 พิกเซล
  • HD (High-Denfinition) นิยมใช้กับรุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นกลาง มีความละเอียด 1280 x 720 พิกเซล
  • FullHD (Full High-Definition) นิยมใช้กับรุ่นกลาง ความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล
  • Quad-HD หรือ 2K ส่วนใหญ่จะอยู่ในบรรดารุ่นท็อป ด้วยความละเอียด 2560 x 1440 พิกเซล
  • Ultra HD หรือ 4K (Ultra High Definition) โดยรุ่นแรกของโลกที่ใช้ความละเอียดนี้คือ Sony Xperia Z5 Premium มาพร้อม 3840 x 2160 พิกเซล

ข้อควรรู้ : สายตาไม่สามารถแยกแยะภาพได้อย่างเห็นชัดเพราะหน้าจอของสมาร์ทโฟนเล็กซึ่งความละเอียดระดับ 2K - 4K จะเห็นความแตกต่างก็ต่อเมื่ออยู่บนหน้าจอความกว้าง 50 นิ้วขึ้นไป โดยต้องบอกว่าภาพที่ได้นั้นคมกริบเลยทีเดียว


Sony Xperia XZ Premium รุ่นที่สองของแบรนด์หน้าจอความละเอียด 4K

แม้ว่าความละเอียดจะสูงมากเพียงใด แน่นอนว่าทำให้เราเพลิดเพลินกับคอนเทนต์ แต่ดวงตาก็เป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องถนอมเพราะไม่สามารถทดแทนกันได้ง่ายๆ ถ้าหากเสียหายและสมาร์ทโฟนเองมีแสงสีฟ้าจากการแสดงผลหน้าจอเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำลายสุขภาพหากได้รับในปริมาณสูงเกินสามารถอ่านบทความ : [ไขข้อสงสัย] เล่นสมาร์ทโฟนเปิด Eye Care Mode ช่วยถนอมสายตาจริงหรือไม่ มีวิธีป้องกันอย่างไร 

และมีอีกหนึ่งรูปแบบการแสดงผลที่ต้องรู้จักเพราะในปัจจุบันนั้นได้รับความนิยมในสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่น เพราะว่าทำให้เราชมคอนเทนต์วิดีโอสวยงามยิ่งขึ้น ทั้งมีคอนเทนต์รองรับแล้วด้วย คือเทคโนโลยี HDR บนจอแสดงผล อ่านบทความเพิ่มเติม....

นอกจากอัตราส่วนใหม่ที่นิยมอย่างมาก ดูเหมือนว่าในอนาคตหน้าจอจะเป็นมากกว่าแค่การแสดงผลแล้ว เพราะมีเทคโนโลยีสแกนลายนิ้วมือที่ใต้หน้าจอเกิดขึ้นรวมถึงการลดปุ่มควบคุมกายภาพ โดยที่เห็นชัดในตอนนี้รุ่นท็อปหลายแบรนด์เริ่มตัดปุ่มโฮมออกเช่นเดียวกับปุ่มต่างๆ และพัฒนาซอฟต์แวร์ พร้อมเพิ่มฮาร์ดแวร์ให้หน้าจอตอบสนองการใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่าสมาร์ทโฟนเริ่มเข้าสู่ยุคไร้ปุ่มกดแล้ว แต่ก็ยังคงต้องใช้เวลาต่อไปอย่างน้อยอีกสองสามปี 

  • ด้านหน่วยประมวลผล

ปัจจุบันมีผู้ผลิตชิปเซ็ตประมวลผลที่นิยมใช้กัน 6 ค่าย Qualcomm, MediaTek, Intel, Exynos และ Nvidia และ Kirin โดยก็แบ่งหน่วยประมวลผล (Central Processing Unit หรือ CPU) ออกเป็น Dual-core, Quad-core, Octa-core และ Deca-core มาทำความรู้จักกันว่าแต่ละอย่างคืออะไร

สำหรับ CPU Dual-core เป็นหน่วยประมวลรุ่นเล็กสุดซึ่งก็มีแกนทำงานเพียง 2 แกนในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ส่วน Quad-core ได้เพิ่มแกนทำงานขึ้นมาอีก 2 แกนเป็นทั้งหมด 4 แกน จนพัฒนามาเป็น Hexa-core หรือ 6 แกนประมวลผล และมีหน่วยประมวลผลยอดฮิตที่หลายแบรนด์นิยมใช้กันคือ CPU Octa-core กับหน่วยประมวลผล 8 แกน สุดท้ายอีกหนึ่งความก้าวหน้าของวงการชิปเซ็ตสมาร์ทโฟนที่ภายในปีพุทธศักราช 2559 เราจะได้เห็นกันอย่างแน่นอนนั่นคือ CPU Deca-core กับคุณสมบัติการประมวลผล 10 แกน โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 กลุ่ม (Tri-cluster CPU) คลิกอ่านข่าวเปิดตัวชิปเซ็ตดังกล่าวได้ที่ Siamphone.com 

 

แต่นั่นก็แค่เบื้องต้นตามทฤษฏีเท่านั้น ในปัจจุบันจำนวนแกนไม่ได้บ่งบอกถึงประสิทธิภาพความเร็วซึ่งจะขึ้นอยู่กับสถาปัตยกรรมการออกแบบของชิปเซ็ต พูดง่ายๆ ว่าคือการปรับแต่งระบบนั่นเอง ดังนั้นถ้าใครบอกคุณว่า CPU Octa-Core หรือ CPU Deca-Core ดีที่แล้วสุด นั่นไม่ใช่เรื่องจริงเพราะเป็นเพียงแค่คำกล่าวอ้าง ส่วนเหตุผลก็คืออย่างที่เกริ่นข้างต้น 

ดังนั้นจึงเกิดคำถามต่อไปว่าในเมื่อมองดูแค่จำนวน CPU อย่างเดียวไม่ได้ แล้วยังงี้จะตัดสินใจซื้อจากอะไร ตามที่ได้ระบุไว้ข้างต้นบางหน่วยประมวลผลแค่ 4 แกนนั้นยังมีประสิทธิภาพดีกว่า 8 แกน ด้วยสถาปัตยกรรมการออกแบบที่แตกต่างกันนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันเราควรจะมองหาสมาร์ทโฟนที่มีหัวใจในการประมวลผลจากชิปเซ็ตดังต่อไปนี้ Snapdragon 425, 435, 630, 660 และ 835 ส่วน Mediatek ก็มองหารุ่น P23, P20 ขณะที่ชิปเซ็ตรุ่นตํ่ากว่านี้จากแบรนด์นี้ก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพของกราฟฟิก (GPU) มากนักจึงมักเกิดปัญหาการเล่นเกม อีกสองแบรนด์ก็คือ Kirin & Exynos ถูกพัฒนาโดย Huawei / Samsung อาจเบาใจได้เนื่องจากชิปเซ็ตเหล่านั้นปรับแต่งให้ใช้งานเฉพาะกับสมาร์ทโฟนของตนเอง ส่งผลให้มีความไหลลื่นและตอบโจทย์ทุกการใช้งานได้มากกว่า

  • ด้านหน่วยประมวลผลกราฟฟิก

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นหน่วยประมวลผลกราฟฟิก (GPU) เป็นองค์ประกอบสำคัญของสมาร์ทโฟนเช่นกัน โดยทำหน้าที่ดูแลการแสดงผลภาพให้ทำงานไหลลื่น ไม่ว่าจะเป็น เกม วิดีโอ รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ดังนั้นถ้าหากเราต้องการภาพสวยงามก็จำเป็นต้องใช้ชิปเซ็ตรุ่นท็อป ทั้งนี้มีหลายคำถามระบุว่าชิปเซ็ตกราฟฟิกรุ่นใดสามารถเล่นเกมได้ดี 

ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนมักใช้ชิปเซ็ตของ Qualcomm, MediaTek, Exynos และ Kirin โดยรายแรกก็ไว้ใจได้เพราะมีการพัฒนาให้รุ่นเล็กสามารถใช้งานกราฟฟิกได้ดีกว่าก่อน ขณะที่ 3 รายหลังอาจต้องเป็นพวกชิปเซ็ตรุ่นกลางหรือขึ้นไปจึงไม่ค่อยมีปัญหาด้านเกม พบได้ในสมาร์ทโฟนช่วงราคามากกว่า 7,000 บาทขึ้นไป 

  • ด้าน RAM

เมื่อวันเวลาผ่านไปสมาร์ทโฟนจะไม่ได้เป็นอุปกรณ์เฉพาะติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้งานในรูปแบบอื่นได้อีกหลายอย่างตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้องจึงต้องซับซ้อนกว่าเดิมเพื่อรองรับเทรนด์ในอนาคตซึ่งสมาร์ทโฟนในปัจจุบันจึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีแรมขั้นตํ่าขนาด 3GB ของระบบแอนดรอยด์แต่หากไม่จำกัดงบประมาณแนะนำให้ซื้อรุ่นที่ RAM 4GB ส่วน iOS ขั้นตํ่าต้อง 2GB

ส่วนเหตุผลที่ต้องมีแรมเยอะเหตุผลคือทำให้ระบบภายในทำงานรวดเร็วขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเรียกใช้งาน การทำงาน Multitasking หรือโหมดแบ่งหน้าจอ เป็นต้น 

  • ด้านพื้นที่เก็บข้อมูลภายใน (ROM)

ควรเลือกซื้อรุ่นสมาร์ทโฟนมี ROM ความจุ 32GB เนื่องจากปัจจัยของแอปพลิเคชั่นมีโครงสร้างซับซ้อนขึ้นและต้องอาศัยการอัปเดตล่าสุดเสมอ ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชั่นใหม่รวมถึงระบบความปลอดภัยดังนั้นถ้ามีแอปฯ ภายในเครื่องเยอะ เมื่ออัปเดตพร้อมกันประมาณ 15 แอปฯ บางทีเราอาจไม่เหลือพื้นที่ไว้ใช้เก็บข้อมูลอื่นเลย

อย่างไรก็ตามถ้าผู้ซื้อมีงบประมาณไม่จำกัดอยากได้ประสบการณ์การใช้งานสมาร์ทโฟนที่ดี ควรเลือกรุ่นที่มาพร้อมเทคโนโลยี UFS เพราะจะมีอัตราการอ่านเขียนข้อมูลได้รวดเร็วกว่าทั่วไป  

UFS หรือ Universal Flash Storage มีสองระดับคือ 2.0 และ 2.1 มีข้อดีคืออัตราการเขียนอ่านข้อมูลเร็วกว่า (eMMC 5.1) สามารถถ่ายโอนข้อมูลทั่วไ ปหรือทำงานประมวลผลด้านกล้องไม่ว่าจะเป็นถ่ายภาพกับบันทึกวิดีโอดีขึ้น

  • ด้านพื้นที่เก็บข้อมูลภายนอก (MicroSD Card) 

เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนควรคำนึงถึงถ้าอยากใช้งานแบบไม่ยุ่งยาก ในปัจจุบันเหล่าคอนเทนต์ต่างต้องใช้พื้นที่เก็บข้อมูลมากขึ้นด้วยขนาดต่างๆ เพราะมีอัปเดตเสมอ ดังนั้นหากไม่ชอบลบข้อมูลภายในเครื่องของเราบ่อยๆ จึงต้องเลือกซื้อรุ่นที่สามารถใส่หน่วยความจำภายนอกได้

MicroSD Card มีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลจากการแบ่ง Class ออกเป็น 2/4/6/8/10 โดยเลข 10 มีความเร็วขั้นตํ่าสูงสุด สำหรับเลขคลาสเราสามารถดูได้จากตัวเลขที่อยู่ในวงกลม.

  • Class 2 ความเร็วในการเขียนข้อมูลขั้นต่ำ 2 MB / วินาที
  • Class 4 ความเร็วในการเขียนข้อมูลขั้นต่ำ 4 MB / วินาที
  • Class 6 ความเร็วในการเขียนข้อมูลขั้นต่ำ 6 MB / วินาที
  • Class 10 ความเร็วในการเขียนข้อมูลขั้นต่ำ 10 MB / วินาที

ทำไมเราต้องใช้การ์ด MicroSD Card คลาสสูง ๆ เป็นเพราะอะไร...?

สำหรับการเลือกซื้อ MicroSD Card ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งานของเรา โดยหากใช้งานทั่วไปก็ไม่ต้องเลือกซื้อคลาสสูงมาก Class 4 - Class 6 เพียงพอแล้ว แต่ถ้าชอบบันทึกวีดีโอแบบ FullHD ควรต้องซื้อ Class 10 เพราะการเขียนข้อมูลขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องลงการ์ด ต้องมีความเร็วที่เพียงพอ ไม่เช่นนั้นก็จะเขียนไม่ทัน ส่งผลให้เกิดอาการสะดุด

และถ้าบันทึกวีดีโอระดับ 4K ก็ต้องใช้การ์ด MicroSD แบบ UHS อย่างไรก็ตามเราก็ควรต้องตรวจเช็คด้วยว่าสมาร์ทโฟนของเรานั้นรองรับการ์ดหน่วยความจำภายนอกได้แบบไหนบ้างไม่เช่นนั้นเมื่อซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ อาจเสียเงินฟรี 

ถ้าต้องการใช้ MicroSD Card ประสิทธิภาพสูงๆ ย่อมต้องจ่ายราคาแพง ดังนั้นจึงเกิดของปลอมขึ้นซึ่งผู้ซื้ออย่างเราอาจไม่รู้วิธีตรวจสอบ และต้องบอกว่า ณ ตอนนี้มีวางจำหน่ายกันเพียบเลย เพราะฉะนั้นแล้วเรามาดูข้อแนะนำกันหน่อยว่า ควรเลือกซื้อและป้องกันอย่างไร

วิธีป้องกันและตรวจเช็คการ์ด MicroSD จะทำได้อย่างไรบ้าง....? 

ช่องทางออนไลน์

ถ้าหากเราซื้อ MicroSD Card ผ่านช่องทางออนไลน์ แน่นอนว่ารูปของสินค้าที่นำมาแปะอาจเป็นของจริง หรือของปลอม และเราไม่สามารถแยกแยะตรวจสอบได้ ดังนั้นวิธีตรวจสอบเบื้องต้นคือ...

  • MicroSD Card ของแท้ต้องมียี่ห้อที่เรานั้นคุ้นหู หรือเคยได้ยิน ถ้าบนการ์ดเขียนเพียงความจุ ระดับ Class และตัวอักษรดูผิดเพี้ยนดูไม่มีมาตรฐาน ควรมองข้ามไปซะ
  • ตรวจสอบสินค้าประเภทเดียวกันจากผู้ขายหลายราย ว่ามีราคาสินค้าต่างกันมากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบ แต่ก็อย่าลืมว่าถึงแม้จะมีราคาแพงใช่ว่าจะเป็นของจริง เพราะเราไม่ได้เห็นสินค้าด้วยตา 
  • อ่านคอมเม้นท์คนอื่นที่เข้ามาซื้อสินค้าแต่ละผู้ลงขายรายการสินค้า เพื่อตรวจสอบว่ามีการ Feedback อย่างไรบ้าง
  • เปรียบเทียบจากร้านค้าตัวแทนจำหน่ายภายนอก ที่ไม่ใช่ช่องทางออนไลน์ และต้องเชื่อถือได้มีมาตรฐาน เพื่อเช็คดูว่ามีข้อแตกต่างด้านราคาและความสามารถมากน้อยแค่ไหน
  • ก่อนทำการสั่งซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทใดควรอ่านกฏเกณฑ์ของช่องทางออนไลน์นั้นๆ ให้ดีเสียก่อน 
  • สุดท้ายเมื่อสินค้าแล้ว จดชื่อผู้ลงขาย หรือข้อมูลต่าง ๆ ไปจนถึงหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในครั้งนี้ไว้ให้ดี เพื่อใช้เป็นข้อพิสูจน์ต่อการยื่นเรื่องนำเงินคืน และแจ้งจับผู้กระทำผิด หากสินค้านั้นเป็นของปลอม

ร้านค้าทั่วไป

แน่นอนว่าสินค้าแบบนี้ซื้อด้วยช่องทางออนไลน์นั้นคงสะดวกสบาย ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง หรือเวลาแต่อย่างใด ทว่าสินค้าบางประเภทก็อย่าลืมเตือนตัวเองว่า การดูสินค้าด้วยตาตนเองนั้นจะมีมาตรฐานกว่า ทั้งยังไม่ต้องเสียใจเมื่อซื้อสินค้ามาเป็นของปลอม เพราะอย่างน้อยเราก็สามารถใช้วิจารณญาณรวมถึงประสบการณ์ของตนเองตัดสินใจได้ ดังนั้นแล้วเราลองมาดูวิธีตรวจเช็คกันหน่อย...?

1. แพ็กเกจต้องไม่มีรอยแกะ ดูดีมีมาตรฐาน และที่สำคัญดูเครื่องหมายรับรองต่างๆ อีกทั้งควรสังเกต MicroSD Card ว่ามีหน้าตาที่ดูผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะเป็นพื้นหลัง, ตัวอักษร, เฉดสี, รอยตัดของการ์ด ว่าดูเลอะเทอะไม่เป็นไปตามรูปลักษณ์ดังที่เราเคยเห็น

2. ถ้าหากมีของจริงที่เคยใช้งานควรนำติดตัวมาด้วย เพื่อเปรียบเทียบดูว่า มีความแตกต่างกันหรือไม่ซึ่งอย่างน้อยก็ทำให้เรามั่นใจได้

3. สุดท้ายการเลือกซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็ขอฝากไว้ว่าเราควรซื้อกับร้านขายที่มีมาตรฐาน ใบอนุญาตประกอบการที่ถูกต้อง เพราะสินค้าประเภทนี้ไม่ได้มีราคาถูก ทั้งยังมีการประกันสินค้าอีกด้วย

สรุป : การเลือกซื้อ MicroSD Card ที่ถูกต้องคือควรเลือกซื้อกับตัวแทนจำหน่ายที่ถูกต้อง และมีสติ๊กเกอร์รับประกันจากผู้รับผิดชอบที่เชื่อถือได้ (คลิกอ่านบทความเพิ่มเติม) และตรวจสอบผู้ขายว่ามีจริงหรือไม่ได้ที่ sdcard.org

  • ด้านระบบเชื่อมต่อ 

1. Wi-Fi เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ทำให้เราสะดวกสบายขึ้นด้วยการใช้หลักการของคลื่นวิทยุในการติดต่อสื่อสาร ปัจจุบันประยุกต์ใช้ในรูปแบบอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้ใช้สามารถท่องโลกออนไลน์ทุกที่ทุกเวลา โดยที่ไม่ต้องมีสายเชื่อมต่อเพียงแค่มีสัญญาณก็เชื่อมต่อได้แล้ว

แต่ข้อแนะนำของการต่อ Wi-Fi คือ ผู้ใช้งานไม่ควรเชื่อมต่อ Wi-Fi ในพื้นที่สาธารณะโดยที่ไม่รู้จักแหล่งปล่อยสัญญาณ เพราะอาจเกิดการดักจับข้อมูล ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา และถึงแม้จะรู้จักก็ไม่ควรทำธุรกรรมทางด้านการเงินเช่นกัน

2. VoWiFi อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะช่วยอำนวยความสะดวกให้การติดต่อสื่อสารไม่ขาดตอน ด้วยการใช้สัญญาณ Wi-Fi แทนที่การใช้สัญญาณจาก ผู้ให้บริการเครือข่าย ในบริเวณที่ไม่มีสัญญาณนั่นเอง

3. Wi-Fi MIMO เชื่อว่าหลายคนคงประสบปัญหาสัญญาณอ่อนไม่เสถียร หรือขาดช่วงขาดตอนเมื่อเวลาใช้งาน ดังนั้นจึงเกิดเทคโนโลยี้ดังกล่าวขึ้น ด้วยการเพิ่มเสาสัญญาณส่งและเสารับสัญญาณมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องแบนด์วิธรวมถึงเพิ่งกำลังของสัญญาณให้แรงขึ้น ปัจจุบันสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปก็รองรับการใช้งาน Wi-Fi ในลักษณะนี้เช่นกัน

4. Wi-Fi Direct อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามาบนพื้นฐาน Wi-Fi โดยผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ รองรับได้โดยที่ไม่ต้องใช้สายเชื่อมต่อ ทั้งยังเชื่อมต่อมากกว่า 2 อุปกรณ์ขึ้นไปอีก โดยเทคโนโลยีนี้ถูกคาดกันว่าจะมาแทนที่ Bluetooth ในอนาคตด้วยข้อดีที่เชื่อมต่อได้ไกลกว่า รวมถึงมีความปลอดภัยมากกว่า และมีอัตราการรับส่งข้อมูลที่เร็วกว่า

5 Wi-Fi Hotspot เมื่อเล่น Wi-Fi บนสมาร์ทโฟนได้ ทำไมถึงจะแชร์อินเทอร์เน็ตให้กับคนอื่นไม่ได้ ดังนั้นในดีไวซ์ส่วนใหญ่จึงมีฟังก์ชั่นนี้เพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งผู้ใช้สามารถกำหนดชื่อ Wi-Fi รวมถึงรหัสการเชื่อมต่อได้ แต่ข้อควรระวังคืออย่าลืมตรวจดูดาต้านะครับ มิฉะนั้นอาจเสียเงินหรืออินเทอร์เน็ตหมดไม่รู้ตัว หากเพื่อนเล่นของเราซะเพลิน

6. Bluetooth เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารไร้สายระหว่างอุปกรณ์หนึ่งกับอุปกรณ์หนึ่ง โดยจะนิยมใช้กับอุปกรณ์เสริมจำพวกหูฟังหรือลำโพงพกพา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้เดินทางมาเวอร์ชั่นที่ 5 แล้ว ซึ่งหลายแบรนด์ต่างนำมาประยุกต์ใช้เป็นฟีเจอร์เด่น คาดว่าปีหน้าจะแพร่หลายมากขึ้น มีจุดเด่นในการรับส่งข้อมูลที่เร็วขึ้น ระยะการใช้งานเชื่อมต่อของสัญญาณไกลกว่าเดิมรวมถึงมีความเสถียรกับปลอดภัย นอกจากนี้ยังตอบโจทย์กลุ่มอุปกรณ์จำพวก Internet of Things เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานดียิ่งขึ้น


7. A2DP Bluetooth สำหรับคำว่า A2DP ก็ย่อมาจาก Advanced Audio Distribution Profile ซึ่งผู้ใช้สามารถฟังระบบเสียงในระดับ Stereo ผ่านการเชื่อมต่อบลูทูธ

8. ANT+ Bluetooth อีกหนึ่งเทคโนโลยทีที่ถูกพัฒนาให้บลูทูธสามารถใช้งานกับอุปกรณ์เสริมจำพวกกีฬาสำหรับการส่งข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังประหยัดพลังงานอีกด้วย

9. Micro USB 2.0 มีหน้าที่ถ่ายโอนข้อมูลและชาร์จแบตเตอรี่แต่จะมีอัตราความเร็วช้ากว่า USB Type-C อยู่มาก ข้อดีคือสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป ส่วนข้อควรระวัง เลือกซื้อสายให้มีประสิทธิภาพ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สินได้ (เฉพาะแอนดรอยด์)

10. USB Type-C เป็นการปฏิวัติวงการเลยทีเดียว เมื่อมีการนำ USB ประเภทดังกล่าวมาใช้งานจริงมากขึ้น ซึ่งข้อดีคือการสามารถเสียบด้านไหนก็ได้ไม่ว่าจะเป็นด้านบนหรือล่าง ทั้งยังมีอัตราการถ่ายโอนข้อมูลที่เร็วกว่าพอร์ต 2.0 เช่นเดียวกับการชาร์จแบตฯ ของสมาร์ทโฟน 

11. สาย USB Lighting ถูกออกแบบมาให้เฉพาะคู่ผลิตภัณฑ์ Apple โดยจะมีหน้าที่เหมือนกันคือการถ่ายโอนข้อมูลและชาร์จแบตเตอรี่

12. อแดปเตอร์ (Adapter) ทำหน้าที่ชาร์จแชตเตอรี่ให้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อื่น ๆ ทว่าปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยี Fast Charge เข้ามาเพื่อให้สามารถชาร์จแบตฯ ได้ไวขึ้นในระยะเวลาที่น้อยลง (แต่ดีไวซ์ต้องรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย)

หมายเหตุ : คำเตือนผู้ใช้งานขอให้ตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีแหล่งพลังงานเป็นกระแสไฟฟ้า หากใช้อย่างไม่มีคุณภาพอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิต ดังนั้นทางที่ดีควรเลือกซื้อของที่มีประสิทธิภาพมียี่ห้อ มีหลักฐานการรับประกัน หรือสังเกตการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม

13. NFC คือเทคโนโลยีการสื่อสารระยะใกล้ด้วยการนำสมาร์ทโฟนของเราที่มีฟีเจอร์ดังกล่าว ไปแตะกับอุปกรณ์ดังกล่าวที่มีระบบ NFC แน่นอนว่าประโยชน์คือสะดวกสบายไม่ยุ่งยาก และปัจจุบันก็มีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ร่วมกับกิจกรรมต่างๆ มากมาย 

14. GPS เป็นเทคโนโลยีที่อยู่คู่กับโทรศัพท์มือถือมาอย่างยาวนานโดยมีหน้าที่ระบุตำแหน่งของเรา กับนำทาง ซึ่งได้ถูกนำไปใช้กับแอพ ฯ ด้วยเช่นกันรวมถึงอุปกรณ์เสริมในการนับจำนวนก้าว หรือระยะทางที่เราได้ทำกิจกรรมด้านกีฬาสำหรับวัดค่าการเผาผลาญของแคลอรี่ โดยเจ้าของคือประเทศสหรัฐอเมริกา

15. GLONASS ลักษณะคล้าย GPS มีหน้าที่นำทางและระบุตำแหน่งคิดค้นโดยประเทศรัสเซีย

16. A-GPS เป็นระบบค้นหา รวมถึงการระบุตำแหน่งบนพื้นผิวโลกเช่นเดียวกับระบบ GPS แต่จะแตกต่างกันที่สามารถรับสัญญาณได้แม้ว่าจะอยู่ภายในอาคาร เนื่องจากว่าเป็นการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Assistance Server) ของผู้ให้บริการเครือข่าย

17. DLNA เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อผ่านระบบ Wi-Fi เพื่อทำให้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ภายในบ้าน เชื่อมต่อกันได้ง่ายๆ แบบไร้สายทำให้ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ทีวี กล้องดิจิตอล เครื่องเล่นวีดีโอ ปริ้นเตอร์ กล้องวีดีโอและอื่นๆ ที่รองรับ DLNA จะสามารถแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกันได้เลย ยกตัวอย่างเช่น การแชร์ภาพถ่ายจากสมาร์ทโฟนไปสู่เครื่องโทรทัศน์เพื่อทำให้ดูภาพได้ใหญ่ขึ้นและหลายคนในเวลาเดียวกัน

18. Miracast เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก DLNA โดยหลักการทำงานก็จะคล้ายกัน เพียงแต่ฟีเจอร์ดังกล่าวจะสามารถแสดงภาพได้ทั้งหน้าจอไม่ใช่เฉพาะไฟล์มีเดียเท่านั้น ทั้ง นี้การเชื่อมต่อก็ยังคงเป็นแบบไร้สาย (Wi-Fi) เช่นกัน

19. Continuum อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ออกแบบมาให้เฉพาะสาวก Lumia ที่สามารถนำดีไวซ์ของเราไปใช้งานบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ แค่นำ Microsoft Display Dock มาเสียบเท่านั้น โดยการใช้งานจะถูกแยกออกจากกันเป็นอิสระ  

20. MHL ลักษณะการทำงานเหมือนกับสาย HDML แตกต่างกันคือระหว่างการเสียบสายดังกล่าวจะมีการชาร์จพลังงานให้กับสมาร์ทโฟนด้วยจึงทำให้สามารถใช้งานได้ยาวนานต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังควบคุมการทำงานต่างๆ ผ่านทางรีโมทของโทรทัศน์ได้เลยอีกด้วย

21. USB - OTG หรือ USB On-the-go แปลความการใช้งาน USB ขณะเดินทาง หรือสามารถใช้งานได้ทุกเวลา ทุกสถานที่นั่นเอง ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ตอนอยู่ที่บ้าน ที่ทำงานอีกต่อไป เพื่อดึงข้อมูลที่ต้องการมาใช้งาน

ดังนั้นเมื่อมีข้อจำกัดจึงพัฒนาฟังก์ชั่นนี้เพื่อตอบโจทย์ให้สามารถแบ่งปันข้อมูลได้รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถให้สมาร์ทโฟนจากการประยุกต์ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ อาทิ เม้าส์, คีย์บอร์ด, Gamepad, Aircard, เครื่องปริ้นท์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการใช้งานบางอุปกรณ์  จะต้องพึ่งพาอาศัยสาย OTG และอาจต้องมีแอพฯ ด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้ด้านการใช้งาน USB OTG จะต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมคือ "สาย" ซึ่งจะมีความแตกต่างจากสายทั่วไปดังนี้ ฝั่งที่เป็นหัว USB จะเป็นตัวเมียสำหรับเสียบเข้ากับอุปกรณ์ USB และอีกฝั่งเป็นหัว Micro USB เพื่อเสียบเข้ากับอุปกรณ์แอนดรอยด์ ส่วนขาของ Micro USB มีขั้วอยู่ 5 ขั้วขณะที่ USB มีแค่ 4 ขั้ว และนี่คือความแตกต่างระหว่างสายทั่วไปกับสาย OTG

ทว่าในปัจจุบันยกตัวอย่าง แฟลชไดร์ฟ ก็มักจะมีคุณสมบัติรองรับการใช้งาน OTG โดยที่ไม่ต้องซื้อสายเพิ่มเติม นำเข้าไปเสียบกับพอร์ตของดีไวซ์แอนดรอยด์ได้เลย

22. VoLTE เป็นเทคโนโลยีที่มาควบคู่กับระบบเชื่อมต่อสื่อสาร 4G LTE ซึ่งไม่ใช่สมาร์ทโฟนทุกรุ่นจะรองรับการใช้งาน โดยการที่จะใช้งานการติดต่อสื่อสาร VoLTE ลักษณะนี้ได้ต้องได้รับการอัปเดตจากโอเปอเรเตอร์เสียก่อน ข้อดีของเทคโนโลยีนี้คือ 

  • สามารถเชื่อมต่อคู่สายได้รวดเร็วกว่าเดิม (สมาร์ทโฟนต้นทาง-ปลายทาง ต้องรองรับการสนทนาแบบ VoLTE)
  • สนทนาแบบ Video Calling ได้ในระดับความละเอียด HD และ FullHD
  • ท่องโลกอินเทอร์เน็ต 4G ความเร็วสูงได้ไปพร้อมกับการโทร
  • สลับการคุยด้วยเสียงเป็นรูปแบบการสนทนาด้วยวิดีโอได้ทันที
  • เสียงสนทนามีความคมชัด และมีการรบกวนน้อย
  • ไม่คิดค่าใช้งานจากดาต้า แต่คิดตามแพ็กเกจ Voice ตามที่ได้สมัครไว้

อีกหนึ่งข้อควรรู้น่าสนใจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนสำคัญสำหรับสมาร์ทโฟน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเล่นได้ไม่มีจำกัด เพราะแต่ละแพ็กเกจก็กำหนดจำนวนดาต้าไว้ชัดเจน เช่น เล่นเน็ต 3G/4G ได้ 4GB ณ ความเร็วสูงสุด นั่นหมายความเมื่อคุณใช้งานจนครบจำนวนแล้ว ความเร็วจะดรอปลง (FUP) หรือ Fair Usage Policy 

  • ด้านระบบปัญญาประดิษฐ์ 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนในปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคการพัฒนาอย่างไรขีดจำกัดแล้ว เพราะทุกแบรนด์ในอุตสาหกรรมนี้ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับระบบปัญญาประดิษฐ์จึงกลายเป็นเทรนด์ และนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย โดยก่อให้เกิดคำถามตามมาว่าท้ายที่สุดแล้วจำเป็นหรือไม่ ดังนั้นเราก็มาหาคำตอบกันเลยว่าสมาร์ทโฟนและ AI สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างไร

AI มีบทบาทอย่างไรต่อสมาร์ทโฟน ?

คำตอบนี้ไม่สามารถกระจ่างชัดเจนได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วระบบปัญญาประดิษฐ์จะมีความสามารถใด ล้วนขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบว่าต้องการเน้นประมวลผลรูปแบบไหนเหมือนกับที่เราเห็น เช่น เน้นถ่ายภาพเพื่อความเป็นธรรมชาติ สมจริงมากขึ้น หรือบริหารจัดการทรัพยากรเครื่องให้ดีขึ้นกว่าเดิม ก็เนื่องจากว่าหน่วยประมวลผลทั่วไปไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเห็นได้จากมีการแบ่งขั้นตอนชัดเจน เช่น 4 คอร์สำหรับการใช้งานทั่วไปและอีก 4 คอร์ใช้ก็ต่อเมื่อต้องการประมวลผลสูง โดยสรุปได้ว่า AI จะมีบทบาทเช่นใดขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาเป็นหลัก

อ่านบทความเพิ่มเติม : [เล่าสู่กันฟัง] เทคโนโลยี AI สำหรับสมาร์ทโฟนจำเป็นจริงหรือไม่ ผู้ใช้ได้ประโยชน์อะไร ?

  • ด้านฟังก์ชั่นการใช้งานสองซิมการ์ด

เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่สมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีให้ใช้งานหลายรุ่น โดยประโยชน์ก็คือทำให้เราสามารถเลือกแพ็กเกจการใช้งานได้ตรงไลฟ์สไตล์ของเรามากขึ้น เช่น ซิมการ์ดหนึ่งเอาไว้ติดต่อสื่อสารหรือซิมการ์ดสองเอาไว้เล่นเน็ตรวมถึงแยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งสองซิมการ์ดมีเกร็ดความรู้เพิ่มเติมน่าสนใจดังต่อไปนี้ 

ประโยชน์ของสองซิมการ์ดมีดังต่อไปนี้....?

1. เนื่องจากบ้านเรามีโอเปอเรเตอร์ให้บริการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้อย่างเราก็มีตัวเลือกการใช้งานแพ็กเกจมากขึ้นตามไปด้วยดังนั้นผู้บริโภคอย่างเราจึงได้ประโยชน์จากราคาที่มีการแข่งขันกัน เพราะฉะนั้นการที่มีหลายตัวเลือกย่อมดีกว่า เพราะบางเจ้าอาจจะมีค่าโทรถูกกว่า หรืออินเทอร์เน็ตได้ดาต้ามากกว่า เสมือนใช้ประโยชน์จากค่ายที่ให้อะไรมากกว่าที่เกิดจากการแข่งขัน ส่งผลให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย

2. อย่างที่ทราบในข้อหนึ่งว่า ปัจจุบันมีโอเปอเรเตอร์เพิ่มขึ้น ทำให้คลื่นความถี่ต่างก็ถูกถือครองแตกต่างกันไป ส่งผลให้สัญญาณของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้ใช้งานจึงพบปัญหาว่าไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซิมการ์ดเครือข่าย A มีสัญญาณ แต่เครือข่าย B ดันไม่มีสัญญาณส่งผลให้เราต้องเลือกผู้ให้บริการสอดคล้องกับพื้นที่ที่ใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการติดต่อสื่อสาร

3. สิทธิพิเศษเพิ่มเติมไลฟ์สไตล์แต่ละคนไม่เหมือนกัน การตลาดนอกจากแข่งขันเรื่องราคาหลายโอเปอเรเตอร์ จึงมองเห็นว่าการมีสิทธิพิเศษจะช่วยดึงดูดความน่าสนใจต่อลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น เช่น ส่วนลดค่าเครื่องดื่มและอาหาร, ตั๋วหนังซื้อ 1 ใบ อีกใบลดอีก 50%, ที่จอดรถพิเศษในห้างสรรพสินค้า, บริการ Wi-Fi เป็นต้น

4. จำแนกการใช้งานแต่ละซิมการ์ดบางคนอาจนำซิมการ์ดแรกไว้ใช้กับเรื่องงาน และอีกหนึ่งซิมการ์ดสำหรับเรื่องส่วนตัว ส่งผลให้ไม่ต้องใช้สมาร์ทโฟนสองเครื่อง

ถาดซิมการ์ดประเภท Hybrid Slot : หมายถึงการที่เราจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งคือใช้งานสองซิมการ์ดเลยหรือหนึ่งซิมการ์ดกับหน่วยความจำภายนอก (MicroSD Card)

ถาดซิมการ์ดประเภท Triple-Slot : หมายถึงสามารถใส่ได้สองซิมการ์ดพร้อมกับหน่วยความจำภายนอก โดยที่ไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

Hot Swap หมายถึง การที่ผู้ใช้สามารถสับเปลี่ยนซิมการ์ดได้โดยที่ไม่ต้องรีบู๊ทเครื่องอีกต่อไป โดยเมื่อเปลี่ยนซิมการ์ดใดซิมการ์ดหนึ่งแค่รอสัญญาณสักครู่สามารถใช้งานได้ต่อได้เลยเพิ่มความสะดวกและเสียเวลาน้อยลง

FullNetcom 3.0 เป็นศัพท์ความเข้าใจผิด แท้จริงแล้วเทคโนโลยีดังกล่าวหมายถึงการที่อุปกรณ์รองรับการใช้งาน 3 เครือข่ายโอเปอเรเตอร์ที่อยู่ในประเทศจีน ได้แก่ China Mobile, China Union และ China Telecom ส่วนคำว่า FullNet ได้ย่อมากจากการที่รองรับการเชื่อมต่อทั้งสามค่ายข้างต้นพร้อมกัน สุดท้าย 3.0 หมายถึงเดินทางมาในยุคที่ 3 แล้วนั่นเองครับ แล้วทำไมใครๆ ก็บอกว่า การเชื่อมต่อรูปแบบดังกล่าวคือ FullNetCom 3.0 อาจจะเป็นเพราะยังไม่มีคำจำกัดความเรียกเท่านั้นเอง

สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวในปัจจุบันได้กล่าวไปสู่การใช้งานเครือข่าย 4G LTE ทั้งสองซิมการ์ดแล้ว โดยสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่รองรับเทคโนโลยีนี้คือ "Huawei Mate 10 Pro" หรือบางรุ่นซิมหนึ่งสามารถใช้งานเครือข่าย 4G/3G และซิมสองในระบบ 3G

 

  • ด้านเซ็นเซอร์

โดยเหล่าเซ็นเซอร์พวกนี้ทำหน้าที่เหมือนเป็นตัววัดค่าวัดตำแหน่ง เพื่อช่วยให้อุปกรณ์ของเราทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น และตรงตามจุดประสงค์ของกิจกรรมที่เราทำในแต่ละอย่าง สามารถแบ่งเซ็นเซอร์ออกเป็น 9 ประเภทดังต่อไปนี้ 

1. Accelerometer Sensor หรือเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวของสมาร์ทโฟนว่าตอนนี้อยู่ในทิศทางใด การแสดงผลก็จะเป็นไปตามนั้นยกตัวอย่างเช่น หากเราใช้งานในแนวนอนการแสดงผลก็จะเปลี่ยนเป็นแนวนอนตามไปด้วย เป็นต้น

2. Gyroscope Sensor เป็นเซ็นตรวจจับการหมุน (Rotation) ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวของสมาร์ทโฟน เพื่อให้ทิศทางที่มีความถูกต้องสมดุลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะจับถือในอิริยาบถใด

3. Light Sensor หรือเซ็นเซอร์ตรวจจับแสงจะทำหน้าที่ปรับความสว่างของหน้าจอให้เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม ณ ช่วงเวลานั้น 

4. Proximity Sensor หรือเซ็นเซอร์ตรวจจับระยะห่างผู้ใช้ อธิบายง่ายคือ เมื่อนำดีไวซ์มาแนบกับหูเมื่อมีสายสนทนาเรียกเข้า หน้าจอจะดับเองอัตโนมัติ เพื่อป้องกันใบหน้าไปโดนปุ่มต่าง ๆ ทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้งาน เช่น หน้าไปโดนปุ่มตัดสาย, ปิดเสียง, ลำโพง เป็นต้น 

5. Orientation Sensor เซ็นเซอร์ที่วัดค่าความเอียงให้แสดงผลตามที่ทิศทางที่เราเอียง กล่าวคือถ้าใครนึกไม่ออกให้ลองมองภาพว่าเรากำลังเล่นเกมแข่งรถอยู่โดยเราต้องเอียงซ้ายเอียงขวา เพื่อบังคับทิศทางรถ แล้วรถจะเปลี่ยนทิศทางตามที่เราเอียงไปนั่นละครับหน้าที่ของเซ็นเซอร์ตัวนี้

6. Sound Sensor ทำหน้าที่ตรวจจับเสียงระดับเดซิเบล (Decibel) จะสามารถตรวจจับเสียงได้ทั้ง dB และ dBA สำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ 

7. Magnetic Sensor อีกหนึ่งเซ็นเซอร์มีหน้าที่ช่วยนำทางให้เราเมื่อใช้งานแอพฯ แผนที่ หรือด้วยระบบ GPS ให้มีประสิทธิภาพ และแม่นยำมากขึ้นเสมือนเป็นเข็มทิศที่ช่วยกำหนดทิศทาง เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตกนั่นเอง

8. Pressure Sensor เป็นเซ็นเซอร์ที่วัดความดันอาการ โดยจะเป็นประโยชน์กับการทำงานร่วมกับแอพฯ สุขภาพ ในการประเมินว่าถ้าหากผู้ใช้ออกกำลังกายไปเท่านี้ ในสภาวะอากาศลักษณะนี้ จะได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร และยังมีประโยชน์เกี่ยวกับพวกแอพฯ นำทางตามพื้นที่ป่า, ภูเขา เป็นต้น

9. Temperature Sensor ทำหน้าที่ตรวจจับอุณหภูมิที่อยู่รอบตัว ทำให้ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลตรงนี้ไปประยุกต์ใช้ หรือวางแผนกับกิจกรรมต่างๆ ของตัวเองได้

10. Heartrate Sensor เป็นเซ็นเซอร์เดียวในปัจจุบันมีอยู่แค่สมาร์ทโฟนของ Samsung รุ่นท็อปเท่านั้น พบได้ในซีรีย์ S และ Note ซึ่งเราสามารถนำนิ้วมือไปแตะเพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อตรวจสอบสุขภาพและติดตามประวัติการนอนได้ โดยจะใช้ข้อมูลร่วมกับแอปฯ Samsung Health 

หมายเหตุ : ขอขอบคุณข้อมูลจาก developer.android.com

  • ด้านระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัว

ปัจจุบันการใช้งานสมาร์ทโฟนผู้ใช้เองมักใส่ข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นชื่อจริง, วันเดือนปีเกิด, ข้อมูลบัตรเครดิต, อีเมล์ ข้อมูลทั้งหมดนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรให้ผู้อื่นสามารถเข้าถึงได้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดระบบการยืนยันตัวตนขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่กำลังใช้งานอยู่คือเจ้าของ หรือก็พูดง่ายๆ ว่าระบบดังกล่าวคิดค้นขึ้นเพื่อป้องกันการสวมรอย อาทิ การยืนยันตัวเบื้องต้น ยืนยันตัวตนผ่านลักษณะเฉพาะ

การยืนยันตัวตนแบบเบสิค แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ .....

  1. ไม่มี : คือไม่มีการล็อคหน้าจอใดๆ เลย
  2. แบบปัด : ไม่มีการป้องกันใดๆ แต่สามารถเข้าใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
  3. แบบรูปแบบ : กำหนดรูปแบบที่ต้องการเพื่อใช้ในการล็อก
  4. แบบ PIN : กำหนดเลข 4 หลัก เพื่อเป็นรหัสสำหรับการล็อกดีไวซ์
  5. แบบรหัสผ่าน : กำหนดตัวเลขและตัวอักษร เพื่อเป็นรหัสผ่านสำหรับการล็อกดีไวซ์

สำหรับตอนนี้มีการยืนยันตัวตนด้วยการใช้อัตลักษณ์และข้อมูลทางกายภาพอยู่ 5 แบบได้แก่การยืนยันตัวตนด้วยคำสั่งเสียง, การสแกนลายนิ้วมือ, สแกนม่านตา, สแกนใบหน้า และสแกนรูหูโดยใช้หลักเสียงสะท้อน (เบื้องต้นได้เฉพาะอุปกรณ์หูฟังเท่านั้น) 

ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนต่างนำรูปแบบยืนยันตัวลักษณะสแกนใบหน้า ทว่าด้านความปลอดภัยยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามเพราะยังมีข้อกังวล เช่น ใบหน้าเหมือนกัน สภาพแสง เครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้การยืนยันตัวตนที่ง่ายและสะดวกดูเหมือนว่าจะเป็นลายนิ้วมือ 

  • ด้านกล้องดิจิตอล 

ความละเอียด : อย่างที่ทราบสมาร์ทโฟนทุกรุ่นจะต้องโฆษณาดีไวซ์ของตนเองว่ามีค่าความละเอียดเท่านั้นเท่านี้เช่น 12 ล้านพิกเซล หรือ 20.7 ล้านบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าถึงแม้มีความละเอียดสูงมากเพียงใด ก็ไม่ได้หมายความว่าภาพที่ได้นั้นจะสวยงดงามด้วยเหตุที่ว่าการจะถ่ายภาพใดภายหนึ่ง นอกจากองค์ประกอบภายนอก ภายในก็มีส่วนสำคัญ อาทิ ประเภทของเซ็นเซอร์, เลนส์, ซอฟต์แวร์, รูรับแสง เป็นต้น 

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า : ค่าความละเอียดสูงก็จริงอยู่ที่ทำให้ภาพถ่ายออกมาดี ท่วาก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ อย่างที่กล่าวข้างต้น มาประกอบกัน จนได้ภาพถ่ายออกมาเป็นขั้นตอนสุดท้าย แต่ก็อย่าลืมนะครับว่า เราอาจต้องทำใจไว้บ้าง เพราะถ้านำไปเปิดบนหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือหน้าจอทั่วไป ความสวยงามอาจไม่เหมือนกัน

OIS (ระบบป้องกันภาพสั่นไหว) : จะเห็นได้ว่าสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่เริ่มนำระบบดังกล่าวใช้งานกันมากขึ้น เดิมทีมี 2 แกนช่วยพยุงให้ภาพไม่สั่นไหว ในปัจจุบันหลายบริษัทเริ่มพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กลายเป็น 3 แกน 4 แกน 

ไฟแฟลช : หากย้อนกลับในอดีต เรียกได้ว่าไฟแฟลชเป็นฟีเจอร์ที่ต้องร้อง Wow เลยทีเดียว เพราะช่วยให้การถ่ายภาพมีความสว่างมากขึ้น เมื่อวันเวลาผ่านไปก็มีการพัฒนาตามไปด้วยซึ่งจะมีหนึ่งดวง สองดวง หรือสามดวง และแต่ละดวงก็จะทำหน้าที่ต่างกันไป เพื่อให้ภาพถ่ายที่ได้ใช้แฟลชถ่ายนั้นมีความสมดุลของแสง เป็นธรรมชาติมากที่สุด

รูรับแสง : เชื่อว่าหลายคนยังเกิดความสับสนเกี่ยวกับเรื่องรูรับแสงกันอยู่แน่ โดยรูรับแสงมีค่าหน่วยกำกับเรียกว่า “F” หรือที่เรียกกันว่า “ค่า F/Stop” ซึ่งเป็นตัวเลขกำกับแสดงขนาดของรูรับแสง อีกทั้งต้องจำเอาไว้ว่า " ค่าตัวเลขยิ่งน้อยรูรับแสงจะยิ่งกว้างหากค่าตัวเลขยิ่งมากรูรับแสงก็จะยิ่งแคบลง" ยกตัวอย่างสมาร์ทโฟนรุ่นหนึ่งที่มีค่า F/1.7 ก็จะถ่ายภาพได้ชัดสว่าง มากกว่าสมาร์ทโฟนที่มีค่า F/2.4 โดยจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อถ่ายในพื้นที่แสงน้อย 

นอกจากนี้รูรับแสงยังสามารถใช้ปรับขนาดระยะโฟกัสซึ่งเวลาที่รูรับแสงเปิดกว้าง โฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์จะแยกส่วนกัน ทำให้สิ่งที่อยู่ในระยะโฟร์กราวด์คมชัด และสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในระยะแบ็คกราวด์จะเบลอ แต่ในทางกลับกันเมื่อรูรับแสงแคบ สิ่งที่อยู่ในระยะโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์ก็จะอยู่ในช่วงโฟกัสทั้งหมด พื้นที่ที่อยู่ในโฟกัสนี้ เรียกว่า “ระยะชัดของภาพชัดตื้นและชัดลึก”

ความไวชัตเตอร์ หรือ Shutter Speed อีกปัจจัยหลักในการควบคุมปริมาณแสง และลักษณะของภาพถ่าย กล่าวคือเมื่อแสงเดินทางผ่านเลนส์เข้ามายังตัวกล้อง ตัวชัตเตอร์จะเป็นเหมือนประตูเปิด - ปิด เพื่อกั้นแสงที่จะเดินทางต่อไปยังเซ็นเซอร์รับภาพที่อยู่ด้านหลังชัตเตอร์ต่อไป โดยยิ่งเปิดปิดเร็วมาก แสงก็จะเข้าได้น้อย ทว่าถ้าเปิดปิดช้ามาก แสงก็จะเข้าได้มาก

ส่วนลักษณะของภาพโดยยิ่งเปิดปิดเร็วก็จะยิ่งหยุดการเคลื่อนไหวเอาไว้ได้นิ่งสนิทมากยิ่งขึ้น เสมือนการฟรีสสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็วให้หยุดนิ่ง ทว่าในทางกลับกัน ยิ่งเปิดปิดช้า ก็จะยิ่งทำให้เกิดลักษณะการเคลื่อนไหวของวัตถุในภาพมากยิ่งขึ้น แต่ข้อระวังคือไม่ควรใช้ในตอนกลางวันเพราะภาพถ่ายจะมีแสงจ้าไปเลย ดังนั้นจึงเหมาะถ่ายแค่ตอนกลางคืน และที่สำคัญภาพก็จะมีการเบลอเกิดขึ้นอาจต้องอาศัยขาตั้งเข้าช่วย จึงสรุปว่าเราต้องพิจารณาสิ่งที่กำลังถ่ายว่าควรเลือกความเร็วการเปิด/ปิดชัตเตอร์เร็วหรือช้า เพื่อให้ตรงวัตถุประสงค์ของภาพที่ต้องการจะถ่าย และสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของภาพได้ดีที่สุดนั่นเอง

โดยความเร็วชัตเตอร์จะมีหน่วยเป็นวินาที เช่น 1/15 คือ 1 ส่วน 15 วินาที หรือ 1/30 เท่ากับ 1 ส่วน 30 วินาที ยิ่งค่าตัวเลข "ส่วน" มากเท่าใด ความเร็วชัตเตอร์ก็จะมากขึ้นเท่านั้น

ความไวแสง หรือ ISO 

สำหรับ ISO ทำหน้าที่ควบคุมแสงที่มากระทบกับเซ็นเซอร์ภาพ โดยจะแบ่งออกเป็นการตั้งค่าแบบตํ่าและสูง ซึ่งจะมีวิธีการใช้งานที่แตกต่างกัน โดย....

ค่า ISO ที่สูงมักใช้ในการถ่ายภาพพื้นที่สภาวะแวดล้อมที่มีแสงน้อยเนื่องจากแสงสว่างน้อยจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งสัญญาณภายในตัวกล้องให้มีความไวแสงเพิ่มมากขึ้นเพราะถ้าหากเราไม่เลือกใช้ค่า ISO ที่สูงนั้นจะทำให้ภาพที่ได้เกิดอาการเบลอไม่ชัด หรือมืด เป็นต้น และหากปรับสูงเกินไปภาพที่ได้ก็จะมี Noise เกิดขึ้นมากตามไปด้วย ส่งผลให้ภาพแย่ลงไปโดยปริยาย
ส่วนค่า ISO ต่ำมักใช้ถ่ายในพื้นที่ที่มีแสงสว่างมาก เช่น ถ่ายภาพกลางแจ้ง หรือในพื้นที่ที่มีแสงเพียงพอ โดยภาพที่ได้จะมี Noise เกิดขึ้นเล็กน้อย หรือไม่มีเลย 

สุดท้ายจึงสรุปได้ว่าค่า ISO : ต้องปรับให้ให้มีความเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่จะถ่ายรูป แต่ถ้าจะปรับค่า ISO สูงๆ ก็ต้องมองหาสมาร์ทโฟนที่มีเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลด Noise ที่เกิดขึ้น

โดยทั้งสามข้างต้นรูรับแสง, ความไวชัตเตอร์ และความไวแสงเปรียบเหมือนเป็นลูกเล่นที่ช่วยให้ถ่ายภาพเป็นเรื่องสนุก และหลากหลายยิ่งขึ้น ส่งผลให้สามารถสื่อสารครุบทุกอารมณ์เหมือนประโยคที่ว่า "ภาพหนึ่งภาพสามารถสื่อสารแทนคำพูดได้หลายล้านคำ" แต่อย่าลืมทั้ง 3 ปัจจัยต้องมีการตั้งค่าให้มีความสัมพันธ์กันด้วย และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกเช่นกัน

ทั้งนี้การถ่ายภาพออกมาให้ดีเยี่ยมต้องอาศัยอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์, ปัจจัยแวดล้อม, ความพอดีของเหตุการณ์นั้นๆ ที่เราต้องการจะถ่าย และประสบการณ์ เพราะฉะนั้นจงเลิกเชื่อความเชื่อผิดๆ ว่าค่าความละเอียดกล้องสูงจะทำให้ภาพถ่ายออกมาดี โดยจริงอยู่มันก็แค่ส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ตัวอย่างภาพถ่ายจากรีวิวของ Siamphone.com 

เชื่อว่าหลายคนยังมีการนึกคิดว่าหากจะถ่ายภาพใดให้สวยงามจำเป็นต้องใช้สมาร์ทโฟนรุ่นท็อปเสมอ ซึ่งเป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้องซะทีเดียว แน่นอนว่าการจะได้ภาพที่ดีจะต้องมีอุปกรณ์ที่ดี ทว่าบางครั้งรุ่นธรรมดาทั่วไปก็ตอบโจทย์ได้ แค่เรารู้จักถ่ายให้เป็นและมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะภาพบางภาพเกิดจากช่วงเวลาบางครั้งเท่านั้นแบบที่ไม่สามารถกำหนดได้ หรือภาพบางส่วนก็อยู่ที่เราเป็นคนออกแบบ ดังนั้นหากแค่ลองถ่ายภาพบ่อยๆ กับสมาร์ทโฟนคู่ใจสักรุ่นหนึ่ง เชื่อว่าทุกคนก็กลายเป็นช่างภาพได้

  • การเคลื่อนไหวและท่าทาง (Gesture) 

ฟังก์ชั่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สมาร์ทโฟน โดยใช้ลักษณะเฉพาะในการตั้งค่า เช่น วาดตัว C บนหน้าจอเพื่อเรียกใช้งานการโทร, วาดตัว W เพื่อปลุกหน้าจอ หรือถ้ามีสายโทรเข้าก็ให้ควํ่าหน้าจอลงเพื่อตัดสายการสนทนานั้น เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีหลากหลายแบบไม่เพียงแต่ตัวอักษรเท่านั้น เช่น การบีบตัวเครื่อง การใช้เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ การใช้ข้อนิ้ว ซึ่งจุดประสงค์ก็คือช่วยอำนวยความสะดวกเหมือนกันและเป็นเหมือนการเพิ่มลูกเล่นเพื่อให้ดูแตกต่าง 

  • ด้านเครื่องหมายกำกับมาตรฐานของสมาร์ทโฟน 

เชื่อว่าหลายคนยังเกิดความสงสัยเกี่ยวกับเครื่องหมายต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนฝาหลังของสมาร์ทโฟนว่าคืออะไรมีความหมายอะไร และมีไว้ทำไม เพราะฉะนั้นเรามาหาคำตอบกันเลย...? 

สำหรับเครื่องหมายดังกล่าวหมายถึงเครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) กล่าวคือเป็นการแสดงมาตรฐานของผลิตภัณฑ์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือองค์กรที่กำกับดูแล นั้นจะเป็นผู้รับรอง ก็เพื่อระบุว่าอุปกรณ์ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยแล้ว ทั้งจะยังมักถูกใช้เพื่อแสดงว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถขายได้ในบางประเทศ หรือภูมิภาคเหล่านั้น และเครื่องหมายที่มักใช้แสดงอยู่บนสมาร์ทดีไวซ์ทั้งหลายมีดังต่อไปนี้ (อ้างอิงจากเว็บไซต์ cnet.com)

1. เครื่องหมาย CE หรือ Conformite European Mark : โดยเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าสินค้าอุตสาหกรรมที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรปทั้งสินค้านำเข้า รวมถึงสินค้าที่ผลิตใน EU มีการออกแบบและการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามระเบียบข้อบังคับที่ EU กำหนดไว้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคถึงความปลอดภัยในการใช้สินค้า และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างคุณภาพสินค้าอีกด้วย

2. 4-digit number : มักจะอยู่ถัดจากเครื่องหมาย CE โดยเป็นการระบุว่าอุปกรณ์นั้นๆ ได้ผ่านการทดสอบอย่างอิสระ และก็ถูกรับรองแล้วจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมทดสอบจากหลายประเทศ หรือที่เรียกกันว่า "Notified Body"

ตัวเลขทั้ง 4 ตัวเป็นตัวบ่งชี้ระดับของผลิตภัณฑ์ (Class) ยกตัวอย่างเช่น iPhone 6 ที่มีตัวเลขกำกับอยู่ด้านหลัง "0682" หมายความว่าได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามกฎหมายสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องและด้านการทดสอบมาตรฐาน เช่น ความปลอดภัยผู้บริโภค, การรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและอื่น ๆ)

3. เครื่องหมาย FCC หรือ Federal Communications Commission : โดยจะเป็นหน่วยงานที่วางระเบียบกฏเกณฑ์เกี่ยวกับวิทยุ, โทรทัศน์, สายเคเบิ้ล, ดาวเทียม ในประเทศสหรัฐอเมริกา และโคลัมเบีย ดังนั้นเพื่อที่จะวางจำหน่ายได้นั้น ก็จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ จากหน่วยงานดังกล่าวเสียก่อน

4. เครื่องหมาย UL หรือ Underwriters Laboratories : โดยเป็นองค์กรอิสระ ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทำหน้าที่รับรองความปลอดภัยของสินค้าในประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุก่อสร้าง มาตั้งแต่ ปีค.ศ. 1894 หรือ 122 ปีมาแล้ว ซึ่งวิธีประเมินของหน่วยงานดังกล่าวจะมีมาตรฐานไม่น้อยกว่า 1200 มาตรฐานสำหรับการทดสอบ

5. เครื่องหมายถูกที่วงกลมล้อมรอบ เรียกว่า Ctick : เป็นมาตรฐานของประเทศออสเตรเลียที่จะแสดงว่าอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นได้ผ่ายการทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility Standards) และสามารถวางจำหน่ายได้ในประเทศออสเตรเลีย

6. เครื่องหมายถังขยะที่มีรูปกากบาท : หมายถึง อย่าทิ้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้ลงถังขยะ และก็ต้องรีไซเคิลอย่างเหมาะสมด้วย โดยผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายคือ หน่วยงาน Waste Electrical และ  Electronic Equipment

7. NOM : เป็นเครื่องหมายแสดงถึงว่าอุปกรณ์นั้นๆ ได้รับการอนุมัติมาตรฐานจากหน่วยงาน Norma Oficial Mexicana ประเทศเม็กซิโก โดยเป็นหน่วยงานที่กำหนดหลักเกณฑ์ รายละเอียดคุณลักษณะแนวทางลักษณะ หรือความต้องการสำหรับผลิตภัณฑ์ เพื่อรับรองว่าสามารถใช้งานได้ในประเทศ

8. NYCE : โดยจะเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ควบคู่กับ NOM ซึ่งจะเป็นหน่วยงานของรัฐในประเทศเม็กซิโก ที่จะคอยกำกับดูแลความปลอดภัยของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โทรคมนาคม และไอที ซึ่งชื่อเต็มๆ ของหน่วยงานคือ Electronics Standardization and Certification

9. VCCI (Voluntary Control Council for Interference) : มาตรฐานแจ้งเตือนการรบกวนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโดยรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับผลิตภัณฑ์ IT ทั้งหลายเพื่อระบุถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์ว่าผ่านเกณฑ์เกี่ยวกับสัญญาณรบกวนหรือไม่

10. เครื่องหมายอัศเจรีย์ที่อยู่ในวงกลม หรือ Alert symbol : เนื่องจากว่าผู้ให้บริการก็จะมีคลื่นความถี่ครอบครองแตกต่างกันไปในประเทศต่างๆ ส่งผลให้อุปกรณ์ อาจมีการพยายามใช้คลื่นความถี่ที่ไม่ถูกกฏหมาย โดยเฉพาะในประเทศยุโรป

มาตรฐาน IP หรือเรามักคุ้นหูในชื่อเรียกว่ากันนํ้ากันฝุ่น คืออะไร แล้วทำไมต้องมีตัวเลขตามหลังด้วย คำตอบคือ...? 

เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ผู้ใช้งานหลายคนชื่นชอบเลยก็ว่าได้ เพราะในหนึ่งวันทุกคนต้องพบเจอกับนํ้าและขี้ฝุ่นกันตลอดเวลา ดังนั้นการมีจุดเด่นเช่นนี้ก็สามารถทำให้เราเบาใจได้ เนื่องจากอุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีระดับป้องกัน 100% แม้ว่าสมาร์ทโฟนรุ่นนั้นมาพพร้อมระดับการป้องกันระดับสูง

มาตรฐานตัวนี้ได้ถูกกำหนดขึ้นจากหน่วยงาน International Electrotechnical Commission (IEC). ภายใต้ข้อกำหนด "EN 60529" ซึ่งจะมีชื่อเรียกว่า International Protection Marking หรือที่รู้จักในชื่อ IP หมายความว่า การกำหนดความสามารถในการป้องกันตัวของอุปกรณ์จากสิ่งแวดล้อมภายนอก เพื่อป้องกันวงจรภายในจากของแข็งและของเหลว อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อบ่งบอกเพิ่มเติมเกี่ยวกับระดับคุณสมบัติการป้องกันด้วยเช่นกันกล่าวคือ จะมีตัวเลขสองตัว แล้วตัวเลขนี้คืออะไร มาหาคำตอบกันเลย....? 

มาตรฐานระดับการป้องกัน ของแข็ง ของเหลว
ระดับ 0 ไม่สามารถป้องกันอะไรด้เลย ไม่สามารถป้องกันของเหลวใดๆ ได้เลย
ระดับ 1 ป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 มม. ขึ้นไป เช่น หลังมือ แต่ไม่ป้องกันการยื่นชิ้นส่วนของร่างกายเข้าไปอย่างจงใจ ป้องกันหยดน้ำที่หยดลงมาในแนวดิ่ง
ระดับ 2 ป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 12 มม. ขึ้นไป เช่น นิ้วมือ หรืออะไรที่เล็กกว่า ป้องกันหยดน้ำที่หยดลงกระทบทำมุม 15 องศาจากแนวดิ่ง
ระดับ 3 ป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 2.5 มม. ขึ้นไป เช่น เครื่องมือ, สายไฟ เป็นต้น ป้องกันน้ำที่ตกกระทบทำมุม 60 องศาจากแนวดิ่ง
ระดับ 4 ป้องกันจากของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 มม. ป้องกันน้ำได้รอบทุกทิศทาง
ระดับ 5 ป้องกันฝุ่นละอองได้ แต่ไม่ครอบคลุมประเภทของฝุ่นทั้งหมด  ป้องกันสายน้ำ (jet water) รอบทุกทิศทาง
ระดับ 6 ป้องกันฝุ่นละอองได้ทั้งหมด ป้องกันน้ำ (jet water) ที่มีแรงดันคล้ายๆ กับน้ำทะเล
ระดับ 7 ---------- ป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการจุ่มลงในน้ำได้ แต่ความลึกต้องไม่เกิน 1 เมตร ระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที
ระดับ 8 ---------- ป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการจุ่มลงในน้ำภายใต้แรงกดดันได้ ลึกกว่า 1.5 เมตร ระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที

ยกตัวอย่างมาตรฐาน IP68 หมายความว่าอย่างไร...? 

ถ้าสมาร์ทโฟนรุ่นใดมีมาตรฐานนี้กำกับไว้อยู่ หมายความว่า ดีไวซ์นั้นจะสามารถกันฝุ่นได้ และกันนํ้าที่ความลึกไม่เกิน 1 เมตรครึ่ง ระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที แต่ต้องเป็นนํ้าสะอาดเท่านั้นและไม่มีแรงดันสูง โดยผู้ใช้ทุกคนต้องพึ่งทราบแต่ละแบรนด์จะมีวิธีสามารถตรวจสอบได้ หากใช้งานไม่ตรงเงื่อนไขเข้าข่ายไม่รับประกันได้เลย

  • ด้านแบตเตอรี่ 

แม้ว่าจะมีเหล่านักวิจัยได้ทำการทดลองพัฒนาเซลล์แบตเตอรี่อยู่เสมอ แต่ด้วยข้อจำกัดนานาชนิดจึงส่งผลให้ไม่สามารถนำมาใช้งานจริงได้ดังนั้นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนถึงได้เน้นเพิ่มความจุแบตเตอรี่เพื่อใช้งานนานต่อเนื่องไม่ต้องชาร์จบ่อยๆ และส่วนใหญ่ในรุ่นกลางกลายเป็นมาตรฐานไปแล้วก็ต้องมีแบตฯ ความจุ 3000mAh หรือมากกว่า

เกร็ดข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับแบตเตอรี่

แบตเตอรี่ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้ ผู้ใช้งานควรตระหนักว่าไม่ควรที่จะชาร์จและใช้งานไปพร้อมกัน เพราะจะส่งผลให้แบตเตอรี่นั้นเสื่อมไวเก็บประจุไฟไม่อยู่ ทั้งยังทำให้เครื่องร้อนโดยใช่เหตุ และเสื่อมไว ซึ่งต้องบอกว่าถ้ารุ่นตลาดหน่อยก็จะมีอะไหล่เยอะทำให้ไม่ต้องใช้เวลานานในการซ่อมแซ่ม แต่หากไม่ใช่รุ่นตลาดก็ต้องทำใจไว้หน่อยครับว่าอาจไม่มีเลยหรือใช้เวลานานเพราะต้องสั่งของเข้ามา ข้อสำคัญการเปลี่ยนยุ่งยากเพราะต้องแงะสมาร์ทโฟนของเรา ดังนั้นหากทำร้านที่ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้ดูไม่จืดเลยก็เป็นได้ครับ ทว่าอย่าลืมนะครับว่าไม่ว่าทางไหนก็เสียเงินอยู่ดี แต่จะเร็วจะช้าขึ้นอยู่กับวิธีการใช้งานของเรา 

แบตเตอรี่ถอดเปลี่ยนได้ แม้ว่าถอดเปลี่ยนได้ แต่ทางที่ดีก็ไม่ควรเล่นไปชาร์จไป อีกทั้งผู้ใช้ต้องอย่าลืมเลือกซื้อแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐานการรองรับ รวมถึงการซื้อกับร้านที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ และยี่ห้อที่รู็จักกันอย่างกว้างขวาง 

สุดท้ายขอฝากไว้ว่า : ไม่ควรปล่อยให้แบตเตอรี่หมด โดยก็ควรที่จะชาร์จไว้หากเหลือประมาณ 30-40% และถ้าหากซื้อมาครั้งแรกไม่จำเป็นต้องชาร์จทิ้งไว้ 8 ชั่วโมง เพียงแต่ชาร์จให้เต็มแล้วปล่อยไว้สักชั่วโมงหรือสองชั่วโมง อีกทั้งไม่ควรปล่อยชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืน และที่สำคัญการปล่อยไว้จนหมด 0% บ่อยๆ อาจต้องเสียเงินในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ก่อนเวลาอันควร 

ขั้นตอนการชาร์จแบตฯ ที่ถูกวิธีคือ....?

  1. เสียบอะแดปเตอร์เข้ากับปลั๊กไฟ
  2. เสียบหัวชาร์จเข้ากับสมาร์ทโฟน

ส่วนวิธีการถอดอะแดปเตอร์ชาร์จแบตเตอรี่ที่ถูกวิธีคือ....?

  1. ถอดหัวชาร์จที่กำลังชาร์จสมาร์ทโฟนก่อน
  2. ถอดอะแดปเตอร์จากปลั๊กไฟ

วิธีประหยัดแบตเตอรี่เบื้องต้นสามารถทำได้อย่างไรบ้าง....? 

  1. ปรับความสว่างหน้าจอแต่พอดี ไม่สว่างมากจนเกินไป
  2. ปิดระบบเชื่อมต่อเมื่อไม่ได้ใช้งาน อาทิ 3G, 4G, Wi-Fi, NFC, Wi-Fi Hotspot, GPS
  3. ใช้ธีมสีดำ งดการใช้ภาพเคลื่อนไหวบนหน้าจอหลักตลอดเวลา
  4. งดการใช้สมาร์ทโฟนขณะเครื่องร้อนจนผิดสังเกต

วิธีถนอมแบตเตอรี่ไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว

  1. ชาร์จบ่อยๆ ดีกว่าปล่อยให้เหลือน้อย 
  2. หลีกเลี่ยงการใช้แบตฯ จนหมด
  3. ถ้าเครื่องร้อนควรพักการใช้งาน
  4. เลือกอะแดปเตอร์และสายชาร์จที่มีคุณภาพ
  5. ไม่ควรใช้งานขณะชาร์จ

หลังจากทราบความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแบตเตอรี่กันไปแล้วเราลองมาดูกันหน่อยว่าในปัจจุบันมีวิธีการชาร์จแบตเตอรี่ทั้งหมดแล้วกี่วิธี....?

  1. ชาร์จกับปลั๊กไฟ
  2. ชาร์จไร้สายผ่านอุปกรณ์ Wireless Charger (ไม่ค่อยแนะนำ)
  3. ชาร์จผ่านแบตเตอรี่สำรอง
  4. ชาร์จผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ (ไม่แนะนำ)
  5. ชาร์จผ่าน Car Charger บนรถยนต์ (ไม่แนะนำ)

หมายเหตุ : ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ batteryuniversity.com

นอกจากระบบการชาร์จทั่วไปแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ผู้ผลิตนิยมนำมาเป็นจุดขายให้กับสมาร์ทโฟนของตนเอง คือ การชาร์จเร็ว หรือ Fast Charging แล้วคืออะไรมาทำความรู้จักกันหน่อย...?

สำหรับฟีเจอร์ดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่มีความจำเป็นต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับสมาร์ทโฟนอยู่เสมอมีความสะดวกขึ้น เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งใช้เครื่องมากเท่าไร แบตเตอรี่ก็หมดลงไวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะรุ่นท็อปที่อัดแน่นไปด้วยคุณสมบัติต่างๆ มากมาย ถ้าบริหารจัดการไม่ดีแบตเตอรี่ก็หายไวไปในพริบตา นี่ขนาดยังไม่นับเรื่องการใช้งาน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่วันหนึ่งวันจะไม่พกแบตฯ สำรอง

เพราะฉะนั้นด้วยจุดปัญหาดังกล่าว จึงคิดพัฒนาขึ้นซึ่งหลายคนอาจคุ้นเคยกันมาบ้างแล้ว กับประโยคที่ว่า ชาร์จเท่านี้นาที แต่สามารถใช้งานได้เท่านั้นนาที ต้องบอกว่าสามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

แต่ข้อเสียคือ : 1. แบตเตอรี่จะเสื่อมไว มีอายุการใช้งานที่สั้นลง 2. ถ้าแบตเตอรี่เสื่อมและถอดออกไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันก็ส่วนใหญ่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสมาร์ทโฟนต้องโดนงัดเพื่อเปลี่ยนแบตฯ และหากทำโดยช่างที่ไม่ชำนาญการซ่อมอาจมีปัญหาตามมาภายหลัง 3. ต้องใช้อะแดปเตอร์ที่รองรับการชาร์จเร็ว

หลังจากทำความรู้จักสมาร์ทโฟน หลายคนยังเกิดข้อสงสัยวิธีเลือกซื้อสมาร์ทโฟนต้องดูยังไง หรือมีตัวเลือกในใจแต่ไม่กล้าฟันธงซื้อ เรามาดูเคล็ดลับกันเลย!! 

เริ่มกันที่ทางเลือกในการซื้อสมาร์ทโฟนก่อน โดยแบ่งได้เป็น มือหนึ่งคือยังไม่แกะกล่องใดๆ กับมือสองสามารถหาซื้อได้ตามร้านตู้ และสินค้ารีเฟอร์บิช แล้วเราจะซื้อแบบไหนดี ข้อดีข้อเสียคืออะไร มาทำความเข้าใจกันเลย

สินค้ามือหนึ่ง : หากใครมีงบประมาณอยู่แล้วแนะนำว่าให้ซื้อสมาร์ทโฟนมือหนึ่งไปเลยแม้ว่ามีราคาสูง แต่ในปัจจุบันทางเลือกในการซื้อไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่หน้าร้านเท่านั้น แต่ยังมีช่องทางออนไลน์ที่เราสามารถใช้ส่วนลดหรือติดตามโปรโมชั่นพิเศษจากช่องทางนั้นๆ ได้ แน่นอนว่าเราจะได้ราคาถูกมีของแถมรวมถึงประกันไม่แตกต่างจากการซื้อหน้าร้านเลย เพียงแต่ว่าเราอาจต้องมองหาผู้ขายที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐาน และมี Feddback จากลูกค้ารายอื่นให้ติดตาม เพื่อตรวจเช็คว่าซื้อสินค้าจากผู้ขายนี้แล้วเป็นเช่นใด 

สินค้ามือสอง : หากใครไม่อยากจ่ายราคาเต็มการซื้อมือสองก็สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ แต่เราเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงสูง เพราะไม่รู้เลยว่ารุ่นที่ซื้อมานั้นเคยมีปัญหาใดมาก่อนหรือไม่ ระยะเวลาประกันและเงื่อนไขการรับประกันก็ไม่เหมือนมือหนึ่งด้วย ดังนั้นหากเราซื้อมาแต่แบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม การซื้อสมาร์ทโฟนลักษณะดังกล่าวอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี หรือถ้าผู้ขายมีเงื่อนไขประกันที่ดูแลหลังการขายก็เป็นทางเลือกที่ดี ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าหากไม่มีการรับประกันใดๆ จากผู้ขายเราไม่ควรซื้อเด็ดขาดเพราะอาจเสียเงินซํ้าซ้อนกับปัญหาที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ในทางกลับกันหากมีข้อเสนอ อย่างจริงใจการซื้อสมาร์ทโฟนมือสองจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะเพราะใช่ว่าทุกรุ่นจะมีปัญหาเสมอไปดังนั้นเราอาจต้องเลือกซื้อให้ดี

สินค้ารีเฟอร์บิช (REFURBISHED) : เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเลือกซื้อ เพราะอย่างน้อยก็ผ่านการตรวจสอบจากโรงงานก่อนนำมาวางจำหน่ายอีกครั้ง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม..Siamphone.com

 

หลังจากรู้จักรูปแบบการซื้อสมาร์ทโฟนแล้ว ลองมาดูวิธีการเลือกซื้อกันบ้าง เพราะยังคงเป็นคำถามโลกแตกว่าซื้ออะไรดี ?

1. หน้าจอ : ปัจจุบันมีหลายขนาดตั้งแต่ตํ่ากว่า 5 นิ้ว จนถึง 12 นิ้ว บางแบรนด์จะมีเทคโนโลยีหน้าจอที่เพิ่มคุณสมบัติของการแสดงผลด้วย แน่นอนว่าจะทำให้ภาพสวยกว่าเดิม โดยในปัจจุบันจะเป็นเทรนด์หน้าจออัตราส่วน 18:9 แนะนำว่าให้มองหาสมาร์ทโฟนลักษณะเช่นนี้เพราะจะทำให้เรารับชมคอนเทนต์ได้เพลิดเพลินไม่ว่าจะเป็นเกมหรือวิดีโอแม้แต้ท่องเว็บไซต์ก็สบายสายตามากขึ้นสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม Siamphone.com

2. ความละเอียดหน้าจอ : ถามว่ายิ่งความละเอียดมากภาพจะสวยขึ้นไหม คำตอบคือก็ใช่ เพียงแต่ดวงตาเรามิอาจแยกแยะเฉดสีได้ครบถ้วนมากกว่าระดับ FullHD อีกทั้งถ้ายิ่งมีความละเอียดสูงก็จะส่งผลต่อการสิ้นเปลืองแบตเตอรี่ด้วย ข้อแตกต่างสำคัญนอกเหนือจากความละเอียดคือคอนเทนต์ HDR ที่จะทำให้การชมคอนเทนต์ของเราเปลี่ยนไปจากเดิม อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม Siamphone.com

3. หน่วยประมวลผล (CPU) / กราฟฟิก (GPU) : มีผลอย่างมากหากเป็นผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกม และการเล่นคอนเทนต์ VR ซึ่งหากเจาะจงอาจต้องแบ่งชิปเซ็ตหลายระดับ ถ้าเป็น Snapdragon ต้องเลือกรุ่น 425 / 435 / 630 / 660 / 835 ส่วน Mediatek ต้องเน้นชิปเซ็ตระดับกลางขึ้นไป อาทิ P23 P25 หรือ P30 ถ้าเป็นของ Kirin จาก Huawei ต้อง 960 และ Exynos 7880 ของ Samsung

4. Ram : มีผลหรือไม่มีผล คำตอบคือมีการใช้งานจะไหลลื่นต้องพึ่งปัจจัยนี้โดยเฉพาะระบบแอนดรอยด์อย่างน้อยต้องซื้อ 3GB หากมีงบประมาณเพียงพอ แต่ถ้าไม่ห้ามซื้อรุ่นที่มี RAM 1GB เด็ดขาดเพราะจะทำให้รับประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดีเช่น ความเสถียร ความรวดเร็ว เป็นต้น ส่วนระบบ iOS สบายใจได้เพราะแอปเปิ้ลได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ของพวกเขาได้ตรงต่อลักษณะการใช้งานในปัจจุบัน

5. พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน (Rom) : ควรเลือกซื้อรุ่น 32GB หรือขึ้นไป และมองหารุ่นที่รองรับการ์ดหน่วยความจำภายนอกเพื่อการใช้งานระยะยาว ไม่ต้องมานั่งเคลียข้อมูลบ่อยๆ

6. ระบบเชื่อมต่อ : แนะนำว่าให้ซื้อที่มีฟังก์ชั่น NFC เพื่อเพิ่มความสนุกด้านความบันเทิง ส่วนระบบ Bluetooth ก็ควรเป็นเวอร์ชั่น 4.2 หรือขึ้นไป โดยในปัจจุบันก็เดินทางมาถึงเวอร์ชั่น 5.0 แล้ว

7. รองรับ 4G : เพื่อประสบการณ์การใช้งานที่ดี แต่ข้อสำคัญต้องตรวจสอบว่าพื้นที่ที่ใช้งานของเรา ประสิทธิภาพของเครือข่าย 4G ดีมากน้อยแค่ไหนและของโอเปอเรเตอร์ใดบ้าง เพราะว่าบางพื้นที่นั้นรองรับแค่บางเจ้าเท่านั้น 

คำตอบสุดท้ายสำหรับวิธีการเลือกซื้อสมาร์ทโฟน : ต้องถามตัวเองว่าจุดประสงค์การใช้งานเป็นอย่างไร แต่ละวันใช้อะไรบ้าง และที่สำคัญคือต้องไปลองเล่น ลองจับ ลองทดสอบด้วยตัวเอง และก็ลองหาข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน เช่นรีวิว ตัวอย่างภาพถ่าย เพื่อจะได้รู้ข้อดีข้อเสีย และค้นหาคำตอบได้ดียิ่งขึ้น ว่าสุดท้ายแล้วที่เราวางกรอบราคาและตัวเลือกไว้ทั้งหมด เมื่อประเมินแล้วควรจะซื้อรุ่นใดดี

เมื่อซื้อสมาร์ทโฟนแน่นอนว่าจะมีทั้งประกันร้านและประกันจากแบรนด์ของรุ่นนั้นๆ แต่ว่าถ้าอยากได้ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นผู้ใช้งานอย่างเราก็สามารถทำประกันให้สมาร์ทโฟนเพิ่มเติม โดยจะเหมือนกับประกันชีวิตลักษณะอื่นเลย ประโยชน์ที่ผู้ใช้จะได้รับคือ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย มีเครื่องสำรองไว้ใช้งานหากกำลังซ่อมแซมอยู่ สิทธิพิเศษ เป็นต้น 

แม้ว่าจะมีประกัน แต่บางครั้งประกันก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเราได้ หากเราใช้สมาร์ทโฟนอย่างไม่ถูกวิธีและเหมาะสม โดยเราควรคำนึงไว้ว่าต้องไม่รบกวนผู้อื่นและทำลายผู้อื่นทั้งทรัพย์สินและชีวิตรวมถึงตัวเราเองอย่างที่ทุกคนทราบสมาร์ทโฟนสามารถถ่ายวิดีโอ ถ่ายภาพ บันทึกข้อมูลใดๆ ได้ และพร้อมแชร์ไปยังช่องทางอื่นได้เสมอดังนั้นจงอย่ามั่นใจว่าข้อมูลของคุณจะไม่ถูกขโมยเพราะในปัจจุบันวิธีมีอยู่มากมายที่จะล้วงความลับ 

และถ้าใครไม่อยากเจอข้อความรบกวนใดๆ หรือคิดเงินเราโดยไร้สาเหตุ สามารถกดเบอร์ด่วน *137 เพื่อจัดการปัญหาให้หมดไป 

นอกจากนี้ยังมีเบอร์โทรติดต่อที่ควรรู้ไว้ด้วย เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินใดๆ เราอาจสบายใจลดความวิตกกังวลได้ อย่าลืมเมมเก็บไว้ในสมาร์ทโฟนนะครับ 

เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลที่เราทีมงาน Siamphone.com ได้ตั้งใจรวบรวมเอาไว้ให้ ซึ่งเราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานทุกคนเข้าใจสมาร์ทโฟนมากขึ้นและสามารถเลือกซื้อได้อย่างถูกวิธีและเหมาะสมต่อไลฟ์สไตล์ของตนเอง อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามคือการใส่เคสกับเพิ่มทางเลือกในการป้องกันมากขึ้นด้วยการติดฟิล์มกันรอยหรือกระจกนิรภัยเราจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด เพราะก็ช่วยเซฟได้ทางหนึ่ง

และถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ลองมองหาจากสโตร์ของเราได้เลย โดยเราได้รวบรวมร้านค้าชั้นนำไว้ให้พร้อมเปรียบเทียบราคาและมีอุปกรณ์เสริมให้ซื้อด้วย

ติดตามข่าวสารมือถือได้ที่
www.facebook.com/siamphonedotcom

ทำนายเบอร์มือถือ เบอร์สวย เบอร์มงคล
รับซื้อมือถือ รับเครื่องถึงบ้าน
บูลอาเมอร์ ฟิล์มกระจกกันรอยมือถือ

มือถือออกใหม่